ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยเตือนผู้ผลิตหุ่นยนต์ทางเพศ หรือ 'เซ็กส์บอต' ที่สั่งการโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) "อย่าโฆษณาเกินจริง" เพราะยังไม่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า หุ่นยนต์เซ็กส์บอตช่วยลดปัญหาข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศเด็กได้จริง

บริษัทเรียลบอตทิกซ์ ผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศของสหรัฐฯ วางจำหน่ายเซ็กส์บอตเลียนแบบผู้หญิงชื่อ 'ฮาร์โมนี' เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ในราคาตัวละกว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 495,000 บาท ทั้งยังมีแผนจะพัฒนาหุ่นยนต์เลียบแบบเพศชาย 'เฮนรี' วางจำหน่ายในสหรัฐฯ ปีนี้เช่นกัน แต่สูตินรีแพทย์ในอังกฤษ เผยแพร่คำเตือนผ่านวารสารด้านการแพทย์ บ่งชี้ว่ายังไม่การศึกษาใดๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เซ็กส์บอตมีประสิทธิภาพตามที่บริษัทผู้ผลิตเซ็กส์บอตพยายามโฆษณาแอบอ้าง

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานว่า หลายบริษัทสร้างเซ็กส์บอตเลียนแบบผู้หญิง โดยใช้วัสดุต่างๆ ที่ทำให้คล้ายคนจริงมากที่สุด ทั้งยังออกแบบให้เซ็กส์บอตสามารถสนทนาตอบโต้หรือจดจำข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน เช่น วันเกิดหรือคำคมที่ชอบ โดยใช้ระบบประมวลผลโดยปัญญาประดิษฐ์ และบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาความโดดเดี่ยวของผู้ที่มีความบกพร่องด้านการเข้าสังคม แต่ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มทักษะของผู้หวาดกลัวการสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงลดสถิติการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก

อย่างไรก็ตาม 'ซูซาน บิวลีย์' และ 'ชองตาล ค็อกซ์ จอร์จ' สูตินรีแพทย์และนักวิจัยจากวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ทำการสำรวจค้นคว้าผลงานที่เกี่ยวกับประสิทธิผลของการ��ช้เซ็กส์บอตในการแก้ปัญหาทางสังคม แต่ไม่พบการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบใดๆ ทั้งสิ้น แต่เซ็กส์บอตที่ถูกพัฒนาขึ้นช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เฉพาะหุ่นของบริษัทเรียลบอตทิกซ์ กลับพยายามอวดอ้างสรรพคุณของหุ่นยนต์ทางเพศเหล่านี้เกินความเป็นจริง

หุ่นยนต์-เซ็กส์บอต-เซ็กส์ทอย-ตุ๊กตายางเอไอ

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเซ็กส์บอตยังพยายามตอบสนองจินตนาการทางเพศของผู้ที่มีรสนิยมสุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอารมณ์ทางเพศกับเด็ก หรือผู้ที่มีอารมณ์กับการข่มขืนผู้อื่น และเซ็กส์บอตที่มีฟังก์ชั่นใช้งานเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้ใช้งานเหล่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนจริงๆ โดยเฉพาะทัศนคติเรื่องความยินยอมพร้อมใจ และไม่สามารถบอกได้ว่าเซ็กส์บอตจะช่วยเรื่องการแก้ปัญหาใช้ความรุนแรงทางเพศได้จริงหรือไม่

ขณะที่เดอะเทเลกราฟรายงานอ้างอิงคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช ระบุว่าการแก้ปัญหาด้านความสัมพันธ์ รวมถึงปัญหาความโดดเดี่ยวในกลุ่มประชากรในเขตเมือง จะต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่เมื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นสื่อกลางที่คนจำนวนมากใช้เป็นพื้นที่รับรู้และติดตามข้อมูลข่าวสาร ยิ่งส่งผลให้คนจำนวนมากมีภาวะโดดเดี่ยวหรือรู้สึกผิดกับตัวเองมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เสพสื่อจะต้องเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ภาพหรือข้อมูลที่บุคคลหนึ่งเผยแพร่ให้เห็นในสื่อออนไลน์ อาจจะไม่ใช่ความเป็นจริงในชีวิตเสมอไป

ส่วนผู้ที่ทำงานอยู่กับบ้าน ต้องหาเวลาออกไปพบปะผู้คนอื่นๆ นอกบ้าน รวมถึงออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด และส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เพราะปัจจัยเหล่านี้ได้รับการวิจัยและทดสอบแล้วว่าจะช่วยพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมของบุคคลได้มากขึ้น ในขณะที่การใช้หุ่นยนต์ทางเพศไม่ช่วยพัฒนาทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: