ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงศึกษาธิการ ปัดแก้กฎกระทรวงกำหนดความประพฤตินักเรียน - นศ. สกัดช่องทางเคลื่อนไหวทางการเมืองกระทบความมั่นคง ยันปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้น ขณะที่ เพนกวิน ออกมาคัดค้านการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว โดย สนท.เตรียมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือถึงผู้บริหาร ศธ.

นายชลำ อรรถธรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยัน การแก้ไขประกาศกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ ...) ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากประเด็นการเมืองและความมั่นคง แต่เกิดจากพระราชกฤษฎีกาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ.2558 กำหนดให้ทุกหน่วยงานรัฐทุกแห่ง รื้อกฎหมายที่มีความล้าสมัยมาปรับแก้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ซึ่ง "ประกาศกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา" เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 รวมทั้งมีผู้ทักท้วงว่า กฎกระทรวงฯ ฉบับเดิม ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนไป

ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎกระทรวงฯ อาจนำมาใช้จัดการนักเรียนและนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารนั้น โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า พฤติกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคง หรือ คำสั่ง คสช. มากกว่า เพราะจุดประสงค์ของร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้มุ่งไปที่พฤติกรรมอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน พฤติกรรมชู้สาว-ลามกอนาจาร และการเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือนร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น 

ส่วนบทลงโทษนักเรียนและนักศึกษา กรณีกระทำความผิดตามร่างกฎกระทรวงฯ ไม่ถึงขั้นไล่ออก หรือส่งผลต่อคดีอาญา เพราะตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ข้อ 5 ระบุการลงโทษไว้ 4 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ด้าน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วย กับ กฎกระทรวงศึกษาธิการฉบับบใหม่ ที่ครม. ให้ความเห็นชอบ อยู่ระหว่างการส่งไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งได้แก้ไขการห้ามเที่ยวเตร่ หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมที่ห้ามเฉพาะเวลากลางคืน เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า "เวลากลางคืน" ออก

และจากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่ โดยตัดคำว่า "ในที่สาธารณะ"ออกไป รวมทั้งห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุม อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน" ที่เพิ่มเติมเข้ามาด้วย

นายพริษฐ์ มองว่า การที่ ครม.เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นเพราะ คสช.อยากทำแต้ม สร้างภาพว่าได้มีผลงานด้านการศึกษาออกมาบ้างเท่านั้น แต่ยิ่งจะไม่ถูกถือเป็นผลงานและยิ่งจะสร้างความอึดอัดให้กับครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษา ซึ่งสถานศึกษาต้องออกระเบียบมารองรับ ที่สำคัญนอกจากผู้เกี่ยวข้องไม่ได้มีส่วนร่วมแล้ว การออกกฎที่กำกวม คลุมเครือและให้การใช้ดุลพินิจชี้ถูก-ผิดเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือในการบังคับ ข่มขู่ผู้เรียนเท่านั้น 

"วันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.) ในนามสหภาพ นักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท.จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลา 09.00 น. เพื่อคัดค้านการออกกฎดังกล่าวด้วย" นายพริษฐ์ ระบุ

ขณะที่ เฟซบุ๊ก เพจ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) เผยจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีผ่าน รมว.ศึกษาธิการ กรณีร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงยกเลิกร่างกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว และใหัความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพและความเป็นเจ้าของชีวิตของตน ในตัวนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้โปรดตระหนักว่า นักเรียนและนิสิตนักศึกษาคือผู้ที่จำต้องแบกรับผลจากการดำเนินกิจการทั้งปวงของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิก���ร

"ร่างกฎกระทรวงดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการศึกษาเรียนรู้ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เนื่องจากมีข้อบัญญัติซึ่งรุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง อีกทั้งมีเนื้อความความหมายกำกวม สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นเครื่องมือสำหรับปิดกั้นสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพทางการแสดงออกของนักเรียน นิสิต นักศึกษา" สนท. ระบุ