ไม่พบผลการค้นหา
ปู ไปรยา ทูตสันถวไมตรี UNHCR เผยการลงพื้นที่โคลอมเบีย ช่วยผู้ลี้ภัยจากวิกฤติในประเทศเวเนซุเอลา เป็นเหตุการณ์ที่เศร้าโหดร้ายที่สุดตั้งแต่ลงพื้นที่มา อยากให้คนไทยศึกษาและมองเป็นบทเรียน

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCRได้เชิญ ปู ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ประเทศไทย ลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 23-27 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งรองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาไว้มากที่สุดในโลก เพื่อดูการทำงานของ UNHCR ในพื้นที่ในการมอบความคุ้มครองและความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชาวเวเนซุเอลาที่กำลังสิ้นหวัง และเพื่อเก็บภาพและข้อมูลในการทำสารคดีสั้นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในประเทศเวเนซุเอลา โดยครั้งนี้เป็นภารกิจครั้งที่ 3 ที่ ปู ลงพื้นที่ เธอเห็นภาพชีวิตมนุษย์ ที่อยู่ระหว่างความเป็นความตาย มันเป็นเหตุการณ์ที่เศร้า และโหดร้าย

"ปู ไปโคลอมเบีย 7 วัน ได้เจอเหตุการณ์ที่เศร้า และโหดร้ายที่สุดตั้งแต่ลงพื้นที่มา เขาไม่ต่างกับเรา เขาเป็นกลุ่มคนที่เคยมีทรัพยากรในประเทศที่สูงมาก บางคนเป็นนักธุรกิจ ทนายความ นักบัญชี แต่ตอนนี้ค่าเงินของพวกเขาไม่มีคุณค่าแล้ว ไฟฟ้า น้ำ อาหาร ในประเทศไม่มี คนที่มีฐานะได้ลี้ภัยและอพยพไป 7 – 8 ปีที่แล้ว ตอนนี้เหลือกลุ่มคนไม่มีทางเลือกเลยต้องข้ามชายแดนมา เป็นครั้งแรกที่ ปู ได้กลิ่นความตาย กับความหวังในเวลาเดียวกัน เป็นภาพที่ปู ลืมไม่ได้ ปู เห็นคนที่อดข้าว ร้องไห้กอดปู ปูไม่รู้ว่าอาทิตย์ข้างหน้าเขาจะรอดไหม หรือได้เจอครอบครัวที่ ลูกถูกลักพาตัวไปขบวนการค้าอวัยวะ ค้ามนุษย์ มันเป็นเรื่องราวที่ ปู ไม่คิดว่าจะได้เจอ มันเป็นมากกว่าสถิติ มันคือเสียงของมนุษย์ ภาพพวกนี้ยังติดอยู่ในหัว

ปู ไปรยา UNHCR

"สถานการณ์ย่ำแย่มาก เขาต้องการทุกอย่าง น้ำ อาหาร เครื่องมือการแพทย์ ครอบครัวที่ทำให้ ปู รู้สึกสะเทือนใจมาก ปู ได้พูดคุยกับเขา ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และมีลูกสาวสองคน อพยพมา เพราะไฟฟ้า ถูกตัด โรงพยาบาลเครื่องมือแพทย์ไม่สามารถใช้ได้ แต่ก่อนเธอเป็นนักบัญชี มีการศึกษา เป็นคนทำงาน เขาพูดกับปูว่า ข้าวกับน้ำ ฉันไม่ขอเธอหรอก เพราะเกิดมาฉันไม่เคยต้องขอใคร แต่ตอนนี้ขอได้รับการช่วยเหลือ ขอแพทย์มาดูแล หากไม่มีแพทย์มาดูแล และฉันไม่รอด ขอให้ ปู ได้ไปบอกกับคนทั่วดลกว่า มันมีอีกหลายครอบครัวที่เหมือนฉัน ที่ป่วยและต้องการรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แล้วไม่ได้รับการช่วยเหลือ

แม้ช่วยฉันไม่ได้ คุณช่วยนำเรื่องฉันกลับไปเล่า เผื่อคนจะได้มาช่วยในรุ่นลูกเขา เพื่อนบ้านเขา ปู ได้เห็นน้ำตาเขา ปู ไม่สามารถพูดอะไรได้ รับหน้าที่ของการเป็น ทูตสันถวไมตรี ไม่ใช่การมาเสียใจ แต่มาบอกเล่าคนกลุ่มนี้ เป็นมากกว่าคำว่า ผู้อพยพ หรือ ผู้ลี้ภัย เขาคือ มนุษย์ ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของ UNHCR บริเวณชายแดน เจ้าหน้าที่ทำงานตลอดเวลาเพราะทุกคนที่เข้ามาต่างมีภาวะฉุกเฉิน ปูเจอมีทั้งเด็กที่มีความพิการ ร่างกายผิดปกติ เด็กและผู้ใหญ่มากมายป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร ปูได้คุยกับคุณแม่ที่ลูกพิการ ตอนที่ปูกอดให้กำลังใจพวกเขา ร่างกายเขาเหลือแต่กระดูก”

ปู ไปรยา UNHCR

ตอนนี้ งบเราขาดแคลนมาก เจ้าหน้าที่เราไม่พอ วันหนึ่ง เรามีกลุ่มคนอพยพเข้ามา 5000 คน ในจังหวัดที่ ปู ไป มีเจ้าหน้าที่เพียง 27 คน UNHCR ตามหากลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดเพื่อให้ได้ความช่วยเหลือที่เร่งด่วน ทั้งการออกเอกสารระบุตัวตน มอบความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ที่พักพิงชั่วคราว ปัจจัย 4 การเยียวยาจิตใจ และการอยู่ร่วมกันกับคนโคลอมเบียอย่างเกื้อกูลเพื่อเขาจะได้อยู่ปลอดภัย

ซึ่งด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทรัพยากรเริ่มลดน้อยลงและจำนวนครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือนั้นมีมากขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง รวมถึงที่พักอาศัย อาหาร และยารักษาโรคในทันที ทำให้ UNHCR ไม่อาจทำงานที่สำคัญนี้ได้เพียงลำพัง เราต้องการงบประมาณกว่า 158.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 4,900 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพวกเขา และตอนนี้ยังขาดงบประมาณอีกถึง 1,300 ล้านบาทในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ปู ไปรยา ทูต UNHCR

ปู มองว่า เรื่องราวนี้เกิดกับประเทศเราได้ เขาไม่ต่างกับเรา เขามีความหวัง เขาเคยมีบ้าน มีน้ำ มีไฟฟ้า แต่มันสูญเสียไปเร็วมาก ปู รู้ว่าอนาคตของเขาไม่มั่นคงอย่างมาก มันเป็นวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดในละตินอเมริกา พอคนฟังว่า ละตินอเมริกา คนก็จะบอกว่า มันไกลตัวมาก ทำไมต้องไปช่วย คนไทยเองก็ลำบาก ปูเอง เข้าใจประเด็นนี้ ปูเองอุทิศชีวิตในการช่วยเหลือคนไทย ปูมีเด็กที่อุปถัมภ์ ปูอยากให้มอง คนเหล่านั้น เป็นมนุษย์ ปูอยากให้คุณเรียนรู้ กับวิกฤติของเขา กับประวัติศาสตร์ของเขา เรียนรู้ว่าประเทศหนึ่ง ที่มีทรัพยากรสูง และได้ล่มสลาย โดยไม่เหลืออะไร และประชากรของเขาอนาคตประเทศจะเป็นยังไง 

“ปูเชื่อว่าไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดมาแล้วอยากเป็นผู้ลี้ภัย ต้องมาขออาศัยในประเทศอื่น และมีชีวิตอย่างยากลำบาก พวกเขาไม่รู้จะหันไปหาความช่วยเหลือได้จากไหน เพราะฉะนั้นการลงพื้นที่แต่ละครั้งมอบความทรงจำและพลังให้ปูต้องทำงานหนักและมุ่งมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ในฐานะทูตสันถวไมตรีของ UNHCR เพื่อยืนหยัดเคียงข้างผู้ลี้ภัยทั่วโลกต่อไป”
ปู ไปรยา UNHCR

สำหรับการช่วยเหลือ สามารถร่วมบริจาคเพื่อช่วยชีวิตครอบครัวชาวเวเนซุเอลาที่กำลังสิ้นหวัง ที่

  •   เว็บไซต์ https://www.unhcr.or.th/donate/venezuela
  •  SMS พิมพ์ 99 ส่งมาที่ 4141099 เพื่อบริจาคครั้งละ 99 บาท หรือ
  • โทร. 02 206 2144 (วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 18.00 น.)