ไม่พบผลการค้นหา
ราคาน้ำมันแพงขึ้น 52% เงินเฟ้อทะยานเกือบ 8% ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศลด

บังกลาเทศ ประเทศที่เคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วด้วยขนาดเศรษฐกิจใหญ่ถึง 416,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังเผชิญความยากลำบากครั้งประวัติศาสตร์จนหลายคนอาจกำลังตั้งคำถามว่า ประชากรทั้ง 167 ล้านคนของบังกลาเทศจะต้องเดินรอยตามศรีลังกาหรือไม่

ปัจจัยหลักของหายนะทางเศรษฐกิจบังกลาเทศตอนนี้มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาอาหารที่พุ่งทะยานอย่างหนัก จนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างน่ากังวล การจ่ายเงินจำนวนมากขึ้นในการนำเข้าอาหารและสิ่งของจำเป็นในปริมาณเท่าเดิม ค่าเงินที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว 

เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อของบังกลาเทศพุ่งแตะ 6% ติดต่อกัน 6 เดือนตลอด 6 เดือนแรกของปีนี้ และสูงถึง 7.48% ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

เมื่อมองดูสถานการณ์ของโลกแล้วนักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่าวิกฤตนี้ของบังกลาเทศจะคงอยู่อีกนาน ขณะที่ประชาชนในประเทศก็ออกมาแสดงความไม่พอใจอย่างต่อเนื่อง โดยการลงถนนประท้วงรัฐบาลของประชาชนจำนวนมากจากหลากหลายสาขาอาชีพและช่วงอายุก็ดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

"ประชาชนคนทั่วไปต่างก็ตกอยู่ในสภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่การบริหารจัดการของรัฐบาลทำให้ชีวิตของทุกคนยากลำบากมากขึ้นไปอีก" หนึ่งในผู้ประท้วงกลางกรุงธากากล่าวกับ Dhaka Tribune

NDTV รายงานอ้างอิงคำแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานบังกลาเทศที่ระบุว่า "ประชาชนต้องอดทนไปก่อน" เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ย่ำแย่ซึ่งส่งกระทบอย่างหนัก ขณะที่ Bangladesh Petroleum Corporation (BPC) บริษัทปิโตรเลียมของบังกลาเทศที่อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลก็สูญเสียรายได้จากการขายน้ำมันระหว่างเดือน ก.พ.ถึงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาราว 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

สิ่งที่รัฐบาลบังกลาเทศกำลังเร่งดำเนินการก็คือการเข้าหา 'เงินกู้' จากสถาบันทางการเงินของโลก โดยสำนักข่าว Daily Star ของบังกลาเทศรายงานว่ารัฐบาลมีความพยายามในการเข้าถึงเงินกู้ราว 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุกการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า IMF จะเปิดเผยในแถลงการณ์ว่ากำลังพิจารณาให้เงินกู้จากกองทุน Resilience and Sustainability Trust โดยจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากนี้แต่ สำนักข่าว Reuters รายงานว่าไม่มีการยืนยันถึงจำนวนเงินว่าจะอนุญาตให้กู้เป็นจำนวนเท่าใด ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำลังเร่งขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก หรือ World Bank และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ ADB เช่นเดียวกัน