ฝูงแกะน้อยใหญ่เดินไปตามหมู่บ้านจนถึงชายหาด บ้างแวะคุ้ยเขี่ยเศษอาหารในกองขยะ บางตัวเคี้ยวเศษพลาสติกเล่นอย่างเอร็ดอร่อย ภาพเหล่านี้มีให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาในหลายพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเรียกพวกมันว่า ‘แกะเร่ร่อน’ หรือไม่ก็ ‘แกะขี้เรื้อน’ สำหรับบางตัวที่มีขนพันกันจนเป็นสังกะตังสีน้ำตาลเข้มจากฝุ่นและก้อนดิน
แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ และพวกมันมาเร่ร่อนได้อย่างไร
สมัคร์ กอเซ็ม นักมานุษยวิทยาชาวมุสลิมจากภาคกลาง เฝ้าดู เดินตาม และบันทึกเรื่องราวของแกะเหล่านี้มาเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี เพื่อที่จะอธิบายสภาพสังคมในสามจังหวัด ผ่านวิธีซึ่งแวดวงมานุษยวิทยาเรียกว่าอมนุษย์ศึกษา (non-human studies) หรือการหยิบสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ มาเป็นตัวละครหลักในการศึกษาความสัมพันธ์ภายในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
สมัคร์ใช้อุปกรณ์จีพีเอสบันทึกเส้นทางที่แกะเดินเล่นในแต่ละวัน โดยติดตามพวกมันไปพูดคุยกับชาวบ้านที่มีความสัมพันธ์กับแกะเหล่านี้ บทสนทนายังบอกเล่าวิถีวัฒนธรรมและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในท้องที่อีกด้วย
“มันมีการรับรู้เชิงพื้นที่พอสมควร มันจะรู้ว่าแต่ละวันจะเดินไปจุดไหน และจะไม่ไปในเขตคอกอื่น และถ้าเราเห็นแกะ ก็รู้ว่าอยู่ในชุมชนมุสลิม มันมีการจัดพื้นที่หรือโซนต่างๆ อยู่” สมัคร์ กล่าว
ชาวมุสลิมในสามจังหวัดใช้แกะ แพะ และวัว ประกอบอาหารในพิธีกรรมสำคัญๆ โดยในบรรดาสัตว์สามชนิดแกะมีราคาถูกที่สุด ทำให้พวกมันกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ผู้คนนิยมเลี้ยงเพื่อค้าขาย เดิมเลี้ยงกันในคอกแต่ภายหลังหันมาเลี้ยงแบบปล่อย สมัคร์เล่าว่าในช่วงกลางวัน ฝูงแกะจะเดินเร่ร่อนหาอาหารตามสนามหญ้าในโรงเรียน กุโบร์ (สุสาน) หรือที่อื่นๆ ก่อนจะกลับไปในคอกในเวลาย่ำค่ำ โดยชาวบ้านจะรู้ได้ว่าใครเป็นเจ้าของแกะฝูงไหนก็ต่อเมื่อมีคนออกมาตามหาพวกมันเท่านั้น
“ชาวบ้านเล่าว่า แกะทำให้หลายคนต้องไปทำฟัน เพราะมันทำรถมอเตอร์ไซค์ล้ม บางครอบครัวรถคว่ำลูกเสียชีวิตเพราะหลบแกะ เป็นปัญหาสังคมขึ้นมา ... มาคุยเรื่องนี้ มันก็เปิดประเด็นให้คนคุยกันเยอะขึ้น ทำให้คนรู้ว่าแกะมันมีบทบาทสำคัญในชีวิตคนพอสมควร”
อมนุษย์ : แกะ ญิน ด่าน คลื่น
สมัคร์ย้ายมาอยู่ที่ปัตตานีตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่เคยเป็นอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดหลายหน แต่ครั้งนี้เขามาในฐานะนักวิจัยเรื่องที่คนในพื้นที่ยังมองไม่เป็นประเด็น
อมนุษย์ศึกษาของสมัคร์เริ่มต้นจากแกะเร่ร่อน จากนั้นจึงหันมาศึกษาเรื่องญิน (Jinn) หรือสิ่งเหนือธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างขึ้นตามความเชื่อมุสลิม โดยมีหลายคนเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกญินเข้าสิง หรือตามหลอกหลอนจนต้องทำพิธีกรรมขับไล่ ญินยังเป็นเรื่องสยองขวัญอันดับต้นๆ ที่ถูกนำมาเล่าสู่กันฟังในหมู่เพื่อนฝูง สมัคร์เล่าว่าแม้ตัวเองจะเป็นมุสลิมและได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง แต่ยอมรับว่าเรื่องเกี่ยวกับญินในพื้นที่สามจังหวัดมีความ “คุกรุ่น” มากกว่าที่อื่นๆ
นอกจากนี้ เขายังเลือกศึกษาเรื่องด่านตรวจ โดยเขายกให้ด่านตรวจเป็นพื้นที่เชิงพหุวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง ที่ปรากฎความสัมพันธ์ระหว่างทหารซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคอื่นๆ กับคนมลายูในพื้นที่ “พวกเขาอาจให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวต่างกันราวกับอยู่คนละมิติเลยก็ได้” สมัคร์ กล่าว
และสุดท้ายคือเรื่องคลื่น (ทะเล) ซึ่งสมัคร์ใช้ทำความเข้าใจวิถีผู้คนในพื้นที่ชายฝั่ง
สมัคร์บอกว่า นี่เป็นความพยายามอธิบายว่าอมนุษย์ คือสัตว์ สิ่งของ สถานที่ และธรรมชาติ อธิบายสังคมในสามจังหวัดในมุมมองอื่นได้อย่างไรบ้าง นอกเหนือจากการศึกษาระหว่างรัฐและประชาชนหรือวัฒนธรรมพื้นถิ่น ซึ่งยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ด้านการศึกษาเกี่ยวกับสามจังหวัด
