ไม่พบผลการค้นหา
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ วันนี้เปิดตลาดที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี แต่ยังอยู่ในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค เหตุนักลงทุนต่างชาติเทขายเงินดอลลาร์สหรัฐ ฟากกระทรวงพาณิชย์เชิญเอกชนหารือ 27 ก.พ. หาทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีส่งออก ประเมินผลกระทบเชิงลบ หวั่นพลาดเป้าส่งออกปีนี้

ห้องค่าเงินธนาคารกสิกรไทยระบุว่า เช้าวันนี้ (20 ก.พ. 2562) อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าหลุดแนวรับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาที่ 31.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปี สอดคล้องกับทิศทางการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค และแรงขายเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก (ยกเว้น เงินเยน)

ขณะที่ตลาดมีความคาดหวังมากขึ้นต่อผลการเจรจาเพื่อลดข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังจากที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การเจรจากับฝั่งจีนดำเนินไปด้วยดี และเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ กำลังพยายามเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราภาษีของสหรัฐฯ ตามกำหนดการเดิม

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ไว้ที่ 31.00-31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยรอติดตามความคืบหน้าในการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 29-30 ม.ค. ที่ผ่านมา

พาณิชย์เรียกเอกชนหารือ 27 ก.พ. ป้องกันพลาดเป้าส่งออกปีนี้ที่ร้อยละ 8

ด้าน น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.พ. 2562 นี้ กรมจะเชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) และตัวแทนเอกชนที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรกมาหารือถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ส่งออก รวมถึงมาตรการในการสนับสนุนการส่งออกปี 2562 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ขยายตัวร้อยละ 8

ทั้งนี้ จากการประเมินปัจจัยลบเบื้องต้น ขณะนี้กลุ่มผู้ส่งออกมีความกังวลเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นพิเศษ เพราะมีผลต่อรายได้ของภาคส่งออกมาทอนกลับมาเป็นเงินบาท รวมถึงขีดความสามารถการแข่งขันของราคาสินค้าไทยเมื่อเทียบกับราคาสินค้าของประเทศคู่แข่งที่ค่าเงินไม่แข็งค่าเท่าไทย โดยเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นประเด็นที่ทราบกันดีว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไปก็จะกระทบต่อภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกรมฯ จะติดตามผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า เพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้ส่งออกขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ล่าสุดกรมจะร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ โดยทางเอ็กซิมแบงก์จะเข้าร่วมกิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้ากับกรมในตลาดใหม่และตลาดที่มีความเสี่ยงทางด้านการเงินกับกรมทุกงาน เช่น ตลาดรัสเซียและซีไอเอส ตลาดแอฟริกา รวมถึงตลาดเป้าหมายที่จะผลักดันการส่งออก เช่น จีน อินเดีย อาเซียน เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกในกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะเดินทางไปร่วมกิจกรรมกับกรม โดยผลักดันเอสเอ็มอีเข้าโครงการทำประกันความเสี่ยงกับเอ็กซิมแบงก์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินผันผวนส่วนสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

สหรัฐฯ ยืดเวลาขึ้นภาษีนำเข้า ลดความกังวลป่วนค้าโลก

แม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยืดระยะเวลาการชะลอขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ออกไปอีก 60 วัน หลังจะสิ้นสุดระยะเวลาชะลอขึ้นภาษี 90 วัน ที่จะสิ้นสุดวันที่ 1 มีนาคมนี้ ทำให้ในต้นเดือนมีนาคม สหรัฐฯ น่าจะยังไม่ขึ้นภาษีสินค้ากับจีนเพิ่มเติม ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยขณะนี้ได้ให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่สหรัฐฯ ไปหารายชื่อและเจรจากับผู้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำเข้าสินค้าจากจีนแต่ได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าจีนถูกขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ เบื้องต้นมีประมาณ 15 สินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าทดแทนไปให้สหรัฐแทนสินค้าจีน เช่น เกษตรแปรรูป สินค้าเครื่องเดินทางขณะเดียวกัน ให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่จีนหารายชื่อและเจรจากับผู้นำเข้าจีนที่นำเข้าสินค้าสหรัฐฯ และได้รับผลกระทบ ว่าไทยจะสามารถช่วยเหลือและส่งออกสินค้าให้กับผู้นำเข้าเหล่านี้ได้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :