ไม่พบผลการค้นหา
มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 กับการรับมือกระแสวิจารณ์และการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ หลังรับตำแหน่งพวกเธอใช้วิธีการเลือกมองความจริงมาเป็นแรงผลักดันให้พัฒนาตัวเอง พร้อมชูโครงการสร้างความเข้าใจโรคซึมเศร้า-ลดการบูลลี่

หลังการประกวดรอบสุดท้าย เวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 'เกรซ - นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ' ผู้ชนะเลิศการประกวด ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวดมิสเวิลด์ 2019 ที่ประเทศอังกฤษ ในเดือนธันวาคมนี้ พร้อมด้วย 'แผ่นฟิล์ม - พมลชนก ดิลกรัชตสกุล' รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และ 'เนิส - ดุสิตา ทิพโกมุท' รองชนะเลิศอันดับสอง เดินสายขอบคุณสื่อมวลชน ทีมข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' จึงได้โอกาสพูดคุยเปิดใจกับ 3 สาวงาม ถึงความรู้สึกและการรับมือต่อการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ รวมไปถึงการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือ ที่เรียกกันว่า 'บูลลี่'


MTW

ผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลังได้ตำแหน่งมากที่สุด คงหนีไม่พ้น 'เกรซ - นรินทร' มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 ซึ่งเธอบอกว่า เธอเป็นคนที่พยายามรับพลังบวกตลอดเวลา แม้จะมีคอมเม้นต์เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา หรือความเหมาะสมกับตำแหน่งของเธอจำนวนมาก แต่เธอก็ยอมรับ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และเนื่องจากเวทีนี้เป็นเวทีแรกของเธอ เธอคิดว่าตัวเองไม่ได้ดีที่สุด และมีจุดด้อยที่จะต้องพัฒนา ดังนั้นจึงเอาคำติชม หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ เอามาปรับพัฒนาตัวเองดีกว่าหลับหูหลับตามองแต่ข้อดีของตัวเอง โดยไม่ได้สนใจมุมมองภายนอกเลย ซึ่งเวลาที่คนอื่นมองเข้าที่ตัวเรา ย่อมเห็นอะไรมากกว่าเรามองตัวเองอยู่แล้ว เธอมองว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้มากขึ้น

ส่วนคอมเมนต์ที่เป็นการบูลลี่ เธอยอมรับว่าข้างในลึกๆ รู้สึกเสียใจ เพราะไม่มีใครชอบถูกกลั่นแกล้งหรอก แต่หน้าที่ของเราคือการทำให้ดีที่สุด พัฒนาตัวเองให้ดีที่สุด เธอเชื่อว่าต่อให้เธอพูดให้ดีสักร้อยครั้งก็ยังไม่ดีเท่าการกระทำ ดังนั้นสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ทุกวันนี้คือการพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเธอพัฒนาตัวเองขึ้นจริงๆ จากวันแรกที่เดินเข้ากองประกวด ส่วนการรับมือขณะอ่านคอมเม้นต์เหล่านี้คือการใช้หลัก Reality World

"เราเห็นคอมเมนต์เขา บางอันบอกว่าหน้าเราใหญ่บ้าง ตัวบวมบ้าง อะไรอย่างนี้ คือหนูก็รู้ค่ะว่าหน้าหนูใหญ่จริงๆ หนูยอมรับตัวหนูเองว่าหนูหน้าใหญ่จริงๆ หนูกำลังพยายามลดนะคะ รอหนูก่อน หนูมองว่ามันเป็นเรื่องของความจริงมากกว่า ถ้าเราเอาแต่บอกว่าไม่จริงอ่ะ ฉันไม่เป็นอย่างนั้น ฉันสวยนะ เราจะไม่มีวันพัฒนาตัวเองได้เลยค่ะ แต่ถ้าเรารู้ว่าข้อเสียเราคืออะไร แล้วเขาก็บอกเหมือนกัน แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว เรารู้ข้อเสียเราจริงๆ แล้ว คนอื่นก็บอกตรงกัน เราก็จะนำตรงนี้มาพัฒนาตัวเองให้มากยิ่งขึ้น"


มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019

เกรซ กล่าวต่อว่า การบูลลี่ในสังคมทุกวันนี้มีมาก แต่ทุกคนมักจะถามหาความเท่าเทียม ซึ่งตรงข้ามกัน จึงเป็นแรงบันดาลให้เธอทำโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ประกอบกับเธอกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเคยเป็นนักจิตวิทยาศึกษาแบบฝึกหัด เห็นว่า สังคมมีผลต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้าให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ซึ่งเธอเคยเจอเคสที่เป็นลักษณะนี้ จึงต้องออกมาทำให้ทุกคนเข้าใจโรคนี้จริงๆ เพราะเธอคนเดียวทำไม่ได้ การประกวดเวทีนี้จะทำให้เธอได้พัฒนาโครงการ 'Let Me Hear You' ร่วมกันศูนย์บริการทางจิตวิทยาและการปรึกษา (TCAPS) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวบรวมนักจิตวิทยาจิตอาสามาทำสื่อและข้อมูลที่ถูกต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยดรคซึมเศร้า และคนรอบข้างได้รับรู้, Tele-counseling พูดคุยให้คำปรึกษาผ่านเพจ ไลน์ สไกป์ หรือนัดพบนักจิตวิทยา และกำลังวางแผนจัดอบรมตามโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบันวัยรุ่นกว่าร้อยละ 85 เป็นโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังพัฒนาวิธีการบำบัด เช่น ดนตรี การดูแลสุขภาพในกิจวัตรประจำวัน เป็นต้น

เธอเล่าต่อว่า โรคซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ คือ จากพันธุกรรม, สารเคมีในสมอง, เหตุการณ์รุนแรงในชีวิต, และฮอร์โมน ซึ่งสาเหตุที่ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ยอมเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะกลัวการไม่ยอมรับ การถูกรังเกียจ และถูกบูลลี่ในสังคม ซึ่งโครงการของเธอต้องการให้เข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากขึ้น โดยการเป็นผู้ฟังที่ดีและไม่ตัดสินผู้อื่น และไม่รังเกียจผู้ป่วยที่เป็นโรคทางจิตเวช เพื่อมีการเข้าใจกัน เคารพกัน และยอมรับกันมากขึ้น

"การเป็นผู้ฟังทำให้เราเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ใช่เข้าใจในสิ่งที่เราคิดว่าเขาเป็น มันเป็นสิ่งสำคัญมากที่สังคมเราขาดไป เพราะว่าเทคโนโลยีที่ก้าวไกล มันเลยทำให้บางทีเราได้ยินแต่เสียงตัวเอง จนไม่ได้ยินเสียงของคนอื่น มันทำให้เกรซรู้สึกว่าทุกวันนี้เราเข้าใจกันมากพอหรือยัง เราจึงต้องการความเท่าเทียม ความเข้าใจ การยอมรับความแตกต่าง...ถ้าเราทุกคนอยากให้ยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน เราควรที่จะเคารพในความแตกต่าง อิสระเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งกันและกันเหมือนกัน"


MTW

แผ่นฟิล์ม - พมลชนก รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง กล่าวว่า เธอต้องใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อ ต่างคนต่างความคิดเธอเข้าใจได้ แต่อยากให้ผู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเคารพสิทธิผู้อื่น นึกถึงคนอื่นๆ ไม่อยากให้ใช้โซเชียลเพื่อไปลดทอนคุณค่าของคนอื่นเขา เพราะผลกระทบมันค่อนข้างรุนแรง ใครๆ ก็รักตัวเอง ส่วนวิธีการรับมือ คือ ถ้าสิ่งที่เขาว่าเรามันจริง เราจะนำมาปรับปรุง นำคำติเตียน มาพัฒนาตัวเอง เพื่อที่ในอนาคตเขาจะได้ไม่นำมาว่าเราอีก แต่ถ้าเรื่องไหนมันไม่ใช่ความจริง เราปล่อยไป เราเลือกเสพแต่สิ่งที่มันเป็นความจริง สิ่งที่เขาหวังดีต่อเราดีกว่า ถ้าเราเก็บทุกอย่างมาคิด ตัวเราเองนั่นแหละจะแย่

การได้รับตำแหน่งรองอันดับ 1 มิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 เธอมองว่า จะสามารถเป็นต้นแบบ และเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม โดยอนาคตเธอเอง ตั้งใจสานต่อโครงการจิตอาสา Hands tp Hands โครงการที่เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และสังคม ของเด็กๆในแคมป์ก่อสร้าง ให้ขยายสู่วงกว้างมากขึ้น

MTW

ด้าน เนิส - ดุสิตา รองชนะเลิศอันดับที่สอง กล่าวว่า การพิมพ์ในโซเชียลมีเดีย ต่างกับการพูดใส่หน้าเขา เพราะการพูดต่อหน้า คำพูดจะอยู่แค่ระหว่างผู้พูดผู้ฟัง แต่ในโซเชียลมีเดียมันเผยแพร่ออกสู่วงกว้าง มีการแชร์เป็นร้อยเป็นพันครั้ง ภายใน 1 คืน ความรวดเร็วนี้มันอันตรายกับคำในแง่ลบ การกล่าวร้าย และยิ่งเป็นวงกว้าง มันก็เกิดการโต้แย้งในกลุ่มคน ทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย จนมีปัญหาตามมา ซึ่งการแสดงความคิดเห็น ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพสิทธิตนเอง ซึ่งการรับมือสำหรับเนิส เวลาเธออ่านในสิ่งที่เป็นแง่ลบ เธอจะถามตัวเองว่า เราเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบนั้น เราต้องแก้ แสดงว่าข้อด้อยนั้น มันสะท้อนออกมาให้เห็น แต่ถ้าไม่ได้เป็นแบบนั้น มันเป็นแค่ความคิดเห็นของคนที่ไม่ชอบเรา เรายังคงเป็นตัวของตัวเองแบบที่เราเป็นต่อไป เธอจะไม่เอามาใส่ใจ

ตั้งแต่เธอได้รับตำแหน่งมา มีผู้คนมาติดตามเธอในโซเชียลมากขึ้น และเขามาให้กำลังใจ เธอมองว่า ทุกการกระทำหลังจากนี้ จะสามารถเป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นใหม่ อย่างตอนที่เธอตอบคำถามบนเวที รอบตัดสิน ในเรื่องความรัก คำตอบของเธอวันนั้นไม่ใช่เพื่อพิชิตมงกุฏ เธอบอกว่า "สังคมเราทุกวันนี้ มองเรื่องผลประโยชน์มากเกินไป ถ้าสิ่งที่เราพูดได้ เราอยากเพิ่มความรัก ความเห็นใจซึ่งกันและกันในสังคม แค่เสียงเล็กๆของเราวันนั้น การมีการแชร์เกิดขึ้น หากแชร์จนเป็นไวรัล สิ่งนี้ก็สามารถเป็นกระบอกเสียงในสังคมได้"