นพ.จุมภฎ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กินระยะเวลายาวนานในขณะนี้ ประชาชนทุกคนกำลังเผชิญปัญหาเพื่อก้าวผ่านภาวะวิกฤติที่หนักหน่วง เพราะสัญญาณของการเข้าสู่คลื่นลูกที่ 4 (Combat 4th Wave of COVID-19 : C4) ของการระบาดนั้น ส่งผลให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจยังเป็นลูกโซ่ ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คนมีความเครียด ซึมเศร้า หรือแม้กระทั่งการนำไปสู่สาเหตุของการฆ่าตัวตาย ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ให้มีภาวะเหนื่อยล้า หมดไฟ
ทั้งนี้สาเหตุประการหนึ่งมาจากการผ่อนปรนมาตรการบางส่วน เป็นเหตุทำให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการระบาดซ้ำ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงทำให้เกิดความท้อแท้และสร้างความเครียดวิตกกังวล จากผลการสำรวจการรับรู้และภาวะสุขภาพจิตบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนไทยจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
โดยกรมสุขภาพจิต พบว่าระดับความเครียดเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน โดยบุคลากรทางการแพทย์สูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 4.8 เป็น 7.9 ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสูงขึ้นจากเดิมร้อยละ 2.7 เป็น 4.2 ภาวะหมดไฟมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ สูงขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็น 6.5 ในขณะที่ประชาชนทั่วไปสูงขึ้นจากร้อยละ 3.3 เป็น 3.6 และจากอาการซึมเศร้าในบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.4 เป็น 3.0 โดยขณะที่ประชาชนทั่วไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 เป็น 1.6 และมีความคิดอยากทำร้ายตนเองในบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 เป็น 1.3 โดยขณะที่ประชาชนทั่วไป เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 เป็น 0.9
โดยปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความเครียดมาจากสถานการณ์การระบาดของทั่วโลกยังไม่ดีขึ้น การผ่อนปรนมาตรการดูแลตนเองบางส่วนอาจสร้างความวิตกกังวลว่าจะเกิดการระบาดซ้ำ อีกทั้งยังมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องของรูปแบบวิถีชีวิตและเศรษฐสถานะที่ยังคงอยู่ ซึ่งการลดลงของความเครียดโดยรวมในการสำรวจครั้งก่อนหน้านี้อาจเกิดจากการคลายกังวลชั่วคราวจากการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในช่วงแรก
โดย นพ.จุมภฎ กล่าวต่อไปว่า ในสถานการณ์คลื่นลูกที่ 4 บุคลากรและประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวด้วยพลังใจที่ยืดหยุ่น เพราะถึงแม้จะมีความวิตกกังวล แต่ก็เป็นการกังวลที่เตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้าด้วยการ "อึดฮึดสู้"
ซึ่งการเริ่มต้นสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยมองด้านบวกที่สร้างสรรค์ มองเห็นทรัพยากรและสัมพันธภาพดีงามรอบๆ ตัว ที่จะสร้างโอกาส และทำให้โอกาสในชีวิตปรากฏขึ้น ซึ่ง อึด คือ สภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง สงบ มั่นคง ทนต่อแรงกดดัน ควบคุมตัวเองได้ และมั่นใจว่า ตนเองต้องเอาชนะปัญหา อุปสรรคและผ่านพ้นวิกฤตได้ และ ฮึด คือ การมีกำลังใจ หรือมีแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน
และกำลังใจนี้มีที่มาสำคัญ คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง และท้ายที่สุด สู้ ซึ่งหมายถึง ต่อสู้เอาชนะอุปสรรค ปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤต โดยเฉพาะความสามารถในการแก้ไขปัญหา และมีทักษะในการจัดการกับอารมณ์และความเครียด