นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า งานวิจัยของ 'สำนักวิจัยแมคคินซีย์ โกลเบิล' ระบุ จะมีคนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ต้องสูญเสียตำแหน่งงานให้กับหุ่นยนต์อัตโนมัติ ระหว่างปี ค.ศ. 2016 - 2030 หรือคิดเป็นผลกระทบต่อคน 1 ใน 5 ของตลาดแรงงาน เพราะหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่ แรงงานจำเป็นต้องฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติ หรืองานที่เกี่ยวพันกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
โดยตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันจะได้ผลกระทบน้อยกว่า ขณะที่งานบางประเภทที่ต้องใช้ทักษะทางอารมณ์ ทักษะทางสังคมและความคิดสร้างสรรค์ ยังไม่อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ แต่การนำหุ่นยนต์มาใช้ในระบบเศรษฐกิจ อาจกดดันให้ค่าแรงลดลงโดยเฉลี่ย อย่างน้อยร้อยละ 0.5
ขณะที่ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ยังประเมินว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อตำแหน่งงาน การจ้างงานและกิจการต่างๆในประเทศไทย โดย ILO ประเมินว่าร้อยละ 44 ของการจ้างงาน (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) ในไทย เผชิญความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พนักงานเคาเตอร์และพนักงานตามเครือข่ายสาขาต่างๆ ซึ่งเครือข่ายสาขา อาจปิดตัวลงจากการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้น
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ คาดว่า มีหลายอาชีพที่จะถูกแทนที่โดยการทำงานของ AI มากขึ้น ได้แก่ ผู้ดูแลออฟฟิศ นักบัญชี นักกฎหมาย นักพัฒนาเว็บไซต์ นักการตลาดออนไลน์ นักข่าวและบรรณาธิการ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ สายการผลิตในโรงงาน เป็นต้น หากประเมินในกรณีของไทย อาจกระทบต่อตลาดแรงงาน ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 30-40 ใน 10-20 ปีข้างหน้า
ดังนั้น แรงงานทั่วโลก รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งวางยุทธศาสตร์ เพื่อวางแผนรับมือกับภาวะนี้ ต้องออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างระบบและตลาดแรงงานที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของนวัตกรรม ขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพ ที่เป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ ทำงานกับระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ยังไม่ต้องวิตกผลกระทบของเทคโนโลยีต่อตลาดแรงงานมากเกินไป หากเตรียมตัวรับมือให้ดี จะเป็น “โอกาส” มากกว่า “ความเสี่ยง” นอกจากนี้ ระบบการผลิตอัตโนมัติกำลังจะก่อให้เกิดภาวะว่างงาน “ถาวร” ขึ้นในบางตำแหน่งงาน อย่างไรก็ตาม หากระบบการผลิตโดยหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติ สามารถสร้างความมั่งคั่งและทำให้ผลกำไร รายได้เพิ่มขึ้น มีการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ตำแหน่งงานใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นจากการการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth)