ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ดีอีเอส ย้ำไม่มีอคติต่อกลุ่มไหน ลบ 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' เพราะแอดมินทำผิด ส่วนที่ไปตั้งกลุ่มใหม่ทำได้แต่ต้องอยู่ในกฎหมาย คาด 'เฟซบุ๊ก' แค่ตกใจเพราะแนบ ความผิดตามมาตรา 27 ไปให้ ไม่คิดว่าจะมีการฟ้องเกิดขึ้นจริง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตั้งโต๊ะชี้แจง ปมสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า 'เฟซบุ๊ก' เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับรัฐบาลไทย ข้อหาละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยย้ำว่า ยังไม่เห็นเอกสารอย่างชัดเจนจากฝั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย แต่มีเหตุให้เชื่อได้ว่า จะไม่มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด 

รมว.ดีอีเอส อธิบายว่า ประเด็นสำคัญที่สุดคือทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเมื่อมีการแจ้งเรื่องขอให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียช่วยลบ 'ตัวชี้แหล่งในอินเทอร์เน็ต' (URL) ทั้ง 1,129 กรณี ภายในระยะเวลา 15 วัน แพลตฟอร์มต่างๆ ก็ดำเนินตามคำร้องทั้งหมด ซึ่งเชื่อได้ว่า แพลตฟอร์มเหล่านี้ต่างเข้าใจและเคารพในกฎหมายไทย

"ถ้าละเมิดจริง เขาจะไม่ลบ เขาลบให้หมดเพราะเขาปฏิบัติตามและเข้าใจด้วยซ้ำ" รมว.ดีอีเอส กล่าว
พุทธิพงษ์ - กระทรวงดีอีเอส
  • พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

แค่ให้ศาลช่วยตัดสินใจ

สำหรับชนวนเหตุที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องจากเฟซบุ๊ก พุทธิพงษ์ อธิบายเสริมว่า แท้จริงแล้วกระทรวงดีอีเอสเคยยื่นหนังสือขอความร่วมมือให้แพลตฟอร์มช่วยลบโพสต์ข้อความที่เชื่อได้ว่าผิดต่อ พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมฯ) ให้กับเฟซบุ๊กโดยมีคำสั่งศาลแนบไปแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่กระบวนการตัดสินภายในอาจมีความล่าช้าไม่ทันเวลา 

ด้วยเหตุนี้ ในการยื่นเรื่องครั้งล่าสุด กระทรวงดีอีเอส จึงแนบ พ.ร.บ. คอมฯ พ.ศ. 2550 มาตราที่ 27 ซึ่งระบุว่า "ผู้ใด (ในที่นี้คือแพลตฟอร์มออนไลน์) ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทและปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง" 

ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ. คอมฯ พ.ศ. 2560 มาตราที่ 13 มีใจความส่วนหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับคำสั่งของศาลจะต้อง "ดำเนินการตามคำร้องขอโดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ หรือภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและไม่เกินสิบห้าวัน"

พุทธิพงษ์ ชี้ว่า เป็นไปได้ที่การยื่นบทบังคับในมาตราที่ 27 เข้าไป อาจทำให้เฟซบุ๊ก "ตกใจ" ว่าแพลตฟอร์มจะตกเป็นจำเลยจากการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่ย้ำว่า กระทรวงฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงการตัดสินใจภายในขององค์กรเอกชน

เฟซบุ๊ก - มาร์ค - AFP
  • มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก

ทว่า รมว.ดีอีเอส เสริมว่า ที่ผ่านมาเวลาขอความร่วมมือไปโดยไม่ระบุข้อกฎหมายดังกล่าว มักเกิดความล่าช้าในการให้ความร่วมมือทั้งที่ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้การระบุว่าความผิดที่แพลตฟอร์มต้องเผชิญหากไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่รวดเร็วเข้ากับสถานการณ์เท่านั้น และยังเป็นการ "ปกป้องอธิปไตยทางไซเบอร์" ของประเทศ 


ไม่เคยอคติกับ 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส'

การตั้งโต๊ะครั้งนี้ รมว.ดีอีเอส ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีการปิดการเข้าถึงกรุ๊ปเฟซบุ๊ก 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' จากประเทศไทย เป็นเพียงหนึ่งในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีการทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมฯ จริง จึงมีคำสั่งให้แพลตฟอร์ม "ปิดหรือลบออกทั้งหมด"

พุทธิพงษ์ อธิบายว่า การปิดหรือลบออกทั้งหมดนั้นเฟซบุ๊กอาจตีความเป็นการปิดการเข้าถึงจากประเทศไทยได้เพราะศาลไทยเป็นผู้ร้อง และเห็นว่าการกระทำของเฟซบุ๊กเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลเรียบร้อยแล้ว 

"คำสั่งศาลบอกให้ปิดหรือลบออกให้หมด ปิดในระดับที่เป็นหน้าที่ของเขา ก็ถือว่าปฏิบัติตามให้ปิดแล้ว ส่วนจะปิดยังไง ก็เรื่องของเฟซบุ๊ก" พุทธิพงษ์ กล่าว

ปวิน.jpg
  • ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ แอดมินกลุ่ม 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส'

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ภาครัฐมีอคติกับกลุ่มดังกล่าวขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง สาเหตุหลักที่ต้องปิดกลุ่มนั้นเป็นเพราะ 'ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์' ในฐานะ 'แอดมินกลุ่ม' หรือ ผู้ดูแลกลุ่ม 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' กระทำความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ

ด้วยเหตุนี้ แอดมิน ในฐานะผู้เริ่มนำเข้าข้อมูลคนแรกจึงมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดย พุทธิพงษ์ เสริมว่า ปัจจุบัน กฎหมายยังไม่ได้มีการเอาผิดผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวหากไม่ได้เป็นผู้นำข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่ต่อ 

นอกจากนี้ พุทธิพงษ์ ยังเสริมว่า การดำเนินการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีแค่กับกรณีการปิดการเข้าถึงกลุ่ม 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' แต่ยังดำเนินคดีกับผู้อื่นที่กระทำความผิดเช่นเดียวกัน และกระทรวงฯ ก็ไม่เคยพุ่งเป้าจะลิดรอนสิทธิการแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มที่มีสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ตราบใดก็ตามที่ไม่มีการกระทำความผิด ส่วนการไปตั้งกลุ่มใหม่เป็น 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง' ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ภายใต้กฎหมาย 

"ถ้าเขาไม่ทำผิดกฎหมาย แล้วผมไปทำแบบนั้น คือผมไปรังแก ผมมั่นใจว่าผมไม่ได้เข้าข้างใคร กลุ่มจะ 1 ล้านคน จะกี่คน ผมไม่สน ไม่ใช่ว่ากลุ่มเยอะต้องรีบลบ ถ้าจะรีบ เราลบไปนานแล้ว" พุทธิพงษ์ กล่าว


กระบวนการทำงานของ 'ดีอีเอส' 

รมว.ดีอีเอส อธิบายขั้นตอนการดำเนินการและสั่งฟ้องต่างๆ เริ่มจาก 2 ทาง คือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงหรือประชาชนภายใต้โครงการ 'อาสาจับตาออนไลน์' ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่งข้อมูลเข้ามาในระบบ และเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบว่ามีความผิดจริงตาม พ.ร.บ.คอมฯ จริงหรือไม่ 

หากมีความผิดจริง เจ้าหน้าที่กระทรวงซึ่ง พุทธิพงษ์ ชี้ว่ามีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นและสามารถใช้เวลาเพียง 48 ชั่วโมงในการรวบรวมข้อมูลจะยื่นเรื่องต่อให้กับศาลเพื่อให้ศาลตัดสินว่ามีความผิดจริงไหม ก่อนนำส่งหมายศาลนั้นให้เจ้าของแพลตฟอร์มนำข้อความหรือโพสต์ดังกล่าวออกจากแพลตฟอร์ม พร้อมยื่นข้อมูลที่รวบรวมได้ให้กับฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดเช่นเดียวกัน 

ทว่า หากครบ 15 วัน แล้วแพลตฟอร์มไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล กระทรวงจะนำหลักฐานไปยื่นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่ฝั่งตำรวจจะรับไปดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มทำผิดกฎหมายอาญา ตามมาตรา 27 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ก่อนที่ฝั่งตำรวจจะใช้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแห่งประเทศไทย (ป.วิอาญา) ดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มต่อไป

พุทธิพงษ์ - กระทรวงดีอีเอส

พุทธิพงษ์ ย้ำตลอดการตั้งโต๊ะชี้แจงว่า หน้าที่หลักของกระทรวงคือการบังคับใช้กฎหมายโดยปราศจากอคติใดๆ หากกระทรวงไม่บังคับใช้กฎหมายก็จะกลายเป็นความผิดในฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ พร้อมเสริมว่า วันนี้ตนเองเตรียมส่งคำสั่งศาลให้ดำเนินการเพิ่มกับอีก 1,124 กรณี (url) เพิ่มเติม 

ทั้งยังได้ข้อมูลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังเตรียมกองบัญชาการตำรวจออนไลน์เพิ่มอีก 2,000 นาย เพื่อช่วยกันทำให้พื้นที่ออนไลน์เป็นพื้นที่สะอาด มีการให้ความรู้ มีเนื้อหาที่ดี และดำเนินการกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายอย่างทันท่วงที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;