นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันที่สาม (13 เม.ย.) ของ 7 วันอันตราย (11-17 เม.ย.) ที่เริ่มมาตรการใช้ EM หรือ Electronic Monitoring ซึ่งเป็นเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ กับผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับในสำนักงานนำร่อง ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 (ประจำศาลแขวงพระนครเหนือ)
ทางหน่วยงานได้ดำเนินการติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 9 ราย โดยห้ามออกนอกบ้านเวลา 22.00 - 04.00 น.
สำหรับสถิติคดีในวันที่ 13 เม.ย. 2561 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ จำนวน 2,178 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 2,169 คดี และขับเสพ จำนวน 9 คดี และมียอดสะสม 3 วัน (11-13 เม.ย. 2561) ทั้งสิ้น 2,733 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 2,572 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 94.1 ขับรถประมาท จำนวน 16 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.58 แข่งรถหรือขับซิ่ง จำนวน 2 คดี หรือร้อยละ 0.07 ขับเสพ จำนวน 143 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 5.23
ส่วนจังหวัดที่มีสถิติสะสมสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคามจำนวน 158 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 149 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเลย จำนวน 95 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดหนองคาย 92 คดี และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดบุรีรัมย์ 84 คดี
ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติ โดยสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ ได้ดำเนินการกับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดีเมาแล้วขับ โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย โดยให้ทำงานบริการสังคมตามมาตรการเข้ม ประกอบด้วย ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจที่จุดตรวจค้น จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน อาสาจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจเล่นน้ำสงกรานต์ และกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ตลอดจนทำความสะอาดบริเวณจุดตรวจค้น เพื่อสร้างจิตสำนึกของผู้กระทำผิดเพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม
สำหรับการนำเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของจำเลยที่ต้องพิพากษาแล้ว มุ่งเฉพาะกลุ่มผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับ ที่ปริมาณแอลกอฮอล์ 200-250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ศาลอาจใช้ดุลยพินิจสั่งให้รอการลงโทษ และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ เช่น ห้ามออกนอกสถานที่พักอาศัยในยามวิกาล โดยการใช้ EM กับกลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าวภายใต้การดูแลของกรมคุมประพฤติต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง :