ประวัติศาสตร์อันยาวนานของ ‘ปรินซ์รามา’ เกิดจากการเป็นสถานที่ตั้งของ ‘โรงบ่อนเบี้ยบางรัก’ แหล่งการพนันชั้นเยี่ยมในสังคมไทย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2451 บนที่ดินทรัพย์สินส่วนพระองค์ ก่อนรัฐบาลจะประกาศการยกเลิกโรงบ่อนเบี้ยทั่วสยามในวันที่ 1 เมษายน 2460 จากนั้นผู้เช่าอาคารต่อไปประกอบกิจการโรงภาพยนตร์ก็คือ บริษัทภาพยนต์พัฒนากร และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ ‘ปรินซ์รามา’ ดูเหมือนกำลังเล่นซ่อนหาอยู่ในซอกลับตาคน
เดิมที ‘ปรินซ์รามา’ เป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนของกรุงเทพฯ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดคโค (Art Deco) ก่อนพฤติกรรมของผู้ชมจะเปลี่ยนแปลงไป จนสถานบันเทิงที่เคยรุ่งเรืองต้องปิดกิจการ และกลายเป็นเพียงอดีตที่หลายคนอาลัยอาวรณ์ ส่งผลให้ตัวอาคารสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลา และเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านในเวลาต่อมา
“วันก่อนอาม่าร้านปั้นลี่ (ต้นตำรับเบเกอรีเจ้าแรกๆ ในไทย) เดินมาบอกว่า เคยมาดูหนังที่นี่ตั้งแต่อายุ 13 ปัจจุบันอายุ 80 กว่า นั่นแสดงให้เห็นว่า 70 ปีก่อน ที่นี่ยังเป็นโรงหนังอยู่” จิตติพันธ์ ศรีกสิกรณ์ ชายผู้ถูกขนานนามว่า ‘มิสเตอร์โฮสเทล’ และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ ปรินซ์ เธียร์เตอร์ เฮอริเทตจ สเตย์ กล่าวขณะพาชมสถานที่
ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกำลังกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากได้รับการบูรณะให้เป็นโครงการโรงแรมขนาดเล็กในชื่อ ‘ปรินซ์ เธียร์เตอร์ เฮอริเทตจ สเตย์’ (Prince Theatre Heritage Stay) โดยบริษัทมนทาระ โฮลดิ้งส์ จำกัด
บริเวณกลางโถงกว้างชั้น 1 ประกอบด้วยจอฉายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ พร้อมม่านกำมะหยี่สีแดงสดสุดคลาสสิก นิทรรศการขนาดย่อม และเลาจ์ที่นำเสนอเครื่องดื่มสูตรพิเศษ ซึ่งได้รับแรงบันดาลจากภาพยนตร์ดังในยุคต่างๆ ส่วนบนชั้น 2 เป็นห้องพักที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จำนวนทั้งสิ้น 26 ห้อง แบ่งออกเป็น 4 แบบ ซึ่งใช้ธีมการตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์แตกต่างออกไป แต่กลิ่นอายเหมือนการพักผ่อนอยู่ในโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก
“หลังจากชนะการประมูลเราก็เข้ามาเก็บกวาดทำความสะอาด เพื่อศึกษาโครงสร้างเดิมของอาคารว่า ส่วนไหนสามารถใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ และโชคดีที่ป้ายชื่อของโรงหนังยังอยู่ แล้วเราก็ได้นำเสนออัตลักษณ์ใหม่ที่คงออริจินัลดีไซน์บางส่วนไว้” จิตติพันธ์กล่าว
นอกจากการดีไซน์ที่เก็บทุกรายละเอียดแล้ว คอนเซปต์หลักของการรีโนเวตเน้นไปที่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับผู้คนในมุมมองที่ต่างออกไป เช่น กิจกรรมฉายภาพยนตร์ พาเดินชมจุดน่าสนใจในชุมชน และชิมอาหารขึ้นชื่อ
“เนื่องจากการบูรณะต้องพยายามหาหลักฐานให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราไปค้นหาแปลนจากกรมโยธาธิการ เพราะไปหาที่เขตบางรักแล้วไม่พบ แต่แปลนของกรมโยธาธิการก็ไม่ตรง เพราะสถานที่เปลี่ยนแปลงตามการใช้งานอยู่ตลอด และเมื่อเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างเดิมก็พบว่า เสาเดิมเป็นไม้พุพัง บางต้นไม่มีฐานราก จนทำให้ต้องปรับปรุงฐานรากอาคารใหม่หมด” กรรมการผู้จัดการเล่าให้ฟัง
ขณะเดียวกันนิทรรศการขนาดย่อยก็แสดงให้เห็นหลักฐานว่า ปรินซ์รามาเคยเช่าภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องโรสแมรี เบบี้ (Rosemary's Baby) ของโรมัน โปลันสกี (Roman Polanski) ผู้กำกับสัญชาติโปแลนด์ระดับตำนาน จากบริษัท ซินิมา อินเตอร์เนชันแนล เข้ามาฉาย ตามมาด้วยภาพยนตร์โป๊สุดคลาสสิกเรื่องนาซี เลิฟ แคมป์ (Nazi Love Camp)