ไม่พบผลการค้นหา
กรมสุขภาพจิต เปิดให้บริการ 'อาชาบำบัด' ที่รพ.จิตเวชสระแก้วฯ เพิ่มทางเลือกฟื้นฟูพัฒนาการเด็กที่เป็นออทิสติก เผยเด็กไทยวัย 2-5 ขวบป่วยโรคนี้เกือบ 20,000 คนทั่วประเทศ แต่เข้าถึงบริการเพียง 1 ใน 3 ตั้งเป้าภายใน 2564 จะเพิ่มให้ได้ร้อยละ 50

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้คือการเข้าถึงบริการของเด็กที่ป่วยเป็นโรคจิตเวช ทำให้เด็กเป็นผู้พิการทางจิตใจและสติปัญญา ที่สำคัญคือโรคออทิสติก(Autism)โรคนี้เกิดจากความปกติของสมองตั้งแต่ในครรภ์ ไม่ได้เกิดมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เด็กจะมีความบกพร่องในด้านพัฒนาการการพูด การสื่อสาร ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจที่เป็นแบบแคบจำกัดหรือซ้ำๆ คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กอายุ 2-5 ขวบเป็นออทิสติก 18,220 คน แต่เข้าถึงบริการในปี 2560 เพียงร้อยละ 35 

อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มียารักษาออทิสติกหายขาด แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เด็กมีอาการรุนแรงขึ้น โดยกรมสุขภาพจิตได้จัดระบบการรักษาและฟื้นฟูด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันคือใช้ยาควบคุมอาการ และมี ห้องสนูซีเลนเพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสของเด็ก มีบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และได้นำการฟื้นฟูแนวการแพทย์ทางเลือกคืออาชาบำบัด( Hippotherapy) โดยใช้ม้า ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ขณะนี้มีบริการที่สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ ล่าสุดคือที่โรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชสระแก้วฯ เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 เป็นต้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ปกครอง สามารถใช้เสริมประสิทธิภาพกันได้ทั้ง 2 ระบบ 

ทั้งนี้เด็กที่เป็นออทิสติก ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี เด็กจะเติบโตและมีพัฒนาการเหมือนเด็กปกติทั่วไป โดยพัฒนาการจะเริ่มผิดปกติปรากฎให้เห็นในช่วงย่างเข้าขวบปีที่ 2 เด็กจะพูดช้า สื่อสารไม่ได้ วิธีการที่จะช่วยให้เราค้นหาว่าลูกหลานป่วยเป็นโรคออทิสติกได้เร็วที่สุดมี 2 วิธี วิธีแรกคือการเฝ้าระวังพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องพาลูกที่มีอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือนและ 42 เดือน ไปตรวจพัฒนาการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน วิธีที่ 2 คือการสังเกตความผิดปกติของเด็กจากลักษณะเด่น 4 อาการที่เป็นสัญญาณเฉพาะของเด็กออทิสติก คือ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง โดยเด็กที่เป็นออทิสติกร้อยละ 70 มักจะซนมาก อยู่ไม่นิ่ง หากพบอาการที่กล่าวมาแม้เพียง 1 อาการ ขอให้รีบพาไปที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทั่วประเทศ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323  โดยกรมสุขภาพจิตตั้งเป้าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของเด็กออทิสติกภายในปี 2564 ให้ได้ไม่ต่ำกว่า ร้อยละ50 

ทางด้านแพทย์หญิงจุฬาพันธุ์ เหมกูล ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชสระแก้วราชนครินทร์ จ.สระแก้ว กล่าวว่า โปรแกรมบำบัดฟื้นฟูเด็กออทิสติกด้วยอาชาบำบัด เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2561 เป็นต้นมา เป็นบริการทางเลือกใหม่ในการช่วยเหลือเด็กออทิสติกในพื้นที่ภาคตะวันออก และยังสามารถใช้ฟื้นฟูเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น และเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้าได้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากม้าเป็นสัตว์ที่ฉลาด และมีจังหวะการเดินคล้ายกับคน สามารถสื่อสารรับรู้ความรู้สึกของผู้ขี่ได้ ดังนั้นเมื่อเด็กนั่งอยู่บนหลังม้าก็เหมือนกับเด็กได้ฝึกเดินด้วยตนเอง และการทำกิจกรรมบนหลังม้า จะช่วยฟื้นฟูสรรถภาพร่างกาย กล้ามเนื้อมัดใหญ่ มัดเล็ก ทำงานได้ดียิ่งขึ้น 

แพทย์หญิงจุฬาพันธุ์กล่าวต่อว่า เมื่อม้าเดินเคลื่อนที่ เด็กจะเริ่มตื่นตัว มีสมาธิ ช่วยจัดระเบียบร่างกายให้สมดุล ทำให้การทรงตัวของเด็กดีขึ้น เมื่อฝึกไปเรื่อยๆ เด็กก็จะมีสมาธิยาวขึ้น เด็กที่มีปัญหาด้านการพูดก็จะถูกกระตุ้นจากการที่ต้องออกคำสั่งกับม้า เด็กจึงได้ฝึกเรื่องการควบคุมอารมณ์ไปในตัว ลดความก้าวร้าว มีพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจดีขึ้น รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กล้าพบปะผู้คน สามารถใช้ชีวิตในสังคมดีขึ้น โดยทั่วไปเด็กออทิสติกที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูประมาณ 1 ใน 3 สามารถพึ่งพาตนเองได้พอสมควร ต้องการเพียงคำชี้แนะจากผู้ดูแลเป็นระยะเท่านั้น อีกร้อยละ 1-2 พึ่งพาตนเองได้เต็มที่ สามารถประกอบอาชีพ เลี้ยงตัวเอง ดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ ส่วนอีก 2 ใน 3 ต้องพึ่งพิงผู้ดูแลบางส่วน โดยผู้ปกครองที่สนใจอาชาบำบัด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลข 037-262995 ต่อ 69137 ในวันและเวลาราชการ

ขอบคุณภาพ : unsplash