ไม่พบผลการค้นหา
'กูเกิล' จัดทำลายเส้นดูเดิลรำลึกถึง 'ยาขอบ' นักเขียนชื่อดังของไทย ในวาระครบรอบ 111 ปี วันคล้ายวันเกิด พร้อมยกย่องยาขอบเป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลของไทยช่วงกลางศตวรรษที่ 20

นิตยสารไทม์และเว็บไซต์กูเกิล แหล่งสืบค้นข้อมูลออนไลน์ จัดทำดูเดิลรำลึกถึง 'โชติ แพร่พันธุ์' เจ้าของนามปากกา 'ยาขอบ' ในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย โดยสื่อต่างประเทศกล่าวถึงผลงานโด่งดังที่สุด 'ผู้ชนะสิบทิศ' ว่าเป็นเรื่องราวความรักและการสู้รบ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้อ่านชาวไทยในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ทั้งยังถูกนำไปตีพิมพ์ใหม่ และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์อีกหลายครั้ง

กูเกิลระบุว่า 'ยาขอบ' เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2450 ซึ่งในช่วงวัยเด็กประสบความยากลำบาก แต่ภายหลังก็สามารถเป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อแวดวงวรรณกรรมไทยได้ เป็นทั้งนักเขียน คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งได้รับการยกย่องจากคนในแวดวงในยุคนั้น

Jacob-ยาขอบ-กูเกิลดูเดิล-jpg.jpg

(ลายเส้นกูเกิลดูเดิลอื่นๆ ที่กูเกิลออกแบบเนื่องในวันครบรอบ 111 ปี 'ยาขอบ')

ขณะที่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เผยแพร่ประวัติของยาขอบ โดยระบุว่า 'โชติ แพร่พันธุ์' เกิดในครอบครัวที่มีพื้นเพดี เพราะเป็นบุตรของเจ้าอินทร์แปลง ทายาทของเจ้าเมืองแพร่ และมารดาชื่อ 'จ้อย' ซึ่งเป็นต้นห้องของหม่อมเฉื่อย พระมารดาของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เมื่อยังเด็กถูกส่งเข้าเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่เมื่อถึงชั้นมัธยม 4 เกิดทะเลาะกับครูประจำชั้นจึงเลิกเรียน 

ช่วงวัยหนุ่มโชติหนีออกจากบ้าน และเริ่มทำงานต่างๆ หลากหลาย จนกระทั่งเข้าทำงานหนังสือพิมพ์ในปี 2472 และได้รับการผลักดันให้เขียนหนังสือโดย 'กุหลาบ สายประดิษฐ์' นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญอีกคนหนึ่งช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475 ซึ่งกุหลาบเป็นผู้ตั้งนามปากกา 'ยาขอบ' ให้โชติ โดยตั้งตามชื่อ 'W. W. Jacobs' นักเขียนแนวตลกชื่อดังชาวอังกฤษ

ผลงานเรื่องแรกของโชติที่ใช้นามปากกา 'ยาขอบ' คือเรื่องสั้นชื่อว่า 'จดหมายเจ้าแก้ว' หลังจากนั้นจึงได้เขียนนิยายดัดแปลงพงศาวดารพม่าเรื่อง 'ยอดขุนพล' และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น 'ผู้ชนะสิบทิศ' โดยตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ 'สุภาพบุรุษรายปักษ์' เป็นเวลานาน 4 ปี และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้อ่านทั่วประเทศ

แต่ยังไม่ทันเขียนผู้ชนะสิบทิศจนจบ โชติก็ล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังและวัณโรคเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2499 ขณะมีอายุได้ 51 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: