ผู้คนจากแดนอาทิตย์อุทัยมีอัตราการบริโภคชีสสูงถึง 279,000 ตัน ในปี 2007 และเพิ่มสูงขึ้นมาเป็น 338,000 ตัน ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นมูลค่ามากถึง 402,000 ล้านเยน แม้จะฟังดูสูง แต่หากมองภาพรวมแล้ว อัตราเฉลี่ยการบริโภคชีสต่อปีของประชากรญี่ปุ่น 1 คน มีเพียง 2.66 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับประเทศแถบตะวันตกอย่าง ฝรั่งเศสที่สูงถึง 27.2 กิโลกรัม หรือเดนมาร์กที่ 28.1 กิโลกรัม
ส่วนหนึ่งเป็นมาจากชีสในญี่ปุ่น ที่ดูเผินๆ อาจไม่ใช่อาหารราคาแพง แต่มันก็ไม่ได้ถูกมากนัก และไม่ใช่สิ่งที่กินสบายๆ ได้ทุกวัน คนญี่ปุ่นไม่ได้กินชีสร่วมกับทุกมื้ออาหาร หรือแกล้มไปกับแอลกอฮอล์ เฉกเช่นชาวตะวันตก
อีกทั้งชีสส่วนหนึ่งเป็นสินค้านำเข้าจากยุโรป ซึ่งแต่เดิมมีอัตราภาษีสูงถึง 29.8 เปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปลงนามข้อตกลงการค้าเสรี ทำให้อัตราภาษีดังกล่าวถูกลดลงมาเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลให้ปริมาณการนำเข้าชีสของประเทศญี่ปุ่นนับถึงแค่เดือนกันยายนในปีนี้ พุ่งสูงถึง 166,988 ตัน มากกว่าปีที่แล้วทั้งปีร่วม 10,000 ตันเลยทีเดียว
สิ่งนี้เองทำให้ผู้ผลิตชีสชาวญี่ปุ่นกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต โดยเฉพาะผู้ผลิตจากฮอกไกโด ซึ่งเป็นจังหวัดต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์นมแทบจะทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น
คาซูฮิโกะ โอชิไอ (Kazuhiko Ochiai) คือเจ้าของฟาร์มผู้คร่ำหวอดในวงการชีสของญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี นับจากที่ได้ลิ้มรสอาหารชนิดนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศส และชื่นชอบจนเป็นแรงบันดาลใจให้กลับมาผลิตชีสที่บ้านเกิดของตัวเอง เมื่อกระแสความนิยมของชีสพุ่งขึ้นสูงกว่าปกติในปี 2017 เขาสามารถทำรายได้มากถึง 20 ล้านเยน เทียบกับในปีแรกที่เริ่มทำธุรกิจเมื่อทศวรรษที่แล้ว กำไรจากผลประกอบการของคาซูฮิโกะมีเพียง 2 ล้านเยนเท่านั้น
ผู้ประกอบการรายนี้กำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมอาชีพ พวกเขาคิดว่าการแข่งขันในตลาดกำลังโหดร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ผลิตรายเล็กที่จำเป็นต้องใช้เวลา และความพยามยามอย่างสูงกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาตามที่ต้องการ แถมประเทศแถบยุโรปยังได้เปรียบเรื่องราคานมวัวที่ถูกกว่าญี่ปุ่นอีกต่างหาก
ปัญหาดังกล่าวอาจจะไม่ตรงกับความคิดของนายกรัฐมนตรีอย่าง ชินโซ อาเบะ มากนัก เมื่อเขาให้ความเห็นว่า ข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีจะทำให้ชาวญี่ปุ่นเพลิดเพลินไปกับชีส และไวน์จากยุโรป ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลิตภัณฑ์นมของจังหวัดฮอกไกโด อย่างสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศที่รับผิดชอบจังหวัดดังกล่าวบอกว่า พวกเขากังวลเกี่ยวกับความต้องการของชีสที่ผลิตในประเทศจะหายไป จากการลุกร้ำของชีสจากยุโรปในตลาด
อย่างไรก็ตาม เพื่อต่อสู้กับปัญหา ทาคาโมริ โยชิคาวะ (Takamori Yoshikawa) รัฐมนตรีจากกระทรวงการเกษตร ป่าไม้ และประมง บอกว่า รัฐบาลจะอุดหนุนเงินเข้าไปในระบบจำนวน 15,000 ล้านเยน เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นให้สามารถต่อสู้กับชีสจากยุโรปได้ในตอนเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง
แม้รัฐบาลจะเดินหน้าเข้ามาช่วยเหลือ แต่คาซูฮิโกะมองว่า ทางออกของปัญหาต้องแก้ไขที่ตัวผู้ผลิตที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมของผู้บริโภค โดยเขามองว่าชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่โปรดปรานชีสที่มีรสจัดเกินไป ทางออกของพวกเขาคือ ผลิตชีสที่มีรสอ่อนลงมาจากชีสของยุโรป ซึ่งน่าจะถูกใจชาวแดนอาทิตย์อุทัยมากกว่า นอกเหนือจากนั้น การพัฒนาคุณภาพ และสร้างชีสที่อร่อยมากขึ้น คือทางอยู่รอดของพวกเขา
อ้างอิง: