ไม่พบผลการค้นหา
ถามความเห็น ‘คนโสด’ เมื่อเฟซบุ๊กรุก ‘ตลาดคนเหงา’ พร้อมเทียบฟังก์ชันแบบหมัดต่อหมัดกับแอปฯ หาคู่เจ้าตลาดเดิม

เฟซบุ๊กกำลังเข้ามาเปลี่ยนโลกการหาคู่ออนไลน์ครั้งใหญ่ ด้วยการเปิดฟังก์ชัน ‘เฟซบุ๊กเดตติ้ง’ (Facebook Dating) ซึ่งก่อนหน้านี้เปิดให้ใช้งานในหลายประเทศแล้ว แต่เพิ่งทยอยเปิดในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา และถือเป็นประเทศแรกในเอเชีย

ทางผู้พัฒนาแอปฯ เคลมว่า เฟซบุ๊กเดตติ้งเป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยให้ผู้คนกว่า 200 ล้านคนบนเฟซบุ๊กที่ระบุสถานะ ‘โสด’ สร้างสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่มีความหมายได้ โดยต่อยอดจากจุดประสงค์เริ่มแรกที่มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก เริ่มต้นเฟซบุ๊กขึ้นมา เพื่อเป็นคอมมูนิตีที่ดีที่สุดในโลก ที่ทุกคนจากทุกพื้นที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ต่อกันได้โดยไร้พรมแดน

เหตุผลที่บอกว่า เฟซบุ๊กกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนระบบการหาคู่ออนไลน์ เพราะ ‘บิ๊กดาต้า’ ที่เฟซบุ๊กเก็บไว้ในมือคือ ประวัติ รูปภาพ ความชอบ สเตตัส สถานที่ที่ชอบ ฯลฯ ของผู้ใช้งานนับพันล้านคน ทำให้เฟซบุ๊ก ‘อาจจะ’ สามารถจับคู่ให้ผู้คนได้แม่นยำกว่าแอปฯ หาคู่อื่นๆ เพราะทั้งการจับคู่จากสิ่งที่สนใจตรงกัน ความชอบ หรือการเข้าร่วมอีเวนต์ต่างๆ ผู้ใช้งานสามารถค้นหาคนที่มีความสนใจตรงกันได้

แถมการใช้งานก็ง่าย เพราะเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่ผูกติดไว้กับแอปฯ เฟซบุ๊กที่มีในมืออยู่แล้ว ไม่ต้องสมัครใหม่ แค่กดปุ่มหนึ่งที หรือสองที ก็เข้าสู่หน้าการออกเดตได้เลย ช่วยการตัดสินใจเข้าไปใช้งานให้ง่ายขึ้นไปอีก


เทียบสองยักษ์ใหญ่แอปฯ หาคู่ เมื่อต้องสู้กับยักษ์ใหม่ ‘เฟซบุ๊กเดตติ้ง’

เมื่อลองแบ่งแอปฯ หาคู่ที่มีความนิยมในไทย จะได้คร่าวๆ ออกมา 3 หมวดหมู่

  1. แอปฯ ที่ฮิตในกลุ่มคนไทย และวัยรุ่นไทย เช่น ทินเดอร์ (Tinder) และบีทอล์ก (BeeTalk)
  2. แอปฯ หาคู่ชาวต่างชาติ เช่น สเกาต์ (Skout) และ บาดู (Badoo) 
  3. แอปฯ หาคู่สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น แจ็ค’ดี (Jack’D), บลูดี (Blued) และ กรินเดอร์ (Grindr)

ทีมงาน Voice On Being ได้ทดลองเข้าใช้งานฟีเจอร์เฟซบุ๊กเดตติ้ง โดยเปรียบเทียบกับแอปฯ ยอดนิยมในไทยอย่างทินเดอร์ และบีทอล์ก ซึ่งเราขอลงความเห็นด้วยว่า ฟีเจอร์สามารถแย่งผู้ใช้งานจากหลายแอปฯ ที่เป็นที่นิยมในไทยมาก่อนได้ไม่ยาก ด้วยฟังก์ชั่นที่พรีเมียมกว่า

ทินเดอร์ (Tinder) เป็นชื่อคุ้นหูในฐานะแอปฯ หาคู่ของคนเมือง และเป็นแอปฯ ที่คงไม่พูดถึงไม่ได้ในวันที่เฟซบุ๊กเดตติ้งเปิดตัว เพราะเรียกได้ว่าฟังก์ชันทั้งหลายแทบจะถอดแบบมาจากทินเดอร์ ติดแค่เพียงว่าฟังก์ชันเสียเงินทั้งหลายของแอปฯ ปัดขวาหาคู่นี้ เฟซบุ๊กเดตติ้ง เปิดให้ใช้ฟรี!

ทินเดอร์เป็นแอปฯ หาคู่ที่กดชื่นชอบใครก็ได้ด้วยการปัดขวา และหากใจตรงกันปัดขวาหากันทั้งคู่ก็จะได้รับการจับคู่แมตช์กัน เพื่อเริ่มต้นบทสนทนา

ในขณะที่ผู้ใช้ทินเดอร์จะไม่รู้เลยว่า ใครปัดขวาชื่นชอบเราจนกว่าจะแมตช์กัน ยกเว้นเสียเงินอัพเกรดเป็นทินเดอร์โกลด์ (Tinder Gold) แต่เฟซบุ๊กเดตติ้งนั้นจะบอกให้รู้ทันทีว่า ใครสนใจคุณอยู่ โดยไม่ต้องรอการจับคู่ แต่จะสามารถส่งข้อความถึงอีกฝ่ายได้แค่หนึ่งข้อความเท่านั้น จนกว่าอีกฝ่ายจะส่งข้อความตอบกลับมาจึงเริ่มบทสนทนายาวๆ ได้

นอกจากนี้ ผู้ใช้ทินเดอร์จะต้องลิงก์แอคเคานต์เข้ากับเฟซบุ๊กเพื่อเข้าใช้งาน และแสดงข้อมูลเพจที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนั้น ทินเดอร์ยังพึ่งข้อมูลจากเฟซบุ๊กอยู่สูง การลงมาเล่นในตลาดแอปฯ หาคู่ด้วยตัวเองของเฟซบุ๊ก จึงเป็นเรื่องน่าวิตกไม่น้อยสำหรับแอปฯ ปัดขวา


063_1016772968.jpg

จุดแข็งที่เหลืออยู่ของทินเดอร์คงจะเป็นความรู้สึกเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานที่ต้องการแยกชีวิตส่วนตัว และการงานในเฟซบุ๊กออกจากแอปฯ ที่ใช้หาคู่อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ฟีเจอร์เฟซบุ๊กเดตติ้งมีความพยายามที่จะแบ่งสัดส่วนตัวเองออกมาจากหน้าหลักของเฟซบุ๊ก โดยผู้ใช้งานต้องสร้างโปรไฟล์พร้อมเลือกรูปถ่ายใหม่คล้ายกับทินเดอร์ โดยเฟซบุ๊กจะคัดกรองไม่แนะนำเพื่อนที่รู้จักกันบนเฟซบุ๊กอยู่แล้วมาให้ รวมถึงสามารถตั้งค่าไม่ให้เพื่อนของเพื่อนเห็นได้อีกด้วย ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ใช้งานที่ยังคงไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่าฟีเจอร์นี้ใกล้ชิดกับเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นชีวิตส่วนตัว และต้องใช้ในหน้าที่การงานมากเกินไป

แม้ทินเดอร์จะเป็นแอปฯ ยอดนิยมระดับโลกด้วยยอดดาวน์โหลดกว่า 100 ล้านครั้ง แต่แอปฯ หาคู่ที่ชาวไทยใช้กันมากที่สุดกลับเป็นบีทอล์ก (Bee Talk) แอปฯ จากประเทศสิงคโปร์ที่ได้รับความนิยมด้วยฟีเจอร์อันหลากหลาย มีความเป็นคอมมูนิตีคล้ายทินเดอร์ผสมกับไลน์ มีไทม์ไลน์ให้อัพเดทสเตตัสได้ พร้อมด้วยระบบ ‘คลับ’ สำหรับรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้ายกันในละแวกใกล้เคียง และผู้ใช้สามารถแชทกันเป็นกลุ่มได้ไม่ได้มีแต่ระบบการคุยแบบตัวต่อตัวเหมือนทินเดอร์

ถึงบีทอล์กจะคัดสรรผู้คนที่พบเจอให้จากเพศ อายุ และพื้นที่ที่อยู่เท่านั้น ต่างจากทินเดอร์และเฟซบุ๊กเดตติ้ง ซึ่งคำนึงถึงความสนใจที่มีร่วมกันด้วย แต่ด้วยระบบของความเป็นชุมชน รวมถึงใช้ในการอัพเดทข่าวสาร และความบันเทิงอื่นๆ ได้ด้วย รวมถึงจำกัดอายุผู้ใช้ขั้นต่ำเพียง 12 ปี ต่างจากทินเดอร์ที่ต้องมีอายุถึง 18 ปี จึงอาจพูดได้ว่าบีทอล์กยังคงมีจุดขายที่แข็งแรงกว่าทินเดอร์ เพื่อต้องเผชิญกับยักษ์ใหญ่ตัวใหม่จากเฟซบุ๊ก


คนหาคู่ยังกังขา ห่วงเฟซบุ๊กเดตติ้งทำลายความเป็นส่วนตัว

หากมองเผินๆ เฟซบุ๊กเดตติ้งดูจะตอบโจทย์คนอยากหาคู่หลายกลุ่ม และได้รับความสนใจท่วมท้น แต่บางคนที่ใช้แอปฯ หาคู่อื่นๆ มาโดยตลอดยังกังขาถึงความเป็นส่วนตัว แม้เฟซบุ๊กจะเคลมว่า ผู้ใช้สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวแยกออกจากหน้าโปรไฟล์ของตนได้ก็ตาม

นักศึกษาสาววัย 21 ปี ผู้ใช้ทินเดอร์ เล่าถึงประสบการณ์การใช้ทินเดอร์ว่า เธอใช้เพื่อหาเพื่อนเป็นหลัก เพราะไม่รู้สึกว่าจะเข้าหาใครคนที่ยังไม่รู้จักกันดีด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งได้ และเธอเชื่อว่าสามารถหาเพื่อนในทินเดอร์ได้ เพราะผู้ใช้ทินเดอร์ย่อมพร้อมจะทำความรู้จักกันคนใหม่ๆ อยู่แล้ว และระบบของแอปฯ เองก็เหมือนฟิลเตอร์คัดกรองระดับหนึ่งทำให้ได้เจอคนที่มีความสนใจใกล้เคียงกันง่ายกว่าชีวิตจริง

“ชีวิตจริงเราไม่มีฟิลเตอร์ เรารู้จักใครเราก็รู้จักจากคนที่รู้จักอยู่แล้ว การทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ มันไม่ใช่ว่าเราจะเดิน เข้าไปเลย เธอชื่ออะไร สวัสดี อย่างน้อยในทินเดอร์มันไม่รู้สึกแปลกที่จะเป็นเพื่อนกัน”

เมื่อถามถึงความเห็นเรื่องการเข้ามาในวงการแอปฯ หาคู่ของเฟซบุ๊กเดตติ้ง เธอกลับรู้สึกไม่สบายใจกับการทำความรู้จักกันคนแปลกหน้าในเฟซบุ๊ก เพราะรู้สึกว่าเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัวเฉพาะสำหรับเพื่อนที่รู้สึกสบายใจที่จะรู้จักเท่านั้น แต่ทินเดอร์เป็นพื้นที่ๆ แยกออกมาต่างหากในการคัดกรอง เมื่อคุยกันแล้วถูกคอจึงค่อยทำความรู้จักกันต่อในเฟซบุ๊กหรือไลน์ได้

“คุณรู้จักเราแค่นี้ แล้วถ้าเราอยากรู้จักคุณมากขึ้นก็ค่อยคุยต่อ อย่างน้อยเรามีฟิลเตอร์ มีข้อมูลเขียนว่า เราเป็นคนยังไง เขาเป็นคนยังไง มีรูปจากไอจี เฮ้ย คนนี้เจ๋งว่ะ ถ่ายรูปสวย เราก็ทักไปแล้วบอกว่า เรามาจากทินเดอร์นะ มันไม่ดูไม่แปลกเหมือนไปส่องเฟซ แล้วรู้สึกว่า เฮ้ย แอบส่องเฟซเราเหรอ”

เธอจึงยังคงรู้สึกไม่สนใจเฟซบุ๊กเดตติ้ง เพราะต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวในเฟซบุ๊กเอาไว้


000_14H2JQ.jpg

ด้าน ‘ฌอน’ (นามสมมติ) คอลัมนิสต์วัย 26 ปี ระบุว่า มุมมองส่วนตัวมองว่า การหาคู่ของเพศทางเลือกผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่นักเหมือนกับคู่ชาย-หญิง ส่วนใหญ่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างตนมักจะใช้แอปฯ หาคู่ เพื่อหาคู่นอนมากกว่า แต่ก็มีเคสของคนอื่นที่ได้สานสัมพันธ์ต่อ โดยหากเป็นเพศทางเลือก ส่วนใหญ่จะหาแฟนผ่านทินเดอร์ ซึ่งเลือกตัวกรองหาคู่แบบ ชาย-ชาย

“เราไม่ได้ใช้แอปฯ เพื่อหาคู่เท่าไหร่ เราใช้แอปฯ อย่างกรินเดอร์ ซึ่งคิดว่าจุดประสงค์ตรงไปตรงมาดี แต่ก็หวังลึกๆ กับบางคนว่าอาจจะได้คุยสานสัมพันธ์ต่อ”

เมื่อถามถึงการมาถึงของเฟซบุ๊กเดตติ้งฌอนบอกว่า คงยังไม่ทดลองทันที จะรอดูกระแส และฟังก์ชันก่อนว่าเวิร์คไหม และรักษาความเป็นส่วนตัวของตนได้มากแค่ไหน

“ตอนนี้เฟซบุ๊กส่วนตัวมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวเยอะ หากแอปฯ เดตติ้งเข้ามาผูกโยงกับโปรไฟล์เฟซบุ๊กก็คงจะไม่เล่น ซึ่งสำหรับเพศทางเลือกก็มีแอปอื่นๆ ที่สตรองกว่าในด้านการหาคู่นอนรองรับอยู่แล้ว”

ฌอนมองว่า การหาคู่ออนไลน์คือ ทางเลือกหนึ่ง และสุดท้ายการตัดสินใจจะคบกันหรือไม่คือเกิดขึ้นหลังนัดเจอกัน

ในอีกมุมหนึ่งยังมีผู้สนใจฟีเจอร์เฟซบุ๊กเดตติ้งอยู่เช่นกัน ด้วยเหตุผลจากมุมมองที่ต่างออกไป แอดมินเพจสมาคมนิยมหนังหวาน วัย 32 ปี เล่าว่า เธอไม่ได้เจาะจงจะใช้ทินเดอร์หาเพื่อน หรือหาแฟน เพียงแค่ไม่ใช้หาคนมีเซ็กส์ด้วย เพราะมองว่าแอปฯ หาคู่ก็เป็นเหมือนพื้นที่หนึ่งให้ได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆ เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ได้ ไม่ต่างจากการพบกันในผับ หรือร้านหนังสือ

“มันเท่ากันกับความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่นนะ มันเป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้คนอาจจะได้รู้จักกัน แต่เรื่องของความมั่นคงของความสัมพันธ์ การพัฒนาความสัมพันธ์ มันต้องไปทำความรู้จักกันต่ออยู่แล้ว แต่เราเป็นคนไม่เชื่อความสัมพันธ์แบบไม่เจอหน้ากัน เราคิดว่ามันมีบริบทอื่นในชีวิตอีกมากที่เราต้องเรียนรู้กัน”

เมื่อถามความเห็นต่อฟีเจอร์เฟซบุ๊กเดตติ้งเธอตอบว่า สนใจ เนื่องจากในทินเดอร์มักเลือกทำความรู้จักกันจากหน้าตาเป็นลำดับแรก แต่เฟซบุ๊กเดตติ้งมีระบบที่ทำให้คนที่คนที่สนใจอีเวนต์กิจกรรมเดียวกันจับคู่กันได้ การเริ่มความสัมพันธ์จากเรื่องที่สนใจร่วมกันน่าจะดีกว่า เพราะเธอเบื่อหน่ายการต้องคอยไถ่ถามทำความรู้จักกับคนในทินเดอร์

“มันยากกับการเริ่มบทสนทนาว่า ชอบดูหนังไหม? มันน่าเบื่อ ถ้ามันกดเข้าร่วมอีเวนต์เดียวกัน ไปดูละครเวทีเรื่องเดียวกัน ดูคอนเสิร์ต ดูหนังบางเรื่อง อย่างน้อยกเราก็พอจะมองเห็นว่าเขาสนใจอะไรบ้าง คนจะพัฒนาความสะมพันธ์กันนี่จุดร่วมมันก็สำคัญ ไม่ว่าจะพัฒนาไปเป็นเพื่อนหรือพัฒนาไปเป็นแฟน ก็เลยคิดว่ามันก็น่าสนุกดี”

สำหรับเรื่องความเป็นส่วนตัวในการใช้เฟซบุ๊กเดตติ้งเธอมองว่า ฟีเจอร์นี้ไม่ต่างจากการเอาทินเดอร์ไปฝังไว้ในเฟซบุ๊กเป็นอีกส่วนหนึ่ง มีการแยกสัดส่วนกันอยู่ และทินเดอร์ของบางคนเองก็มีการลิงก์กับอินสตาแกรมไม่ได้เป็นส่วนตัว หรือปลอดภัยเท่าไรอยู่แล้ว แต่เธอมองว่าสิ่งที่คนกังวลจริงๆ ไม่ใช่ความเป็นส่วนตัว แต่กลัวการตัดสินจากสังคมต่างหาก

“คนหลายๆ คนคิดว่าการใช้แอปฯ เดตติ้งเป็นเรื่องน่าอาย เฮ้ย อายทำไม คือคุณอยากได้แฟนแต่ก็อายที่จะให้คนอื่นรู้ว่าอยากได้แฟน อะไรอย่างนี้เหรอ มันย้อนแย้งสำหรับเรามาก ทำไมเราจะไม่มีสิทธิสนใจในพาร์ทนี้ของชีวิตวะ สำหรับเรามันไม่ใช่เรื่องน่าอาย การใช้แอปฯ เดตติ้งมันไม่ควรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนมาตัดสินเรา ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองนะว่าเราอายทำไม”

โดยปกติแล้วผู้ใช้หลายคนมักจะกังวลไม่อยากให้คนรู้ว่าใช้แอปฯ หาคู่ เพราะกลัวการถูกมองเป็นผู้หญิงไม่ดี อยากมีผัว หรือต้องการนัดมีเซ็กส์เพียงอย่างเดียว แต่เธอมองว่าการตัดสินจากสังคมที่ทำให้ผู้ใช้แอปฯ หาคู่รู้สึกอายต่างหากที่ต้องถูกตั้งคำถาม

“สำหรับเราไม่มีอะไรจะอาย ใช้ก็ใช้สิ ถ้าเกิดว่าจะมีใครที่เราเจอจากแอปฯ หาคู่แล้วพัฒนาความสัมพันธ์เป็นแฟนได้ ก็ตามนั้น ก็ถือว่าเราไปเจอกันมาจากพื้นที่หนึ่ง แล้วมันต่างกันกับการเดินสะดุดชนกันในร้านหนังสือยังไง ต่างจากการที่คนไปผับหรือนั่งกินข้าวแล้วเจอผู้หญิงหรือผู้ชายที่ตรงสเป็กเขาแล้วเข้าไปทัก ไปขอเบอร์ หรือขอไลน์ยังไง มันไม่ได้ต่างกันเลย ทำไมคนเขาต้องอาย

“ถ้าเกิดว่ากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวก็กังวล แต่ต้องถามตัวเองนะว่ากังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือกลัวคนอื่นรู้ว่าอยากมีแฟน ถ้ากลัวคนอื่นเห็น เราต้องถามตัวเองนะว่าทำไมเรากลัว การอยากมีแฟนมันผิดตรงไหน”

ปัจจุบัน คนไทยจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นใช้งานแอปฯ หาคู่เป็นเรื่องปกติ และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจจาก YouGov เมื่อกลางปีที่ผ่านมาระบุว่า คนไทย 4 ใน 10 คนเคยใช้แอปฯ หาคู่ทางออนไลน์ โดย 47 เปอร์เซ็นต์ คือกลุ่มคนรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม 74 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กวัยรุ่นยังเขินอายที่จะยอมรับว่า ตนพบคนรักจากช่องทางออนไลน์ หรือแอปฯ แม้ว่าคนไทย 1 ใน 3 จะมองว่าการหาคู่ออนไลน์เป็นเรื่องปกติ โดย 49 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยรู้จักคู่รักอย่างน้อย 1 คู่ที่พบกันทางออนไลน์

On Being
198Article
0Video
0Blog