พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยเว็บไซต์ siamstaycollections .com เว็บอันตรายหลอกให้จองที่พัก โอนเงินแล้วบล็อกหนี
สืบเนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมา มีการเตือนภัยเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่สร้างเพจหรือเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคในการจองที่พัก โดยมักจะขอให้โอนเงินมัดจำล่วงหน้าแล้วไม่สามารถติดต่อได้เมื่อถึงเวลาที่พักจริง
จากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบมีผู้เสียหายหลายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังเว็บไซต์ siamstaycollections .com ที่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความจำนวนมาก ซึ่งในเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีลิงก์ไปยังเพจเฟซบุ๊กที่ใช้หลอกลวง และทางตำรวจไซเบอร์ได้ทำการปิดกั้นเพจที่ใช้หลอกลวงทั้งหมดแล้ว
โดยในเว็บดังกล่าวตำรวจไซเบอร์ได้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์มิจฉาชีพทั้งหมดแล้ว แต่เนื่องจากว่าเว็บดังกล่าวผู้ให้บริการไม่ได้อยู่ภายในประเทศ โดยทางตำรวจไซเบอร์ได้ทำการเสนอปิดกั้น ไปยังผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังพบว่ายังมีการเปิดใช้งานอยู่ จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน อย่ากดเข้าเว็บดังกล่าว เพื่อความปลอดภัย
ตำรวจไซเบอร์ขอประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงให้จองที่พักปลอม 10 ข้อ ดังนี้
1. สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking .com, Agoda, Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง
2. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ เพจใดคือเพจจริง
3. เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
4. โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ เลขบัญชีถูกต้องหรือไม่
5. เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง
6 .เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน
7. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง
8. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด
9. หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท
10. ต้องตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชัน Cyber CHECK
หากพี่น้องประชาชนพบการหลอกลวง ขอให้รวบรวมหลักฐาน เช่น หน้าโปรไฟล์เพจ โฆษณาในเพจ ภาพถ่ายสินค้า บทสนทนากับผู้ขาย สลิปโอนเงิน แล้วแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th