ลักขณา ปันวิชัย นักเขียนและนักวิจารณ์ เจ้าของนามปากกา "คำ ผกา" เป็นตัวแทนสมาชิกเริ่มต้นกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์ของกลุ่มแคร์ (CARE) ในวันเปิดตัววันที่ 17 มิ.ย.2563 ว่า ไม่มีครั้งใดที่โลกจะเรียกร้องประชากรของมันมากเท่ากับวันนี้ วันที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ก่อให้เกิดความอัตคัดขัดสน ซึ่งจะส่งผลกระทบลึกยาวนาน แผ่ขยายเป็นวงกว้างกว่าทุกครั้งที่มนุษยชาติเคยเผชิญและซ้ำร้ายยังเกิดในห้วงเวลาที่ประเทศไทยตกต่ำ อ่อนแอในแทบทุกมิติ
คำถามใหญ่ในสังคมไทยวันนี้ คือประเทศไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรกัน เพราะวันนี้ประเทศไทยเหมือนตกอยู่ในกับดักที่ไร้ทางออก ทุกปัญหาโยงใย ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต การศึกษา การเกษตร สุขภาพ สังคม ความเหลื่อมล้ำ และสำคัญที่สุดคือ วิกฤติประชาธิปไตย ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อความหวังของประชาชน
แล้วเราจะฟื้นคืนความหวังให้กลับมาได้อย่างไร การตอบคำถามใหญ่เช่นนี้ ไม่ง่ายเลย อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า หัวใจสำคัญ ในการตอบคำถามใหญ่นี้ อยู่ที่คำเล็กๆ 3 คำคือ "คิด-เคลื่อน-ไทย"
คิด คือการรุกระดมทุกมันสมอง ผนึกทุก "ความคิด" มาช่วยกันหาทางออกของปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์
เคลื่อน คือสร้างเครือข่ายให้ทุกคน ในทุกภาคส่วน เข้ามาร่วมกัน "เคลื่อน" และขับดันให้เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และศิลปวัฒนธรรม สามารถฟื้นฟูและพัฒนา เพื่อรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย
ไทย คือประเทศไทยของเรา สามารถกลับมาเป็นประเทศที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิและศักดิ์ศรี มีเสรีภาพในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ และเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม C-A-R-E ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเจตนารมณ์นี้
"แคร์ คือกลุ่มคนจากหลากหลายวงการ หลากหลายสาขาวิชาชีพหลากหลายประสบการณ์และหลากหลายวัย ที่ "ห่วงใย" ต่ออนาคตของประเทศนี้ เราจะระดมคลังสมอง ขยายเครือข่าย เปิดพื้นที่สร้างความร่วมมือใหม่ ให้ทุกคนมาร่วมกัน "คิด-เคลื่อน-ไทย" เพื่อสร้างความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัดในการขับเคลื่อนประเทศอันเต็มไปด้วยศักยภาพของเรา ให้สามารถหยัดยืนสง่างาม มีศักดิ์ศรี เคียงข้างอารยะประเทศอีกครั้ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ถ้าคุณ C-A-R-E ให้เรามา คิด-เคลื่อน-ไทย ไปด้วยกัน" ลักขณา ตัวแทนกลุ่มแคร์กล่าวคำประกาศเจตนารมณ์
นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ (CARE) กล่าวบนเวทีในงานเปิดตัวกลุ่มแคร์ว่า ตนเริ่มเข้ากลุ่มแคร์จากการมองเห็นปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่จนก่อให้เกิดความเป็นห่วง เป็นกังวลจนต้องร่วมมือกับสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มอีกราว 30-40 ราย มานั่งเป็นตัวแทนในวันนี้ พร้อมเสริมว่า วิธีคิดของกลุ่มแคร์เป็นการคิดจากรากความสร้างสรรค์มากกว่าความคิดทำร้าย หรือมีเป้าประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง
สิ่งที่ตนและสมาชิกผู้เริ่มต้นกลุ่มแคร์เคยทำในอดีตที่ยังมีบทบาทในฐานะรัฐบาลบริหารประเทศ อาทิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนหมู่บ้านล้วนทำมาสำเร็จแล้ว ทั้งสิ้นทามกลางคำถามต่างๆ และตอนนี้กลุ่มจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับประชาชน ต้องร่วมคิดร่วมทำจนนำไปสู่ความสำเร็จ
"เราเน้นการหาทางออกให้ประเทศ ทางออกนี้ เน้นสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่ความเฟ้อฝัน แต่เป็นการสานฝัน" นพ.พรหมมินทร์ กล่าว
ภูมิธรรม เวชยชัย สมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญคือการเชื่อในพลังของประชาชน ยึดมั่นในพลังของพลเมือง กลุ่มแคร์เชื่อว่าพื้นที่ตรงนี้จะช่วยให้ประชาชนมีพลังที่จะสะท้อนความต้องการของตนเองออกมาได้ สามารถขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลฟังเสียงของประชาชนน้อยเกินไป ด้วยเหตุนี้เวทีอย่างกลุ่มแคร์นี้จึงเปรียบเสมือนเป็นเวทีแห่งความคิดให้ประชาชนได้สะท้อนเสียงของตนเองออกมา เราจะจัดเวทีรับฟังความเห็นเริ่มจากใน กทม.และกระจายตัวตามต่างจังหวัด จะกระจายไปยังทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้ความรู้ของผู้คนในแต่ละสายถูกนำมาขับเคลื่อนสังคมไทยอย่างแท้จริง
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกเริ่มต้นอีกคน กล่าวว่า เราเริ่มต้นจากชุดความคิดในวันที่ประเทศไทยมีปัญหา ดังนั้นการร่วมมือกัน ร่วมคิดร่วมขับเคลื่อน เราคิดว่า 10 คนนี้หรือคณะผู้เริ่มต้นเพียง 40 คนนี้ไม่พอ เพราะปัญหาเยอะ บริบทเยอะ เราทุกคนรู้ได้ไม่หมด ดังนั้นเราจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วม และสิ่งสำคัญคือการทำให้ประชาชนให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน พร้อมกันนี้เราจึงทำเว็บไซต์ www.care.or.th โดยจะเริ่มในอีก 2 วันนี้ และขอเชิญชวนผู้สนใจสมัครติดตามรับข้อมูลข่าวสารจากกลุ่มแคร์ได้
ส่วนสมาชิกเริ่มต้นกลุ่มแคร์ในสายศิลปวัฒนธรรม ธุรกิจ เทคโนโลยี การออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ อีก 4 คน เปิดเผยมุมมองการรวมตัวเข้าร่วมกลุ่มแคร์ ดังนี้
วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะมองเข้ามาว่าตนเองอยู่แต่ในวงการหนังสือ แต่แท้จริงแล้ววงการนี้ตามประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดเป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนสังคมมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม วงการศิลปวัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันกลับถูกหลงลืมและถูกผลักไปอยู่เพียงชายขอบ โดยวีรพรย้ำว่าตนเองพร้อมที่จะเป็นผู้นำในวงการนี้เพื่อรวบรวมศิลปิน นักเขียน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยเฉพาะในฝั่งคนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาประเทศในมิตินี้
ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ListenField เทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาสินทรัพย์ในดินเหล่านี้ของเกษตรกรกลับกลายเป็นภาระหนักอึ้ง เป็นหนี้สินที่ฉุดเกษตรกรลงไปสู่ความยากลำบาก และตนเองพร้อมที่จะผลักดันปรับเปลี่ยนหนี้สินเป็นทรัพย์สิน ให้กลับเข้าที่เข้าทางโดยเน้นในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรของประเทศ
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ กล่าวว่า จะใช้ความสามารถของตนพูดถึงการนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาผ่านสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่สร้างสรรค์ที่สุดในโลก และตนเองเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับขึ้นมาจากความสร้างสรรค์ของตนเอง และพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขร่วมมือกับกลุ่มแคร์เต็มที่
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ตนเห็นความสำคัญของที่มาของคำว่า C-A-R-E โดยเลือกเน้นที่ตัวอักษร ตัว R ที่มาจากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า 'REVIVAL' หรือการฟื้นฟู ซึ่งในที่นี้คือการฟื้นฟูประเทศ ขณะที่ตัว E ซึ่งมาจากคำว่า 'PEOPLE EMPOWERMENT' คือการทำให้แน่ใจว่าผู้คนในสังคมมีมิทธิมีเสียงในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กลุ่มแคร์ (CARE) เกิดขึ้นจากกลุ่มคนหลากหลายอาชีพความเชี่ยวชาญ ส่วนชื่อกลุ่ม CARE (แคร์) ย่อมาจาก C คือ Creative, A คือ Action for, R คือ Revival และE คือ & People Empowerment
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :