ไม่พบผลการค้นหา
ใบหน้ายิ้ม (หลอน) ที่ปรากฏในงานดิจิทัลอาร์ตของศิลปินรุ่นใหม่ Baphoboy ติดตาติดใจผู้ใช้สื่อโซเชียลจำนวนไม่น้อย 'วอยซ์ออนไลน์' จึงชวนคุยถึง 'แรงขับเคลื่อนภายใน' ที่ทำให้เกิดผลงานศิลปะสะท้อนสังคมเหล่านี้

แม้จะเพิ่งเรียนจบปริญญาตรีด้านศิลปกรรมจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้ไม่นาน 'สิปปกร เขียวสันเทียะ' หรือ 'เคน' ผู้ใช้นามแฝงว่า Baphoboy ก็เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนที่ติดตามสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม อันเป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานของเขา โดยมียอดฟอลโลว์เกินหลักหมื่นต้นๆ ไปแล้ว

ผลงานของ Baphoboy เต็มไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มของผู้คน แต่กลับมีร่องรอย 'กระสุน' และ 'คราบเลือด' บนฉากหลังสีสดใส ส่วนผลงานที่เป็นภาพขาวดำก็แฝงไว้ด้วยความหดหู่ ชวนให้รู้สึกหวาดหวั่น จนเกิดเป็นความย้อนแย้งที่สะดุดตาสะดุดใจคนเสพสื่อจำนวนมาก

ด้วยองค์ประกอบทั้งหมด ทำให้ผลงานของ Baphoboy จุดประเด็นถกเถียงถึงสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานของเขาจะดึงดูดผู้คนหลากหลายกลุ่ม ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ให้ตั้งคำถามลามถึงบริบทแวดล้อมทางสังคมที่สะท้อนในผลงานแต่ละชิ้น


เรื่องมันเศร้าเมื่อต้องยิ้ม "...โดยที่เราไม่สามารถพูดอะไรได้"

"วัตถุประสงค์ก็เพื่อสะท้อนกลุ่มคนที่โดนกดทับ หรือโดนรังแก... วันหนึ่งถ้าสภาพแวดล้อมหรือสภาพสังคมมันยกระดับขึ้นมา ภาพบริบทในงานมันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ แต่ตอนนี้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราโดนกดขี่ หรือในสภาพแวดล้อมที่เราโดนเอาเปรียบ งานมันก็ยังจะเป็นบริบทว่า ทำอะไรไม่ได้นอกจากการยิ้ม"

สิปปกรบอกกับ 'วอยซ์ออนไลน์' เมื่อได้รับคำถามว่า 'แรงขับเคลื่อน' ในการทำงานแต่ละชิ้นคืออะไร พร้อมเล่าว่า เขาสนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองและประเด็นทางสังคมในด้านต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก จนอาจเรียกได้ว่าเป็น 'เด็กดื้อ' ที่มีคำถามกับสิ่งรอบตัวตลอดเวลา 

ผลงานในนามของ Baphoboy จึงเลือกที่จะใช้ 'ใบหน้ายิ้ม' สะท้อนภาพสังคมไทย เพื่อตั้งคำถามกับสถาบันเชิงโครงสร้างและกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ต้องการให้คนในสังคม 'ยิ้มรับ' ทั้งที่กรอบเหล่านั้นมีผลต่อเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นของผู้คน 

  • ตัวจริงน่ารัก อย่าให้สื่อชี้นำ

"งานหน้ายิ้มมันมีอารมณ์เป็นแบบ mystique (ลึกลับ)... ถ้าเขาทำหน้าโกรธเรา หรือทำหน้าไม่พอใจ เราจะรู้ว่าเขารู้สึกอะไร แต่ในรูปผมพยายามเขียนทุกคนให้มันยิ้ม แล้วมันยิ้มไม่หยุดน่ะ ผมมีความรู้สึกว่า ถ้ามันยิ้มให้เราไม่หยุดสัก 5 นาที 10 นาที เราจะเริ่มกลัวเขาแล้ว เพราะเราไม่รู้ว่าเขารู้สึกอะไร เราจะไม่รู้ว่าเขาโกรธ หรือเขาจะฆ่าเรา หรือแค่ยิ้มให้เรา แล้วผมก็รู้สึกว่ามันเป็นใบหน้าแห่งการประชดประชัน มันเป็นใบหน้าของคำว่า 'ตอแหล' น่ะครับ แล้วมันก็สอดคล้องกับคำว่า 'ยิ้มสยาม' ที่ผมเผชิญกับมันมาทั้งชีวิตน่ะ"

"สิ่งที่เราเรียนรู้มาคือยิ้มให้ชาวต่างชาติ ยิ้มให้กัน แต่พอเราโตมา เราเจอเรื่องที่มันหดหู่ หรือเรื่องที่มันเป็นด้านลบมากๆ เราเลยรู้สึกว่า เอ้อ ยิ้มสยามในความคิดเรามันโคตรดาร์กเลยอะ มันเป็นการยิ้มแบบใส่หน้ากากใส่กัน"


"ยิ้มสยามในความคิดเห็นของผม มันไม่ใช่ยิ้มเพื่อต้อนรับ แต่มันเป็นยิ้มเพื่อยอมจำนน... จำนนต่ออะไรบางอย่าง ยิ้มโดยที่เราไม่สามารถพูดอะไรได้...เศร้าปะ?..."


ผลงานที่ผ่านมาของเขา พูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เรื่อยมาจนถึงพฤษภาฯ 2553 - การรัฐประหารปี 2557 และเหตุการณ์สืบเนื่องหลังจากนั้น ซึ่งบางเรื่องแม้จะเกิดมานานหลายปี ก็ยังไม่ชัดเจนอยู่ดีว่าจะ 'ชำระประวัติศาสตร์' กันอย่างไร

นอกจากนี้เขายังมีผลงานสนับสนุนความหลากหลายของกลุ่ม LGBT และวิพากษ์สถาบันศาสนา-ค่านิยมจารีตประเพณีในสังคมไทย รวมถึงวิจารณ์ 'กองทัพ' ที่เข้ามามีบทบาททางสังคมการเมืองมากจนเกินไป แต่กลับสกัดคนรุ่นใหม่ไม่ให้เห็นแย้ง 'ผู้หลักผู้ใหญ่' ในสังคม

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าตัวเอง 'เปิดกว้าง' ให้คนที่เห็นต่างสามารถตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่เช่นกัน โดยผู้ที่ติดตามงานของเขามีหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยใกล้เกษียณ

"คนที่มีอายุในช่วงหนึ่ง จะมองงานผมเป็นอีกแบบหนึ่ง คนที่มีความคิดอีกแบบหนึ่งก็จะมองงานผมเป็นอีกแบบหนึ่ง...มันเป็นเหมือนเสน่ห์ในการทำงานศิลปะน่ะครับว่าคุณดูแบบไหน แล้วเข้าใจแบบไหน มันเป็นสิทธิของคุณ ผมไม่ได้บังคับว่าคุณดูแบบผมแล้วต้องมารู้สึกแบบผม ดูรูปหนึ่งอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย เขากำลังจับมือกันอยู่ แต่ถ้าคนที่มีประสบการณ์ร่วมกันกับภาพก็อาจจะแบบ เฮ้ย ไม่ใช่แล้ว มันอาจจะเป็นการ 'บีบมือ' หรืออะไรอย่างนี้"

"งานที่คนเข้ามาเถียงเยอะๆ เป็นช่วงที่ผมวาดรูปครูที่กางร่มและเด็กตากฝน (เข้าแถว)... แต่ผมโพสต์เชิงตั้งคำถามด้วยน่ะครับ...ก็จะมีคนที่เป็นครู คนที่เป็นข้าราชการจริงจังเข้ามาตอบ อันนั้นแหละครับที่รู้สึกว่า สามารถเข้าถึงผู้ใหญ่ที่สุดแล้ว มันทำให้คนถกเถียงกันจริงๆ ครูบางคนถึงกับว่า...เออว่ะ เราเข้าแถวกันทำไม"

"ประเด็นที่หนักสุดน่าจะเป็นเรื่องทหาร ตอนนั้นผมพูดเรื่องทหารกับคุณหมอ เป็นกรณีของทหารเขาใส่ชุด PPE (ป้องกันโรคโควิด-19) ในขณะที่มีรูปในโรงพยาบาล บางอย่างก็ยังใช้แมสก์ผ้า ผมก็เลยเขียนรูปเหมือนกับกล่าวไปถึงตรงนั้น แล้วก็แบบเสียดสีนิดหน่อย ก็มีคนที่เข้ามาดีเฟนด์ทหาร แล้วก็มีคนที่ดีเฟนด์เรา ผมว่ามันเป็นเวทีหนึ่งเวทีนะที่ทำให้เกิดการถกเถียงกัน"

https://scontent.fbkk8-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/s960x960/91309967_1078303975871388_4900749266047205376_o.jpg?_nc_cat=107&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeG3POuBGXc77VUJhaBD7QuGRZ9B6fetesJFn0Hp9616wpsMonpiobltLlfWuJggiXw6CfB3KGNTG5xXYpvK3pU-&_nc_ohc=-MokpN0SzMUAX9yNEzC&_nc_ht=scontent.fbkk8-2.fna&_nc_tp=7&oh=a5fdd9050e6976d93b9b8e8794a8664a&oe=5F312F91

"ถ้าตราบใดที่คนมาคอมเมนต์ยังเป็นการพูดในเชิงแสดงความคิดเห็นหรืออะไรอย่างนี้ครับ ซึ่งก็มีทั้งด่าทั้งอะไร แต่มันก็ respect กันได้น่ะสำหรับผม พวกที่หยาบคายเขาเหมือนเข้ามาด่าโดยที่ไม่ต้องการดีเฟนด์น่ะครับ เขาต้องการด่าเฉยๆ...ซึ่งสำหรับผมมันไม่ได้มีผลอะไรน่ะ คำด่า จะพูดว่าไร้สาระก็ได้"


"ผมชอบสีฟ้า คุณชอบสีแดง ทำไมเราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้"

บางช่วงบางตอนของการสนทนา สิปปกรบอกเล่าความรู้สึกว่า คนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่า ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครเชื่อว่าปัจเจกบุคคลจะสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่เขาเชื่อว่าพลังของคนหนุ่มสาวที่รวมตัวกันได้มากพอ อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ในเวลาที่เหมาะสม

เมื่อ 'วอยซ์ออนไลน์' สอบถามว่าประเด็นทางสังคมที่อยากผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคืออะไร เขาตอบว่า 'เสรีภาพ' โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'เสรีภาพในการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น' เพราะหากไม่มีสองสิ่งนี้แล้ว ก็จะไม่สามารถสอบทานหรือทักท้วงต่อความอยุติธรรมหรือการกดขี่ใดๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้


"ถ้าเรามีเสรีภาพ เราจะไม่ต้องมานั่งถามกันเลยว่า ทำงานแบบนี้ไม่กลัวเหรอ...ผมว่ามันเป็นคำถามที่ไร้สาระมากๆ ด้วยซ้ำ... ถ้าเราอยู่ในสังคมที่มันเปิดกว้างพอ เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย งานคุณดีนะ แล้วก็จะไม่มีอะไร"


"สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ...ก็อย่างที่บอกแหละครับ คำตอบปลายเปิดมันคือ 'เสรีภาพ' คุณไม่ควรบอกว่า คนที่คิดแบบนี้ คนที่มีการกระทำแบบนี้คือผิด...เขาต้องไม่ยัดเยียดความเชื่อ ต้องไม่ยัดเยียดความคิดอะไรให้ประชาชนก่อน สอง จะต้องไม่ชี้นำ ผมรู้สึกว่าเขาต้องไม่ชี้นำให้ทุกคนในสังคมคิดแบบไหน เพราะถ้าเกิดมีคนเชื่อเขาและคนที่ไม่เชื่อเขา คนที่ไม่เชื่อเขาจะกลายเป็นคนผิดทันที"

"สังคมที่เราผ่านมา ไม่ว่าจะ 5 ปี หรือ 6 ปีที่แล้ว หรือช่วงนี้ เขาก็พยายามจะยัดเยียดความคิดชุดเดียวให้เรา เขาพยายามจะบอกว่าสิ่งนี้ผิด สิ่งนี้ถูก ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่หน้าที่ของผู้ปกครองด้วยซ้ำ"

นอกจากนี้ เขายังได้ยกตัวอย่าง 'คำถาม' ที่เผชิญอยู่บ่อยๆ ในระหว่างการทำงานศิลปะสะท้อนสังคมของตนเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่า เขาไม่กลัวการคุกคามจากกลุ่มผู้มีอำนาจที่ถูกเสียดสีประชดประชันในผลงานแต่ละชิ้นหรืออย่างไร 