“ถ้าเราไม่หยิบเรื่องพวกนี้มาศึกษา เราก็อาจไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไรได้อีก”
‘เควียร์มุสลิม’ ในสามจังหวัด
สมัคร์ยังใช้เรื่อง ‘อมนุษย์’ เป็นฐานสร้างความเข้าใจในฐานะนักวิจัยที่เพิ่งลงไปคลุกคลีในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายต่อจากนี้คือการศึกษาเรื่อง ‘เควียร์’ หรือเพศที่สาม โดยจะเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขา และเป็นประเด็นที่หลายคนมองว่าละเอียดอ่อน
สมัคร์เคยอธิบายความสัมพันธ์แบบเควียร์มุสลิมลงในวารสารฉบับหนึ่ง โดยใช้ประสบการณ์ในวัยเด็กพูดถึงแนวคิด “ความเป็นพี่น้อง” (brotherhood) ในศาสนาอิสลามซึ่งถูกนำมาตีความเพื่อเอื้อให้เกิดความสัมพันธ์ชายรักชายในรูปแบบต่างๆ ในโรงเรียนศาสนาซึ่งขีดเส้นแบ่งพื้นที่ระหว่างชาย-หญิงไว้อย่างชัดเจน
แต่การจะพูดถึงเรื่องนี้ในสังคมมุสลิมที่มีความขัดแย้งเช่นสามจังหวัด อาจทำได้ยากกว่า
“มันเหมือนกับว่าเขาเองก็อยู่ในภาวะที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคมของเขาจริงๆ บางทีเขาก็รู้ว่ามีเรื่องอื่นๆ อีก แต่มันอาจจะเหนื่อยเกินไปแล้วที่จะพูดต่อ เช่นเรื่องเพศที่สาม”
สมัครเล่าว่า จากการศึกษาเบื้องต้น พื้นที่สามจังหวัดเป็นพื้นที่ค่อนข้างปิด ทำให้กลุ่มเพศที่สามไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกมากนัก หลายคนจึงเลือกไปอยู่ในเมืองใหญ่ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาดูแลครอบครัว พวกเขาจำต้องกลับเข้าสู่ครรลองการปฏิบัติตัวทางสังคมและศาสนา เช่น การแต่งงานกับเพศตรงข้าม
“ที่เรามาศึกษาเรื่องนี้ ไม่ได้อยากจะมาเปิดประเด็น เปิดโปงว่ามันมีเพศที่สามนะ แต่เราอยากรู้ว่ามันถูกอธิบายอย่างไรมากกว่า และคนเหล่านี้ปรับตัวอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไรในการที่จะประนีประนอมกันที่จะอยู่ในพื้นที่ และสุดท้ายมันสะท้อนปัญหาเรื่องเควียร์ที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พรมอย่างไร” สมัคร์ กล่าว
ศิลปะกับวิชาการ
จากความสนใจในศิลปะโดยเฉพาะการถ่ายภาพ สมัคร์นำบทเรียนที่ได้จากอมนุษย์และเควียร์ศึกษา มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะหลายชิ้น เช่น ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Sheep” (Biri-Biri / แกะ) หรือภาพยนตร์แนวทดลอง Neverland ที่แสดงให้เห็นโลกในจินตนาการของกะเทยมุสลิมชื่อว่า ‘บังลี’ ที่ผ่านมาเขายังได้จัดแสดงภาพถ่ายเกี่ยวกับ ‘ร้านน้ำชา’ ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งนัดพบในวิถีมลายู
สำหรับสมัคร์ การทำงานวิชาการควบคู่ไปกับสร้างงานศิลปะไปกันได้ด้วยดี เพราะเป็นการเพิ่มสีสันให้งานวิจัยที่ฟังดูคร่ำเครียดดึงความสนใจของผู้คนได้ง่ายขึ้น
“เราต้องพยายามอธิบายให้คนข้างในเข้าใจได้ด้วย ฉะนั้นสิ่งที่เราทำตอนนี้ คือทำออกมาในรูปแบบงานศิลปะ คิดว่าคนจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าการอ่าน”
สมัคร์เล่าว่าเคยนำชิ้นงานไปแสดงให้นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้ชม โดยเขาเห็นว่าปฎิกิริยาและความเห็นของนักศึกษาเหล่านั้น เป็นแนวทางการศึกษารูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญ
“มันน่าสนใจเพราะเป็นกระบวนการที่เราทำความเข้าใจคนที่เราศึกษาด้วย เข้าใจปรากฎการณ์ต่างๆ เข้าใจการทำงานของคน เราก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเรามีธงแล้วเราจะเล่าแบบนี้” สมัคร์ กล่าว
หลังจากนี้ สมัคร์เตรียมถ่ายภาพโดมในพื้นที่สามจังหวัด สำหรับโปรเจ็คภาพถ่ายเล็กๆ ซึ่งเขาเปรียบพื้นที่สามจังหวัดว่าถูกครอบเอาไว้ด้วยโดมใสๆ อันเป็นผลจากเหตุการณ์ความรุนแรง การใช้อำนาจกดทับโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และกรอบทางสังคมบางอย่าง ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นได้ช้ากว่าโลกภายนอก