ไม่พบผลการค้นหา
สาเหตุการจัดเก็บรายได้ดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกและนำเข้าของไทยกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกช่วงครึ่งปีขยายตัวแล้วกว่า 15%

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ภาษีศุลกากรมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน มิ.ย. 2564 จัดเก็บรายได้ 8,988 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 188 ล้านบาท และยังสูงสุดในรอบ 4 ปีเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ช่วงก่อนหน้า โดยเดือน มิ.ย. 2560 เก็บได้ 8,748 ล้านบาท เดือน มิ.ย. 2561 เก็บได้ 8,686 ล้านบาท เดือน มิ.ย. 2562 เก็บได้ 8,187 ล้านบาท และเดือน มิ.ย. 2563 เก็บได้ 7,062 ล้านบาท

การเก็บภาษีที่สูงขึ้นมาจากการส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัวมาก เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ ส่วนสินค้านำเข้าเป็นรถยนต์ และสินค้าทุนวัตถุดิบสำหรับใช้ในภาคการผลิต

ส่วนยอดจัดเก็บภาษีศุลกากรในรอบ 9 เดือนของปีงบ ประมาณ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563-มิ.ย. 2564 สามารถเก็บรายได้แล้วกว่า 76,416 ล้านบาท สูงขึ้น 7% เทียบจากปีที่แล้ว 4,970 ล้านบาท และต่ำกว่าประมาณการเอกสารงบประมาณเพียงเล็กน้อย 2% หรือ 1,684 ล้านบาท แต่คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณนี้ กรมศุลฯ จะเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ปรับปรุงใหม่เกิน 93,000 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มการเก็บรายได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564

สาเหตุที่ทำให้กรมฯ จัดเก็บรายได้ดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ทำให้ภาคการส่งออกและนำเข้าของไทยกลับมาขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกช่วงครึ่งปีขยายตัวแล้วกว่า 15% และยังทำสถิติสูงสุดรอบ 11 ปี

นอกจากนี้ กรมศุลฯ ยังนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวก นำเข้าส่งออกสินค้า เช่น การตรวจปล่อย การเอกซเรย์ รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลผ่าน ระบบเนชันแนล ซิงเกิล วินโดว์กับ 37 หน่วยงาน ซึ่งช่วยประหยัดเวลา ลดภาระผู้ประกอบการในการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดการใช้เอกสารกระดาษทั้งแบบฟอร์มคำขอต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเข้าส่งออกได้กว่า 100,000 ราย

พชร กล่าวว่า ขณะเดียวกันทางกรมศุลฯ ยังมี นโยบายเร่งรัดปราบปราม การลักลอบสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี โดยร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนการลักลอบนำสินค้าเข้ามาแบบผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

"ส่งผลให้ยอดในเดือน มิ.ย. 2564 สามารถจับกุมได้ 1,396 คดี คิดเป็นมูลค่า 80.58 ล้านบาท อาทิ ยาเสพติด 18 คดี มูลค่า 39.87 ล้านบาท รวมถึงเฮโรอีน น้ำหนัก 314 กก. มูลค่า 943 ล้านบาท การจับกุมน้ำมันเชื้อเพลิง การลักลอบสินค้าเกษตร บุหรี่ 34 คดี มูลค่า 3.6 ล้านบาท บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า 13 คดี มูลค่า 592,446 บาท".