"ก็กลัวแหละครับ" คือคำตอบที่ได้รับ แต่เขาขยายความเพิ่มเติมว่า "ไม่กลัวตัวเองนะครับ แต่กลัวครอบครัวที่ต้องมารู้สึกว่า...ต้องมาเหนื่อยด้วย" 

"ในตอนนี้นะครับ ในบรรทัดฐาน ในข้อกฎหมายอะไร มันไม่สามารถเอาผิดเราได้อยู่แล้วน่ะ มันไม่สามารถจริงๆ แต่ถ้าเกิดพูดเรื่องอำนาจหรืออะไร ก็อีกเรื่องหนึ่ง...อันนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกว่า ถ้าอยู่ในที่เปิด เอาตัวเองเข้าหาแสงเข้าไว้อย่างนี้ วันหนึ่งเราหาย คนหนึ่งคนก็ต้องตามหาเรามั่งแหละ"

"ผมไม่เห็นด้วยกับการโดนอุ้มหรือความตาย ผมเลยไม่อยากพูดว่า คนล้มหนึ่งคน ต้นไม้ล้มหนึ่งต้น ต้องมีต้นอื่นงอกขึ้นมา... ผมไม่อยากพูดแบบนี้ มันเหมือนกับว่าเป็นการ respect ความตายน่ะ เหมือนกับเราไปยอมรับการโดนอุ้ม ไม่อยากพูดในเชิงนี้ เพราะรู้สึกว่าเราจะไปให้ตัวตนกับความรุนแรงนั้น"

สิ่งที่เขาคาดหวังอีกอย่างจากการทำงานศิลปะที่ตัวเองถนัด คือ การสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมยอมรับว่ามีความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ และคนทุกคนที่เห็นต่างทางความคิดสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงกดทับหรือครอบงำกันและกัน

สัม Baphoboy เสื้อวอยซ์

"ที่คนทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้เพราะคนไม่เข้าใจกัน สิ่งที่เราต้องทำ คือ ทำให้เราเข้าใจกันก่อน ผมว่ามันจะไม่เกิดการด่ากันเลย ถ้าทุกคนพยายามเข้าใจกัน พยายามคุยกัน อันนี้คือความเป็นจริงที่เราจะต้องเรียนรู้ก่อนด้วยซ้ำว่า คุณไม่ต้องเห็นเหมือนผม ประวัติศาสตร์ที่คุณรู้มา คุณคิดแบบนั้น ผมคิดแบบนั้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือการ respect กันเอง

คุณไม่ต้องมาบอกผมว่าผมต้องคิดแบบนี้ คุณไม่ต้องมาบอกใครคนใดคนหนึ่งว่าแบบนี้ผิดหรือแบบนี้ถูก เราสามารถเชื่อได้หลายอย่าง ศาสนาเรายังมีตั้งไม่รู้เท่าไหร่ที่เราเชื่อต่างกัน แต่ทำไมเราอยู่ด้วยกันได้"

"ผมไม่คิดว่าสังคมเราจะต้องคิดเหมือนกันทั้งหมดนะครับ ไม่งั้นมันโรบอตแล้ว ผมชอบสีฟ้า คุณชอบสีแดง ทำไมเราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้?... ผมว่าความหลากหลายนี่มันสำคัญมากนะครับในการเปลี่ยนแปลงสังคม พอคุณไม่เห็นด้วย ผมเห็นด้วย มาถกกัน จะได้พัฒนาไปสู่สิ่งที่มันทำให้คนสองคนเข้าใจกัน"


"อย่าประมาทว่าเด็กเป็นเด็ก"

สิปปกรเท้าความให้ฟังด้วยว่า สมัยเรียนมัธยมที่จังหวัดชลบุรี เขาเป็นเด็กคนหนึ่งของ 'ห้องเรียนพิเศษ' (Gifted) ซึ่งการเรียนการสอนจะเน้นหนักด้านวิทย์-คณิต แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจเรียนต่อด้านศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย เพราะเป็นสิ่งที่ชอบและทำได้ดี แม้จะมีเสียงทักท้วงของครอบครัว หรือครูอาจารย์ที่สงสัยว่า "จบศิลปะแล้วจะไปทำอะไร" ก็ไม่ทำให้เขาหวั่นไหว

"ตอนนั้นอยากเป็นวิศวะฯ อยากเป็นสัตวแพทย์ ก็เข้าเรียนห้อง Gifted แต่พอเรียนไปเรียนมาก็รู้สึกว่า เออ มันไม่ใช่ว่ะ...แล้วผมก็ไปย้อนดู โดยที่ไม่ต้องสนใจกฎหรือครอบครัว ก็เลยคิดไว้ว่า เราชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กเลย แล้วเราก็เป็นคนที่มี creativity อยู่ตลอดเวลา พอ ม.5 ก็เลยเลือกติวศิลปะเลย ในขณะที่คนอื่นอ่านหนังสือ เราดรอว์อิง ตอน ม.5 ม.6 เราตั้งใจ ก็ได้เข้าเลย"

"เรารู้สึกว่า...ทำไมเราถึงเรียนได้โดยที่เราไม่เอะใจอะไรกันเลยล่ะ... สำหรับผมน่ะ ศิลปะมันสามารถพูดโดยที่ไม่ใช้ภาษาพูด หรือพูดโดยที่ไม่ได้ใช้ภาษาข่าวน่ะ มันเป็นช่องทางการแสดงออกอย่างหนึ่ง"

เมื่อเข้าเรียนด้านศิลปะในมหาวิทยาลัย มีบางช่วงที่เขารู้สึกว่าตัวตนภายในถูกสั่นคลอนไปบ้าง เป็นผลจากการละลายพฤติกรรมในระบบโซตัส ซึ่งมีการถกเถียงอย่างหนักระหว่างฝั่งอนุรักษนิยมและเสรีนิยม แต่ช่วงปลายชีวิตนักศึกษา เขาทำงานสะท้อนมุมมองและความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อสังคม และงานเหล่านั้นถูกตั้งคำถามจากครูบาอาจารย์เพื่อสอบทานที่มาและเหตุผล ซึ่งเป็นข้อดีที่ทำให้เขาทบทวนความคิดของตัวเองทุกครั้งก่อนจะทำงานแต่ละชิ้นออกมา และเป็นสิ่งที่ทำมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

https://scontent.fbkk8-3.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/s960x960/104186020_1135321580169627_7053988835688567719_o.jpg?_nc_cat=111&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeHcLBNJ75cDkXcF36p4v3XsMxKpOVxOpe8zEqk5XE6l747o4N7xZJE8tex3ux1yF2l-f67OaIoosocU397LPruR&_nc_ohc=GBgarIX5SA8AX89-4pQ&_nc_ht=scontent.fbkk8-3.fna&_nc_tp=7&oh=3b93b09a6f20de3de623f6987e0596ac&oe=5F30B66E

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าวัยและวุฒิภาวะที่ไม่มากมาย อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในอนาคตได้ หรือในที่สุดอาจถูกปัจจัยแวดล้อมหล่อหลอมจนไม่กล้าถามอะไรเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และต้องแบกรับภาระด้านอื่นในชีวิต แต่เขาเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า การตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาเป็นอภิสิทธิ์อย่างหนึ่งของ 'เด็ก' และคนรุ่นใหม่ไม่ควรกลัวที่จะตั้งคำถาม

"ผมไม่ได้มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ได้มีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ ไม่ได้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ผมมีความรู้แค่ศิลปะ แต่ผมสามารถหาอ่านได้ ผมสามารถเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงได้ ผมอยากให้ผู้ใหญ่เชื่อในความคิดของเด็กนะครับว่าเทคโนโลยีทุกวันนี้มันทำให้เด็กอาจจะรู้เท่าผู้ใหญ่แล้ว สิ่งที่ขาดอาจจะเป็นวุฒิภาวะ หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่เราประมาทไม่ได้นะฮะ อย่าประมาทว่าเด็กเป็นเด็ก"

"ถ้าวันหนึ่งผมโต ผมอาจจะเป็นคนที่ไม่ทำอะไรเลยก็ได้ เพราะผมมีธุรกิจแล้ว ผมมีความเสี่ยงทางด้านต่างๆ แต่ตอนนี้ผมไม่มีอะไรเลย ผมก็ยังเชื่ออยู่ว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เปลี่ยนเพื่อหนึ่งคน เปลี่ยนครอบครัวคนหนึ่งคน เปลี่ยนกลุ่มคนสิบคนให้เห็นถึงสิ่งที่เราแสดงออกและสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปให้เขาเข้าใจ ผมรู้สึกว่านั่นก็คือการประสบความสำเร็จในการทำงานศิลปะเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่างแล้ว"

"มันไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนคนทั้งสังคม ทุกอย่างมันเริ่มจากแค่นี้ก่อน ผมไม่เชื่อว่าวันหนึ่งเราจะใช้ความรุนแรงแล้วจะชนะ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผมไม่เชื่อในความรุนแรง... สิ่งที่เราต้องทำ คือ เราต้องเปลี่ยนข้างในเขาก่อน พยายามทำให้เขาซึมซับไปเรื่อยๆ ก่อน แล้ววันหนึ่งเมื่อมันเยอะมากพอ ทุกคนมีพลังมากพอ มันก็จะเปลี่ยนแปลงของมันเอง"

สิ่งที่สิปปกรอยากบอกกับเด็กรุ่นใหม่ ในฐานะที่เขาเองก็เพิ่งจะผ่านพ้นวัยรุ่นมาได้ไม่กี่ปี คือ การเชื่อในพลังของตัวเอง และมั่นใจในเหตุผลของตัวเองมากพอที่จะไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องทำตามขนบอย่างซื่อๆ โดยไม่ตั้งคำถาม เพราะเขายืนยันว่า ขนบบางอย่างก็ต้องเปลี่ยน ถ้าไม่นำไปสู่การพัฒนาใดๆ

"ขนบไม่ใช่ไม่ดีครับ มีทั้งที่ดีและไม่ดี แต่ขนบมันคือสิ่งที่ครอบเราไว้ไม่ให้เราแสดงออก... ผมรู้สึกว่าขนบบางอย่างมันปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ขนบบางอย่างมันครอบจนเราต้องทำตามสิ่งที่แล้วมาต่างๆ แล้วการที่เราโดนครอบหรือการที่เราเชื่อในระบบนั้นมันไม่ได้นำไปสู่การพัฒนา เพราะโลกนี้มันเร็วเกินกว่าที่เราจะใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ ที่เราปฏิบัติต่อกันมา"


"ขนบบางอย่าง เช่น เราอยู่ในยุคที่ ทำไมผู้หญิงถึงจะโชว์เรือนร่างของตัวเองไม่ได้? ขนบบางอย่างก็บอกว่าผู้หญิงห้ามแต่งโป๊ เพราะจะเป็นอันตรายต่อตัวเอง แต่ทำไมเราถึงไม่อยู่ในโลกที่เชื่อว่า ผู้ชายควรจะ respect ผู้หญิงที่แต่งตัวยังไงก็ได้?"


"เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะทำอะไรได้น่ะ ผมว่าอันนี้มันเหมือนเป็นวัฒธรรมไทยไปเลยนะครับ สำหรับผม ผมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แบบ เฮ้ย ทำๆ ตามไปเหอะ เฮ้ย จะทำไปทำไม ทำไปก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร... แต่จะพูดยังไงดีล่ะ คุณคิดเห็นแบบนั้นได้ แต่เราไม่ควรจะมาบั่นทอนกันน่ะ" 

"ผมรู้สึกว่า โอเค คนรอบตัวผมอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับผมหมดเลย แต่คุณต้อง respect ผมสิที่ผมต้องการจะพยายามอะไรสักอย่าง อาจจะเป็นเพื่อคุณก็ได้"

https://scontent.fbkk8-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-0/p640x640/101358241_1133006267067825_8654988730400550336_o.jpg?_nc_cat=107&_nc_sid=8024bb&_nc_eui2=AeG7Dqj5HA-p-24wmMzZdnZ2F2vYHl-oyFIXa9geX6jIUpdVgdaeky9GhCWTR4NG1tkOM2D-Dn5WIQDts_jDwR7j&_nc_ohc=rAdIKpHxhewAX_UenD3&_nc_ht=scontent.fbkk8-2.fna&_nc_tp=6&oh=6b9214cfca50e07ec11ac6bcd9d0a23d&oe=5F316901

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: