ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรยืนยันศาลฎีกามีคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่ 'ซี.พีและแบงก์ทหารไทย' กรณียกเลิกสัญญาส่งมอบกล้ายาง 2 งวดสุดท้ายล่าช้า เพียง 365 ล้านบาท ไม่ใช่ 1.7 พันล้าน ด้าน ซี.พี. ย้ำเป็นเงินเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีคดีกล้ายางล้านไร่ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กรมวิชาการเกษตรชำระเงิน ให้แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด (ธุรกิจในเครือ ซี.พี.) จำนวนเงิน 365 ล้านบาท แต่มีกระแสข่าวระบุว่า กรมวิชาการเกษตรต้องจ่ายค่าเสียหายจากโครงการกล้ายางล้านไร่ให้เอกชนสูงถึง 1.7 พันล้านบาทนั้น

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ชี้แจงว่า จากคำพิพากษาของศาลฎีกามีคำสั่งให้กรมวิชาการเกษตรชำระเงินแก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะโจทก์ และธนาคารทหารไทย ในฐานะโจทก์ร่วม รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 365 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน

1) ชำระเงินให้แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นค่าเสียหายจากการผลิตต้นกล้ายาง เป็นเงิน 127.8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ 

2) ชำระค่าต้นกล้ายางชำถุงบางส่วนของงวดที่ 11 ที่ได้รับมอบไว้ให้ธนาคารทหารไทย ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเงิน 83.8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ส.ค. 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมีค่าดอกเบี้ยถึงวันฟ้องสำนวนแรกไม่เกิน 6.8 ล้านบาท 

กล้ายาง

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2546 ที่อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการโครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ระยะที่ 1 (ปี 2547-2549) พื้นที่ 36 จังหวัด จำนวน 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แสนไร่ และภาคเหนือ 3 แสนไร่ แบ่งระยะดำเนินการเป็น 3 ปี และใช้เงินจากโครงการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) จำนวน 1,440 ล้านบาท ผลิตต้นยาง 90 ล้านต้น 

ขณะเดียวกัน มอบหมายให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ใช้รายได้จากค่าธรรมเนียมส่งออกยาง (CESS) ชำระคืน คชก. ในระยะเวลา 10 ปี ต่อมากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างเหมาผลิตต้นกล้ายางชำถุง ซึ่งในปี 2546 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 1,397.7 ล้านบาท จึงได้ทำสัญญาจ้างผลิตต้นกล้ายางชำถุงกับบริษัทดังกล่าว โดยมีธนาคารทหารไทยทำหนังสือค้ำประกัน พร้อมกับกำหนดส่งมอบต้นยางชำถุงแบ่งเป็น 12 งวด

โดยกรมวิชาการเกษตรจะจ่ายค่าจ้างเมื่อบริษัทฯ ส่งมอบต้นกล้ายางชำถุง และผ่านคณะกรรมการตรวจรับทำการตรวจรับเรียบแล้ว ตามมาตรฐานการผลิตต้นกล้ายางชำถุง ที่กำหนดในรายละเอียดเงื่อนไขการจ้างเหมาในแต่ละงวด ภายหลังทำสัญญาจ้างบริษัทฯ ได้ส่งมอบต้นกล้ายางชำถุงงวดที่ 1-10 รวม 67.5 ล้านต้น เป็นเงิน 1,087.8 ล้านบาท ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ใช้เงิน คชก. ชำระครบถ้วนแล้ว 

แต่เนื่องจากในงวดที่ 11 มีการส่งมอบต้นกล้ายางชำถุง เพียงบางส่วน คือจำนวน 6,355,611 ต้น ซึ่งคณะกรรมการตรวจรับได้ตรวจรับแล้ว แต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ เนื่องจากการส่งมอบไม่ครบถ้วนตามสัญญางวดที่ 11 และทางบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องมายังกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอเลื่อนการส่งมอบต้นกล้ายางชำถุงในงวดที่ 11 และ 12 แต่ในท้ายที่สุดก็ไม่ได้มีการขยายระยะเวลาการส่งมอบต้นกล้ายางชำถุงตามที่บริษัทฯ ร้องขอแต่อย่างใด 

กระทั่งต่อมากรมวิชาการเกษตรได้บอกเลิกสัญญาดังกล่าว เป็นเหตุให้บริษัทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายในการบอกเลิกสัญญาต่อศาล ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ กรมวิชาการเกษตรชำระเงิน แก่บริษัทดังกล่าวในฐานะโจทก์ และธนาคารทหารไทยในฐานะโจทก์ร่วมเป็นเงินรวมประมาณ 365 ล้านบาทดังที่กล่าวถึงข้างต้น 

ขณะที่ นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ทีวี' ว่า ทุกอย่างจบตามที่ศาลได้ตัดสินแล้ว ส่วนเรื่องค่าเสียหายถือเป็นปลายเหตุ เพราะโครงการนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากว่า 10 ปี และ ซีพีก็ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง 


"ค่าเสียหาย 365 ล้านบาท กรมวิชาการเกษตรชำระเงินให้แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำก���ด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นยังไม่เห็นหนังสือ หรือ มีคนจากกรมวิชาการเกษตรมาเจรจาต่อรองแต่อย่างใด" นายขุนศรีกล่าว

ทั้งนี้ โครงการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 และดำเนินการมาต่อเนื่อง จนถึงช่วงรอยต่อที่เกิดปฎิวัติรัฐประหาร มีปัญหาเรื่องการต่อสัญญาการส่งมอบ และ เกิดการตรวจสอบ ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ หรือ คตส. มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน การทุจริตในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่กรมวิชาการเกษตร ต้องจ่ายค่าเสียหายโครงการกล้ายาง 1 ล้านไร่ ให้แก่เอกชนตามคำสั่งศาล ว่า ล่าสุดได้สั่งการให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในฐานะคู่สัญญาตามกฏหมายไปเจรจากับบริษัทเอกชนเพื่อขอลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายตามคำสั่งศาล ซึ่งหากทางบริษัทยินยอมก็จะได้นำมาวางศาลและให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไปตั้งในงบประมาณรายจ่ายปี 2562 และ 2563 เพื่อชดเชยตามคำสั่งศาล พร้อมกับสั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริง เพื่อหาผู้รับผิดทางละเมิดด้วย