ภายหลังการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ 'คิมจองอึน' กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ที่สิงคโปร์ นักสังเกตการณ์หลายรายมองว่า รัฐบาลเปียงยางได้รับในสิ่งที่เรียกร้องหลายประเด็น
ในถ้อยแถลงร่วมของผู้นำทั้งสองฝ่ายเมื่อวันอังคาร เกาหลีเหนือให้คำมั่นที่จะ "ปลดอาวุธนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิง"
ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์บอกกับสื่อมวลชนว่า สหรัฐฯ จะระงับการซ้อมรบร่วมระหว่างทหารอเมริกันกับเกาหลีใต้ ให้หลักประกันความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเปียงยางในระยะต่อไป รวมทั้งจะเชิญคิมจองอึนไปเยือนทำเนียบขาวในอนาคต
บรรดาผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผลสรุปของการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือรอบนี้เป็นเพียงการประกาศเจตนาเท่านั้น คำมั่นของแต่ละฝ่ายจะได้รับการปฏิบัติคืบหน้าแค่ไหน ขึ้นกับการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ในรอบต่อๆ ไป
นักสังเกตการณ์บอกว่า ในการพบหารือครั้งนี้ คิมเป็นฝ่าย 'ได้' ไปเต็มๆ
ในแง่สัญลักษณ์ ซัมมิตครั้งนี้เป็นการรับรองผู้นำเปียงยางให้มีสถานะเป็นคู่เจรจาที่ทัดเทียมกับผู้นำวอชิงตัน และในแง่เนื้อหานั้น ถ้อยแถลงไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการปฏิบัติให้เกิดผล
'แอนโธนี รักเกียโร' นักวิจัยอาวุโสของหน่วยงานคลังสมอง Foundation for Defense of Democracies บอกว่า ยังไม่รู้เลยว่าการเจรจารอบต่อไปจะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
นักวิเคราะห์ให้ข้อสังเกตอีกว่า ถ้อยคำในถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวไม่ได้ยืนยันข้อเรียกร้องของทรัมป์ก่อนหน้านี้ ที่ต้องการให้เกาหลีเหนือ "ปลดอาวุธโดยสมบูรณ์ โดยรื้อฟื้นไม่ได้ และเปิดรับการตรวจพิสูจน์"
นอกจากนี้ การให้คำมั่นของคิมที่ระบุในถ้อยแถลงว่า เกาหลีเหนือจะปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงนั้น อันที่จริง รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคก่อนหน้าทรัมป์ คือ 'บิล คลินตัน' และ 'จอร์จ ดับเบิลยู. บุช' เคยลงนามข้อตกลงกับเปียงยางมาแล้ว แต่ในที่สุด เรื่องนี้ก็ประสบความล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งหลุดออกไปจากถ้อยแถลงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ ขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือ
แม้ว่า ทรัมป์หยิบเรื่องขีปนาวุธมาพูดถึงตอนแถลงข่าวผลการเจรจาว่า ระหว่างที่พูดคุยกับคิมนั้น คิมรับปากด้วยวาจาว่า จะปิดโรงงานผลิตเครื่องยนต์ขับดันจรวด อย่างไรก็ดี ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในถ้อยแถลงร่วม
ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงไม่ได้เอ่ยถึงข้อเรียกร้องของฝ่ายเกาหลีเหนือ ที่เคยยืนยันมาโดยตลอดว่า สหรัฐฯ ต้องล้มเลิกนโยบาย 'ร่มนิวเคลียร์' ที่อเมริกาให้การปกป้องแก่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น
'อีแวนส์ รีเวียร์' อดีตผู้เจรจาเรื่องเกาหลีเหนือของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ถ้อยแถลงของคิมกับทรัมป์ไม่มีอะไรใหม่ เป็นเพียงการระบุเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในอนาคต และเขาสรุปว่า งานนี้ถือว่าเกาหลีเหนือเป็นฝ่ายชนะ
'ตาอยู่' ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-เกาหลีเหนือ อาจคือ 'จีน'
ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนวิเคราะห์ว่า ' จีน ' คือ ผู้ชนะและเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจากการเจรจาลงนามระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องอิทธิพลทางการทหารในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลี ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ มักใช้ข้ออ้างเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
ดังนั้น การเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือจีนจึงคาดหวังว่า สหรัฐฯ จะดึงกำลังทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด
'ไรน์ แฮสส์' ผู้เชี่ยวชาญนโยบายจีนของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ สมัยอดีตรัฐบาลโอบามากล่าวว่า "จีนได้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการทหารโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ที่เกิดขึ้น"
ไทม์วิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ จะค่อยๆ สูญเสียอิทธิพลทางการทหารในเอเชียไป หลังจากที่เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด และเกาหลีใต้อาจจะมีการทบทวนข้อตกลงด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และหันไปเปิดข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับจีนแทน
'พอล เฮนเล' อดีตผู้อำนวยการด้านจีนของหน่วยงานความมั่นคงทำเนียบขาวในสมัยรัฐบาลโอบามาและจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวว่า หลังจากการประชุมครั้งนี้ คิมจองอึนอาจจะเข้าพบกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนอย่างเร็วที่สุดอีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาจีนได้แสดงถึงความตั้งใจในการช่วยเหลือเกาหลีเหนือในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมไปถึงเกาหลีเหนือก็ยังมีความเชื่อใจจีนเป็นอย่างมากอีกด้วย
ภาพ: AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :