กำหนดวันเลือกตั้งปี 2562 ตามถ้อยแถลงของ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไล่ไทม์ไลน์ตั้งแต่เร็วที่สุด เดือน ก.พ. ระยะปานกลางคือ มี.ค. – เม.ย.
ช้าที่สุดคือ พ.ค. แต่จะต้องหลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
เส้นตายการเลือกตั้งถูกนับถอยหลังอย่างช้าๆ
สวนทางกับจังหวะก้าวทางการเมืองของ 'กลุ่มสามมิตร' ซึ่งปรากฏชื่อของคนการเมืองระดับบิ๊กเนม อยู่เบื้องหลัง
ทั้ง สมศักดิ์ เทพสุทิน - สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประสานกับ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล ทำหน้าที่เป็น 'บันไดการเมือง' ให้ คสช. อยู่ในอำนาจต่อไปหลังเลือกตั้ง
‘สามมิตร’ เปิดตัวอย่างคึกโครมด้วยปฏิบัติการดูดอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พุ่งเป้าไปที่ภาคอีสาน
ดูดทั้งนักการเมืองแถวหน้าระดับอดีตรัฐมนตรี
ดูดแถวสองระดับ ส.ส. แถวสามระดับผู้สมัครสอบตก - นักการเมืองท้องถิ่น ว่ากันว่าจะไปรวมกลุ่มอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
แม้กลไกพรรคทหารใหม่ ที่อาศัยขาการเมือง ‘กลุ่มสามมิตร’ เดินหน้าเต็มสูบ - ดูดเต็มกำลัง
แต่ขาอีกข้างที่จะต้องล้อไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกกลับสะดุด ‘กับดัก’ ที่องคาพยพของ คสช.สร้างขึ้น
โดยเฉพาะปมการทำ ‘ไพรมารีโหวต’ ที่งอกขึ้นมาใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเจ้าของความคิด
กฎไพรมารีโหวต ที่ต้องให้สมาชิกพรรคต้องทำการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในระดับเขตทุกเขตเพื่อคัดเลือกผู้สมัคร ถูกแก้ไขแล้ว 1 ครั้ง ผ่านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ซึ่งกำหนดให้การทำไพรมารีโหวตเฉพาะจังหวัดแล้วส่ง ส.ส.ได้ทุกเขต ภายใต้เงื่อนไขว่า จะต้องมีสมาชิกทำไพรมารีโหวตจังหวัดละ 100 คน ขึ้นไป
ขณะเดียวกันก็ ‘เซ็ตซีโร่’ สมาชิกพรรคการเมืองเก่าจนแทบไม่เหลือเพียงพอให้ทำไพรมารีโหวต
หากจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ครบทุกเขตเลือกตั้ง 350 เขต
มีเพียง ‘เพื่อไทย – ประชาธิปัตย์’ เท่านั้นที่พร้อมส่ง โดยจะต้องมีสมาชิกพรรคไม่ต่ำกว่า 7,700 คน
ขณะที่พรรคการเมืองขนาดกลาง ตอนนี้ยังมีสมาชิกไม่พอที่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทุกเขต
นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมไปอีกว่า พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครได้ จะต้องมีการตั้งสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาค โดยจะต้องมีสมาชิกพรรคภาคละ 500 คนขึ้นไป
หมายความว่า ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ถ้าพรรคการเมืองต้องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง จะต้องมีสมาชิกเบื้องต้น 2,000 คนขึ้นไป เพื่อตั้งสาขาพรรค 4 ภาค ภาคละ 500 คน
และหากต้องการส่งผู้สมัครในจังหวัดไหน ก็จะต้องมีสมาชิกพรรคในจังหวัดนั้นอย่างน้อย 100 คนขึ้นไป โดยเรียกว่า ‘ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด’
ดังนั้น หากจะส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง นอกจากจะต้องมีสมาชิกพรรค 7,700 คนแล้ว จะต้องมีสาขาพรรค 4 ภาค ซึ่งใช้จำนวนสมาชิก 2,000 คน ถึงจะส่งผู้สมัครได้
‘ไพรมารีโหวต’ จึงเป็นเครื่องกีดขวางสำคัญ ที่แม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ยังหืดขึ้นคอ
จึงมีกระแสข่าวว่า คสช.กำลัง ‘ปรับสูตร’ ไพรมารีโหวตใหม่อีกครั้ง
1.ปรับเป็นไพรมารีโหวตจากระดับจังหวัด เป็นระดับภาค
2.ยกเลิกไพรมารีโหวตไปเลย
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ประเมินว่า ทางออกที่ดีที่สุดคือการ ‘ยกเลิก’ ไพรมารีโหวต
“เดือนนี้ยังมีไพรมารีโหวต แต่เดือนหน้าอาจไม่มี” แหล่งข่าวระดับสูงใน กกต. กล่าว
ขณะที่ แหล่งข่าวจาก สนช. ระบุว่า การยกเลิกไพรมารีโหวตหรือไม่ จะต้องใช้คำสั่ง มาตรา 44 เท่านั้น ไม่สามารถแก้กฎหมายโดยกระบวนการนิติบัญญัติได้ เพราะ สนช.เป็นคนออกกฎหมายเอง ไม่สมควรกลับมาแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองออก อีกทั้ง หากจะแก้กฎหมายโดยใช้กระบวนการปกติ ต้องเสียเวลากับการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ไม่ว่านักการเมือง คนในองค์กรอิสระ หรือ จะเป็นคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ต่างวิเคราะห์ไปทางเดียวกันว่า การยกเลิกไพรมารีโหวตจะเป็นทางออกที่ ‘ราบรื่นที่สุด’ ในเกมที่ทุกพรรคต่างเตรียมตัวไม่ทัน แม้แต่พรรคนอมินี คสช.
แต่ใช่ว่าเกมนี้ คสช.จะเสียเปรียบ เพราะในช่วงที่พรรคการเมืองอื่นติดล็อกทางการเมือง ไม่สามารถทำกิจกรรมได้
แต่ ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่ถูกสมมติฐานว่าอยู่ภายใต้เสื้อคลุม ‘พลังประชารัฐ’ กลับได้รับ ‘ไฟเขียว’ ให้เคลื่อนไหว ดูดนักการเมืองเข้าสังกัด
โดย ‘พล.อ.ประยุทธ์’ กล่าวเปิดทาง ‘พลังประชารัฐ’ เมื่อ 3 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า
“ในเมื่อพรรคพลังประชารัฐยังไม่ประกาศอะไร มีแต่จองชื่อเฉยๆ การพูดคุยวันนี้มีอิสระเสรีมากพอสมควร ไม่ว่าใครก็ตาม มีการพูดคุยตลอดมา จะให้นักการเมืองพูดกันข้างเดียวหรือ ทุกคนมีสิทธิหมด ประชาชนอยากจะพูดก็พูดมา อะไรที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็ผ่อนผันให้อยู่แล้ว อย่ามองว่าจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบอะไรเลย เพราะประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง จะได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไร”
“ผมจะไปเข้าข้างได้อย่างไร พรรคพลังประชารัฐอยู่ตรงไหน คลอดมาหรือยัง ยังมีแต่ชื่อ แล้วผมไปเกี่ยวอะไรกับเขา อย่าเอาสิ่งที่คนอ้างมาถามผม ผมเจอนักการเมืองก็คุยกับเขาได้ แล้วผมผิดตรงไหน คุยกับทุกพรรค เจอผมก็ทักทาย อดีตนายกฯ ก็ผมก็ไหว้เขา ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และผมยังไม่รู้ว่าพรรคไหนเป็นอย่างไร มีตั้ง 79 พรรค กกต.ยังไม่รับรองทั้งหมด เพียงแต่จองชื่อ ยื่นหนังสือขอจดทะเบียน วันข้างหน้ายังอีกยาวไกล ตอนนี้ผมยังทำงานอยู่”
และทันทีที่ 'วิษณุ' คลอดโมเดลเลือกตั้งออกมา 4 แบบ 4 วัน ใน 4 เดือน
ปรากฏว่า กกต.ได้ทำปฏิทินการเลือกตั้งไว้ครบทั้ง 4 แบบ โดยทุกแบบจะมีเวลาหาเสียงเพียงแค่ 28 วัน ดังนี้
1. กกต.เปิดรับสมัครเลือกตั้ง 14 – 18 ม.ค. 2562 วันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 มีเวลาในการหาเสียง 28 วัน
2. กกต.จะเปิดรับสมัคร 18-22 ก.พ. 2562 วันเลือกตั้ง 31 มี.ค. 2562 มีเวลาในการหาเสียง 28 วัน
3. กกต.เปิดรับสมัคร 18 – 22 มี.ค. 2562 จะมีการเลือกตั้ง 28 เม.ย.2562 กกต. มีเวลาในการหาเสียง 28 วัน
4. กกต.เปิดรับสมัคร 25 มี.ค. 2562 มีการเลือกตั้ง 5 พ.ค. 2562 กกต. มีเวลาในการหาเสียง 28 วัน
ซึ่งระยะเวลาหาเสียงที่มีเพียงแค่ 28 วัน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้สมัครระบบเขตมากที่สุด
ยิ่งระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตรเดียวคำนวณได้ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ แถมเบอร์ผู้สมัครแต่ละเขตยังแตกต่างกันทุกเขต ประกอบเวลาการหาเสียงมีน้อยยิ่งกว่าน้อย
เกมเลือกตั้งของนักการเมืองหน้าเก่า ที่ทำพื้นที่มานานจึงได้เปรียบ ทั้งอดีตนักการเมืองที่ถูกพลังดูดจากกลุ่ม ‘สามมิตร’หรือแม้แต่เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์ที่ทำพื้นที่มานานก็จะได้รับอานิสงส์
แต่การเดินเกมของ คสช. เกมของพรรคพลังประชารัฐ เกมของกลุ่มสามมิตร เคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไม่มีข้อจำกัด ภายใต้กฎที่ได้ที่ได้เปรียบ
พรรคการเมืองที่ถูกอุ้มโดย คสช.จึงเหนือกว่าทุกพรรค!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง