นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงกรณีน้ำปลาไทยถูกแบนจากสหรัฐฯ ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำปลาตราปลาหมึกที่เป็นข่าวนั้นถูกสุ่มตรวจจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.FDA) ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของทุกประเทศอยู่แล้ว ที่จะมีการสุ่มตรวจสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
โดยขั้นตอนการสุ่มตรวจที่ต้องชี้แจงนั้นพบว่า มีเอกสารที่ประกอบการขนส่งไม่ครบถ้วนจึงเป็นเหตุให้สินค้าล็อตนั้นถูกขึ้นบัญชีในระบบแจ้งเตือนการนำเข้า (Import Alert) ซึ่งเป็นระบบป้องกันอันตรายจากสินค้านำเข้าที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ U.S.FDA โดยสินค้าใดๆที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีแจ้งเตือนการนำเข้านี้ ผู้ประกอบการต้องยื่นเอกสารตามไปให้ครบเพื่อให้ทาง U.S. FDA ประเมินว่าสินค้านั้นๆ ไม่ได้มีส่วนผสมหรือกระบวนการการผลิตที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ไม่ได้เป็นการแบนสินค้านั้นๆ แต่อย่างใด
อีกทั้ง เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันในปี 2557 และไม่ได้มีความน่ากังวลแต่อย่างใด เพียงแค่ผู้ประกอบการส่งเอกสารไปให้ทาง U.S.FDA เพื่อประกอบการพิจารณาก็จะสามารถนำสินค้าล็อตนั้นเข้าประเทศสหรัฐฯ ได้ ขณะเดียวกันก็ยังสามารถส่งสินค้าล็อตอื่นไปยังสหรัฐฯ ได้เช่นกันเพียงเตรียมเอกสารประกอบให้ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ เพราะยังมีน้ำปลาอีกหลายแบรนด์ให้เลือกใช้
"ขอฝากถึงผู้ประกอบการให้ตรวจสอบดูแลมาตรฐานการผลิตน้ำปลาอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางการค้า" นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกน้ำปลาไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2561) มีปริมาณ 6,199 ตัน คิดเป็นมูลค่า 231,902,862 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน อีกทั้งปริมาณการส่งออกน้ำปลาไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา จะมีเพียงปี 2560 เท่านั้นที่ชะลอตัวเล็กน้อย เพราะสหรัฐฯ ปรับลดการนำเข้าน้ำปลาของประเทศ
"น้ำปลาจากประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมในตลาดสากลเพราะเป็นภูมิปัญญาของไทยและยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้นผู้ส่งออกน้ำปลาไทยจึงควรตระหนักถึงกระบวนการการผลิตให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าไว้" นายอดุลย์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :