ไม่พบผลการค้นหา
เมียนมา ประเทศที่เคยส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก กำลังเริ่มกลับสู่เส้นทางของการทวงบัลลังก์คืน นอกจากการพัฒนาสายพันธ์ุข้าวที่มีญี่ปุ่นช่วยเหลือ ชาวนาเมียนมาตอนนี้ยังเริ่มใช้แอปพลิเคชั่นช่วยในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ รู้เท่าทันดินฟ้าอากาศและศัตรูพืช

เมียนมาก็หมือนกับไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการทำนาเป็นอาชีพหลักของคน 2 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ แต่ชาวนา กระดูกสันหลังของชาติ กลับไม่เคยร่ำรวย ในทางตรงกันข้าม พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในประเทศ เผชิญปัญหาจากภัยธรรมชาติ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ และหนี้สินไม่รู้จบ แต่ตอนนี้ สถานการณ์ในเมียนมากำลังเริ่มเปลี่ยนไป

Green Way แอปพลิเคชั่นฟรีในโทรศัพท์มือถือของซาน ซาน ลา ชาวนาวัย 35 ปีในหมู่บ้านเอย์วาร์ ทางตอนใต้ของย่างกุ้ง คือพลังที่ช่วยให้ชาวนาสามารถก้าวพ้นจากวงจรเดิมๆ เธอสามารถเอาชนะความแปรปรวนของสภาพอากาศ และศัตรูพืชที่เข้ามาทำลายพืชผลการเกษตรได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ก่อนหน้านี้ซาน ซาน ลา ทำนาแบบที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำมานับร้อยปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เมื่อเริ่มใช้แอปฯ เธอก็สามารถทำนาได้อย่างมีความรู้และเทคนิคเพิ่มขึ้น ผ่านการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในฟอรัมของแอปฯ ซึ่งเธอยอมรับว่าการมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ทำให้การทำนาไม่ใช่เพียงการทำงานเหมือนคนตาบอดคลำทางอีกต่อไป

ซาน ซาน ลา เป็นหนึ่งในชาวนาจำนวนไม่น้อยในเมียนมาที่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำการเกษตร โดยแอปฯที่บอกทุกอย่างตั้งแต่พยากรณ์อากาศ ปริมาณน้ำฝน การใช้สารเคมีและปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ไปจนถึงราคาสินค้าเกษตรประจำวัน นอกจากนี้ยังมีฟอรัมให้ชาวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาด้วย

000_Z32SG.jpg

หลายสิบปีที่ผ่านมา การทำนาเป็นอาชีพที่ยากจนและปราศจากองค์ความรู้ รวมถึงไม่มีการช่วยเหลือใดๆจากภาครัฐ เนื่องจากเมียนมาปิดประเทศอยู่ใต้เผด็จการทหาร ถูกคว่ำบาตรจากโลกภายนอก แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปหลังการเริ่มต้นเปิดประเทศสู่เสรีประชาธิปไตยในยุครัฐบาลนายเต็ง เส่ง มาจนถึงยุคของนางอองซาน ซูจี 

Green Way โครงการเล็กๆของอดีตนักศึกษาด้านการเกษตรชาวเมียนมา 2 คน เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2011 ในลักษณะเว็บไซต์เพื่อการเกษตร แต่ในตอนนั้นชาวนาเกือบทั้งหมดในเมียนมาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอินเทอร์เน็ตคืออะไร อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปเพียง 4 ปี การเข้ามาของสมาร์ทโฟนราคาถูกจากจีนได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง อัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนเพิ่มจาก 7% ในปี 2012 มาเป็นกว่า 80% ในปี 2017 ส่วนราคาซิมการ์ดในเมียนมาเองก็ขยับจาก 3,000 ดอลลาร์ในปี 2005 มาเป็น 1.5 ดอลลาร์ หรือเพียง 45 บาทในปี 2013 และปัจจุบัน ซิมการ์ดแทบจะกลายเป็นของแจกฟรี 

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ทำให้ Green Way เริ่มต้นทำแอปพลิเคชั่น เพื่อให้การเข้าถึงประชาชนทำได้ง่ายขึ้น และตอนนี้สามารถขยายกิจการจนมีลูกจ้าง 18 คน พัฒนาแอปฯสำหรับเกษตรกรกว่า 70,000 คนที่ใช้งานแอปฯนี้เป็นประจำ ไม่นับเกษตรกรรายอื่นๆอีกมากที่ได้รับข้อมูลจากแอปฯผ่านการส่งต่อระหว่างเครือข่ายชาวนาด้วยกันทางสมาร์ทโฟน

000_Z32SC.jpg

ปัจจุบัน การเกษตรคิดเป็นเพียง 28% ของจีดีพีเมียนมา ทั้งที่เป็นอาชีพของคนกว่าค่อนประเทศ แต่เมียว มิ้นท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรของเมียนมา ยอมรับว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำนา จะช่วยพลิกโฉมทั้งเศรษฐกิจและสังคมเมียนมาได้ ปัจจุบันคนเมียนมาจำนวนมากไปทำงานในต่างแดน เช่นในไทย เพราะพวกเขาไม่สามารถเลี้ยงชีพได้จากการทำนา ซึ่งอาจได้เงินเพียงวันละ 60 บาท ผลผลิตก็ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย เวียดนาม และกัมพูชา แต่การใช้แอปฯจะช่วยให้ชาวนาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ และทำให้กิจการของตัวเองมีกำไรมากขึ้น จนกลายเป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวได้จริง ไม่ต้องพึ่งพาการหางานทำในต่างแดนหรือรับจ้างในเมืองใหญ่อีกต่อไป

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช