ไม่พบผลการค้นหา
โรงพยาบาลศิริราช เปิดตัวโครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลื่อนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน คันแรกของภาครัฐ

ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดสมองก้าวหน้าไปมาก หากผู้ป่วยมีอาการหรือมีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง และได้รับการรักษาภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตหรือพิการจากโรคดังกล่าวได้ เพราะฉะนั้น "เวลา" จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดในการรักษา โครงการนำร่องต้นแบบรถพยาบาลเคลื่อนที่ รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน รพ.ศิริราช" (Mobile Stroke Unit) จึงตอบโจทย์เป็นอย่างมาก เป็นการนำโรงพยาบาลออกไปหาผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางลำบาก เป็นการย่นระยะเวลา ให้ถึงการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น  

raj_1.jpg

ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


ทั้งนี้ รถคันดังกล่าว จะประกอบแพทย์ พยาบาล นักรังสีวิทยาและคนขับรถ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย เอ็กซเรย์สมอง และตรวจเลือดที่จำเป็นในรถ เพื่อตัดสินการรักษาเบื้องต้น ระบบจะส่งต่อข้อมูลเพื่อปรึกษาทางไกลกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเตรียมความพร้อมของกระบวนการรักษาในโรงพยาบาลต้นทาง ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ แพทย์จะให้ยาสลายลิ่มเลือดในรถทันที เพื่อเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันโดยเร็วที่สุด  

hsernjw_1.jpg


หากได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งแตกและตีบ จะนำผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช โดยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลย้ำว่า ศิริราชเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของภาครัฐ ที่เป็นผู้บุกเบิกในการสร้างต้นแบบการรักษาด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ซึ่งจะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จากสิทธิ์ประกันถ้วนหน้า  

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างทดลองการใช้งาน โดยจะมีการประเมินผลหลังจากนี้ 3 เดือน ซึ่งจะประเมินทั้งด้านความคุ้มค่า รวมถึงพื้นที่ที่จำเป็น หากพื้นที่ไหนที่มีโรงพยาบาลใกล้เคียงจำนวนมาก ก็ไม่จำเป็นต้องมีรถพยาบาลเคลื่อนที่เข้าไป 

gweg_1.jpg


ทั้งนี้  ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ เตือนว่าหากคนใกล้เคียงหรือคนในครอบครัว มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง สันนิษฐานอย่างแรกเลยว่า นั่นคือโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบเข้าถึงการรักษา หรือโทรหา 1669 หน่วยเคลื่อนที่จะเข้าไปทันที เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตหรือพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน