ไม่พบผลการค้นหา
เพราะไม่ใช่คนที่อ่านหนังสือได้เร็ว ชนิดวันละ 800 บรรทัด ทำให้ผมต้องใช้เวลาอยู่หลายวันในการอ่านและทำความเข้าใจ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 หรือ “กฎหมาย ป.ป.ช.” ฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไปสัปดาห์ก่อน

หลังอ่านจบ ก็คาดเดาไม่ยากว่า องค์กรปราบโกงอย่าง ป.ป.ช. จะเป็น “ตัวละครสำคัญ” ที่ชี้ชะตาการเมืองไทยได้ในอนาคต โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกเหนือจากอำนาจมหาศาลในการปราบโกงที่มีอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญปี 2560 ยังเพิ่มพลังให้ ป.ป.ช. อีกหลายอย่าง เช่น เอาผิดคนที่ไม่ปฏิบัติตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ฉบับของ คสช. หรือเอาผิดคนที่ไม่ปฏิบัติตาม “มาตรฐานจริยธรรม”

ที่ผ่านมา กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเริ่มใช้ฉบับแรกเมื่อปี 2542 เคยถูกแก้ไขไปแล้ว 4 ครั้ง แต่ละครั้ง มักส่งผลให้ ป.ป.ช. มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

- แก้ครั้งแรก (ปี 2550) ให้ ป.ป.ช. หยิบคดีขึ้นมาทำเองได้ ไม่ต้องรอให้มีผู้ร้อง

- แก้ครั้งที่สอง (ปี 2554) เพิ่มอำนาจหลายอย่าง อาทิ คุ้มครองพยาน เงินรางวัลแจ้งเบาะแส กันไว้เป็นพยาน ฯลฯ

- แก้ครั้งที่สาม (ปี 2558) เพิ่มอัตราโทษคดีทุจริตสูงสุดคือประหารชีวิต และถ้าจำเลยหลบหนี ให้ไม่มีอายุความ

- แก้ครั้งที่สี่ (ปี 2559) ให้ตั้งพนักงานไต่สวนมาช่วยทำงานได้ เพราะ ป.ป.ช. มักอ้างว่าที่ผ่านมาทำงานช้า เพราะมีคนไม่พอ

แต่กฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับปี 2561 นี้ ไม่ใช่ฉบับแก้ไข แต่เป็นฉบับทำใหม่ทั้งหมด ซึ่งนอกจากอำนาจเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว ยังเพิ่มเติมอำนาจใหม่ๆ เข้าไปอีก

นี่ขนาดถอดเรื่องการ “ดักฟัง แฝงตัว สะกดรอย” ออกไปแล้ว แต่ค่าพลังใหม่ที่มีให้กับ ป.ป.ช. อยู่ ก็ยังสุดจะ powerful

เช่น

- ให้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งเดิมจะเปิดเฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. แต่หลังจากนี้จะรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย (มาตรา 106)

- ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกตำแหน่งที่ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ไปยื่นบัญชีทรัพย์สินกับหัวหน้าส่วนราชการแทน (มาตรา 130)

- แค่แจ้งข้อกล่าวหา ยังไม่ถึงขั้นต้องชี้มูล ก็สามารถขอให้หัวหน้าส่วนราชการสั่งพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐคนนั้นๆ เป็นเวลาหกเดือนได้ เพื่อประโยชน์ต่อการไต่สวน (มาตรา 90)

ฯลฯ

แต่ในทางกลับกัน สำหรับกรณีนี้ Great Power กลับไม่มาพร้อมๆ Great Responsibility หรือ “อำนาจที่มากขึ้นไม่ได้มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น”

เพราะกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจของ ป.ป.ช. กลับไม่เพิ่มตามไปด้วย

เชื่อหรือไม่ สิ่งแรกๆ ที่ ป.ป.ช. ทำ เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ก็คือการถอดรายงานความคืบหน้าการไต่สวนคดีทุจริตต่างๆ ของ ป.ป.ช. ออกจากเว็บไซต์! (อ้างมาตรา 36) ทั้งที่การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2554 เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. และเพื่อแสดงความโปร่งใสขององค์กรปราบโกงนี้

นอกจากนี้ ยังปฏิเสธการให้หน่วยงานภายนอก เช่น ผู้ว่าฯ สตง. เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของคนของ ป.ป.ช. โดยเขียนไว้ว่าจะดำเนินการ “ไต่สวนกันเอง” (มาตรา 159)

ส่วนเนื้อหาในส่วนที่ว่าด้วยการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ก็เป็นเนื้อหาเดิมๆ ที่มีอยู่���ล้ว ไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนอำนาจที่ได้รับ ทั้งเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อประธานวุฒิสภา หรือถ้าใครถูกร้องเรียนก็ให้ประธานรัฐสภาส่งไปให้ประธานศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระ (มาตรา 42-45)

ที่สุด การใช้อำนาจของ ป.ป.ช. จึงอยู่บนฐานคิดที่ไม่ต่างอะไรกับราชการไทยแบบโบราณ คือให้อำนาจฉันมา ไว้ใจฉัน แล้วฉันจะตรวจสอบกำกับดูแลการทำงานกันเอง ก็กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการทุกคนไว้แล้วนี่ว่า “มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”

แม้กฎหมายใหม่นี้จะกำหนด deadline ให้ ป.ป.ช. ทำคดีต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เช่น ถ้าเริ่มไต่สวนคดีใดแล้วต้องทำให้จบภายใน 2 ปี (มาตรา 48) แต่นั่นก็เป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนการทำงานเท่านั้น ไม่ได้การันตีว่าการทำงานจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเข้าข้างใคร เพื่อ “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย” เหมือน slogan ของ ป.ป.ช.

เพราะต้องไม่ลืมว่า ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ก็ถูกสังคมคลางแคลงใจมาแต่ต้น ด้วยกรรมการ 6 ใน 9 คน ถูกแต่งตั้งมาในยุครัฐบาลทหาร ตัวประธานเองเคยเป็นถึงเลขานุการของนายทหารใหญ่รายหนึ่ง แถมได้ต่ออายุทำงานออกไปอีกทั้งๆ ที่น่าจะขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ (พ้นจากการเป็นข้าราชการการเมืองไม่ถึงสิบปี)

แล้ว ป.ป.ช. จะให้บทบาท หน้าที่ รวมถึงอำนาจที่ได้รับมา อย่าง “สุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวง” ดังที่เขียนไว้ในกฎหมายได้มากน้อยเพียงใด

ที่ผ่านมา สังคมก็เพ่งเล็งอยู่แล้วว่า คดีใดเกี่ยวกับทหารหรือกองทัพ ถ้าไม่ยกคำร้อง ก็มักเดินหน้าล่าช้า

ป.ป.ช. ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะใช้อำนาจที่ได้รับมาอย่างเหมาะสม ซึ่งบทพิสูจน์ที่ดีที่จะบอกใครต่อใครว่า ป.ป.ช. ทำงานตรงไปตรงมา ไม่สนระบบอุปถัมภ์ ก็คือ “คดีนาฬิกาบิ๊กป้อม” ที่ผ่านไปสองในสามของปีแล้ว ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาให้สังคมได้พอใจ

จนหลายๆ คนเริ่มบ่นว่า ไม่อยากฝากความหวังการปราบโกงไว้กับองค์กรที่มีอายุใกล้จะครบ 20 ปี องค์กรนี้แล้ว

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog