ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างชาติเผยมาเลเซียอาจเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พร้อมเปรียบเทียบกับไทย ซึ่งกำลังพิจารณาปรับแก้กฎหมายยาเสพติด เปิดทางให้ทดลองปลูกกัญชาได้

ซาเวียร์ จายากุมาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำ ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติของมาเลเซีย เปิดเผยกับเว็บไซต์บลูมเบิร์ก ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.ที่่ผ่านมาว่า คณะรัฐมนตรีได้เสนอให้พิจารณาปรับแก้กฎหมายยาเสพติดในประเทศ เพื่อให้รองรับการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ หลังจากที่หลายประเทศแถบตะวันตกบังคับใช้กฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกและจำหน่ายกัญชาเพื่อสันทนาการและการแพทย์ได้แล้วหลายแห่ง 

บลูมเบิร์ก รายงานว่า หากรัฐบาลมาเลเซียมีมติเห็นชอบการปรับแก้กฎหมายเพื่อรองรับการจำหน่ายกัญชาทางการแพทย์ภายในประเทศ จะทำให้มาเลเซียเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในประเด็นดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังจะช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยต่างๆ มากขึ้น เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมียาบรรเทาปวดนอกเหนือจากกลุ่มยาโอปิออยด์ และผู้เป็นโรคลมชักก็สามารถใช้น้ำมันสกัดจากกัญชาบรรเทาอาการได้โดยไม่ต้องกังวลว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

นอกเหนือจากมาเลเซีย ยังมีประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐบาลต่างๆ กำลังพยายามศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ในการปลูกและจำหน่ายกัญชาเพื่อการแพทย์ แต่มาเลเซียแตกต่างจากไทยตรงที่เพิ่งมีคดีเกี่ยวข้องกับกัญชาที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันในสังคมคม คือ กรณีของนายมูฮัมหมัด ลกมาน วัย 29 ปี ซึ่งเพิ่งถูกศาลมาเลเซียลงโทษประหารชีวิตไปเมื่อวันที่ 30 ส.ค. หลังพบหลักฐานว่าเขาครอบครองน้ำมันสกัดจากกัญชา 3.1 ลิตร รวมถึงกัญชาแห้งอีก 279 กรัม

อย่างไรก็ตาม นายมูฮัมหมัด ยืนยันว่าเขาจััดหา ครอบครอง และแจกจ่ายกัญชาให้ผู้ป่วยใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนกว่า 60,000 คนร่วมกันลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้ทางการมาเลเซียพิจารณายกเลิกโทษประหารแก่นายมูฮัมหมัด

AP-กัญชา-cannabis-THC

กลุ่มผู้เรียกร้องเสนอให้รัฐบาลมาเลเซียทบทวนกฎหมายควบคุมยาเสพติด ให้พิจารณาถึงสาธารณประโยชน์ของการใช้กัญชาเพื่อเป้าหมายทางการแพทย์ รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากกัญชา โดยเสนอให้ศึกษาตัวอย่างจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งกำลังจะพิจารณามาตรการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพกัญชาเพื่อการแพทย์

แม้ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวไปแล้ว โดยระบุว่า ผลการศึกษาวิจัยที่อ้างว่ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ไม่มีหลักฐานสนับสนุนที่เพียงพอ แต่ท่าทีของรัฐบาลดูจะเปลี่ยนไปเมื่อมีเสียงเรียกร้องจากประชาชน

ส่วนความเคลื่อนไหวในประเทศไทยล่าสุด คือ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ระบุว่าเริ่มมีความคืบหน้าในการพิจารณาเนื้อหาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 และนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แทน โดยโฆษกวิป สนช. ระบุว่า แนวคิดนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ร่างพ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด และร่าง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลฯ รวมสามฉบับ การพิจารณาค่อนข้างช้า และมีรายละเอียดมาก แต่ละประเด็นยังมีความเห็นต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม นพ.เจตน์ เป็นห่วงว่า ร่างกฎหมายอาจพิจารณาไม่ทันในสมัยนี้ จึงอาจจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาใช้มาตรา 44 เร่งรัดขั้นตอนในการพิจารณากฎหมาย โดยย้ำว่ายังมีผู้ป่วยอีกมาที่รอตัวยาทางการแพทย์

ที่มา: Bloomberg/ Channel News Asia

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: