ไม่พบผลการค้นหา
เนเธอร์แลนด์ ก้าวข้ามวิกฤตอุทกภัยซ้ำซากด้วย 'Delta Works' โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการจัดการน้ำที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก นอกจากจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาว ยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมภาคการเกษตรจนรั้งตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 2 ของโลกในปี 2563

​ย้อนไปเมื่อปี 2496 ประเทศเนเธอร์แลนด์ต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ในคืนวันที่ 31 ม.ค. ซึ่งน้ำท่วมใหญ่นี้รู้จักกันในชื่อ '1953 North Sea Flood' เป็นอุทกภัยที่คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 2,000 ราย ทำลายพื้นดินกว่า 937,500 ไร่ พื้นที่ 9% ของประเทศจมอยู่ใต้น้ำ คนนับแสนไร้ที่อยู่ฉับพลัน ขณะที่บ้านเรือนเกือบ 5,000 หลังก็ถูกน้ำทำลายเสียหายอย่างหนัก

ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องจากมวลน้ำมหาศาลและลมคลื่นแรงทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือถาโถมเข้าสู่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่า 'Low Countries' คือเป็นประเทศแผ่นดินต่ำ พื้นที่ราว 20% ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ขณะที่พื้นที่ประมาณ 17% ก็เกิดจากการถมทะเลขึ้นมาอีก และใช่ว่าพื้นดินที่เหลือจะอยู่สูงกว่าน้ำทะเลมากจนไม่ต้องกังวลอะไร เพราะจริงๆ แล้ว 50% ของประเทศก็อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ 1 เมตรเท่านั้น จะมีพื้นที่ที่พอจะมีวิวทิวทัศน์ที่เป็นฮิลล์ เป็นเนินเขาหน่อยก็คือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

นอกจากนั้นภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์ยังตั้งอยู่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไรน์-เมิซ-สเกลต์ ซึ่งเชื่อมติดกับทะเลเหนือ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์จะรอดพ้นจากเหตุอุทกภัย ทั้งกรณีน้ำท่วมที่มันเกิดขึ้นจากปริมาณน้ำทะเลเอ่อล้น และจากกรณีที่พายุพัดคลื่นลมเข้าถล่มชายฝั่งเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต

หลังจากบทเรียนครั้งสำคัญ '1953 North Sea Flood' รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไม่นิ่งดูดาย มีการใช้งบประมาณมหาศาลอย่างชาญฉลาด นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันประเทศจากภัยพิบัติที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้อีกในทุกๆ ปี อีกทั้งรัฐบาลก็มองว่าการก่อสร้างและเฝ้าบูรณะพนังกั้นน้ำบริเวณชายฝั่งให้คงสภาพดีเสมอถือว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินไปและมีค่าใช้จ่ายสูงมากโดยไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน 

หลังจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนั้นบรรเทาลงเพียง 20 วัน คณะกรรมการสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ก็ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาตัดสินใจสานต่อแผนการเดิมที่ชื่อว่า "เดลตาแพลน" ผนวกกับแผนการเพิ่มเติม ที่มีมาตรการรองรับครอบคลุมยิ่งขึ้นกลายเป็น "โครงการเดลตาเวิร์กส์"


"เดลตาเวิร์กส์" โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและควบคุมผลกระทบจากอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

มูลค่ารวมตอนก่อสร้างเสร็จคือประมาณ 240,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการย่อยมากมายทั้งสิ้นถึง 16 โครงการ มีทั้งโครงการที่เป็น พนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำ กำแพงกันคลื่น เขื่อน โดยส่วนที่เป็นเขื่อนจะทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำให้แยกออกจากกัน การทำเช่นนั้นส่งผลดีทำให้ตัวชายฝั่งรับน้ำถูกเลื่อนให้อยู่ไกลจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนไปยังทางตะวันตกของประเทศ ลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

มวลน้ำด้านในเขื่อนยังเป็นน้ำที่สะอาด ประชาชนสามารถนำน้ำตรงนี้ไปใช้ประกอบอาชีพทางการเกษตรได้อีกด้วย

เนื่องจากการกั้นน้ำจืดและน้ำเค็มด้วยตัวโครงสร้างที่สร้างขึ้น ส่งผลโดยตรงทำให้ไม่จำเป็นต้องมีน้ำจืดปริมาณมากเท่าเดิมในการแบ่งเขตน้ำทะเล ประชาชนจึงสามารถนำน้ำจืดไปใช้ทางการเกษตรได้เลยเต็มๆ สร้างรายได้มหาศาลให้กับเนเธอร์แลนด์ในแต่ละปี

ส่วนปริมาณน้ำจืดที่เพิ่มขึ้นมาเกินความจำเป็นก็สามารถถูกผันไปใช้ยังพื้นที่ที่มีความต้องการทางตอนเหนือของประเทศได้อย่างง่ายดายเพราะมีระบบคอยจัดการ ขณะที่การบริหารจัดการน้ำดีและน้ำเสียทั้งประเทศก็ยังสามารถควบคุมได้ง่ายจากระบบของ Delta Works อีกด้วย


โครงสร้างแบบยืดหยุ่น ไม่ทำลายอาชีพดั้งเดิม ส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยว

ส่วนที่เป็นโปรเจ็คของประตูระบายน้ำ จะทำงานอย่างมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์โดยการปิดประตูระบายน้ำเป็นบางครั้งเท่านั้น คือจะปิดเฉพาะช่วงเวลาที่มีคลื่นลมแรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำทะลักเข้าสู่บริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน ไม่ได้เป็นการปิดกั้นน้ำทะเลจากการไหลสู่แม่น้ำด้านในอย่างถาวร

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการปิดประตูตามสถานการณ์จะทำให้ชาวประมงที่ดำรงชีพด้วยการจับปลาทะเล สามารถทำอาชีพดั้งเดิมได้ต่อไป ไม่ได้เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมาแล้วไปทำลายอาชีพแหล่งทำกินของประชาชน ไม่ต้องขับไล่ให้ประชาชนย้ายถิ่นฐานไปเอาชีวิตรอดกันเอง ถ้ามีการย้ายก็ย้ายเท่าที่จำเป็นและได้รับการดูแลจากรัฐบาล

เท่านั้นยังไม่พอ การลงทุนกับ Delta Works ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเดินทางมากขึ้นอีกด้วย ไม่ได้มีข้อดีแค่เรื่องการจัดการน้ำ แต่มันได้เปลี่ยนและยกระดับคุณภาพของชีวิตผู้คนในมิติต่างๆ เกาะหลายเกาะ และคาบสมุทรมากมายที่ถูกทิ้งร้างมานานเป็นร้อยปีอย่างพื้นที่ส่วนใหญ่ของ 'Zeeland' ก็ถูกเชื่อมโยงกลับมาหาวิถีชีวิตของผู้คนทันที หลังมีการก่อสร้างสะพาน Zeeland Bridge และอุโมงค์เมื่อปี 2546 นอกจากนั้นก็ยังมีการเชื่อมโยงระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำที่ไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ภายในประเทศ แต่เป็นการเชื่อมต่อไปยังประเทศเบลเยียมตามข้อตกลงการส่งสินค้าของทั้งสองประเทศอีกด้วย

Delta Works ใช้เวลาสร้างยาวนาน 47 ปี คือตั้งแต่ปี 2493-2540 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 240,000 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการเดลตาเวิร์กส์ได้ถูกสร้างแล้วเสร็จมาเข้าสู่ปีที่ 24 แล้ว และด้วยความที่เป็นโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและควบคุมผลกระทบจากอุทกภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก Delta Works ได้รับการจัดอันดับให้เป็น หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันอีกด้วย

มาตรการป้องกันน้ำท่วมของเนเธอร์แลนด์ซึ่งประสบความสำเร็จและกลายเป็นแบบอย่างของนานาประเทศ มีการเดินทางไปดูงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะวิสัยทัศน์ของผู้นำและรัฐบาล ความต่อเนื่องของการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นโจทย์หลัก และการให้ความร่วมมือจากประชาชนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายครั้งในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องการน้ำท่วมต้องแลกมาด้วยการย้ายที่อยู่ของประชาชนนับร้อยหลังคาเรือน ซึ่งพวกเขาได้รับการชดเชยจากรัฐบาลอย่างสมเหตุสมผลเสมอมา


ภาษีจัดการน้ำ มาพร้อมกับ 'คุณภาพชีวิต'

ขณะเดียวกันหลังการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบริหารจัดการน้ำเสร็จ การจัดเก็บภาษีเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันน้ำจากนะเลเหนือ แม่น้ำใหญ่ทั้งสามสายของยุโรป ไปจนถึงแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งประเทศ ไปจนถึงระบบบำบัดน้ำเสีย งบประมาณสำหรับการดูแลรักษาต่อเนื่องก็สำคัญมากเช่นกัน โดยปัจจุบันนี้ชาวเนเธอร์แลนด์จ่ายภาษี Water Authority Tax ภาษีจัดการน้ำอยู่ที่ประมาณ 200-500 ยูโรหรือราว 7,800-19,000 บาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามฐานรายได้และเขตพื้นที่ที่อยู่อาศัยของแต่ละครอบครัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้กระทั่งในขณะนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่าโครงการ Delta Works แท้จริงแล้วนั้นดีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือไม่ แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือโครงการดังกล่าวสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนทั้งประเทศ อีกทั้งยังเพิ่มพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติให้มากขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถวางแผนชีวิตและการทำงานได้โดยไม่ต้องรอพึ่งแค่ดินฟ้าอากาศเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องรอลุ้นว่าปีนี้จะมีน้ำไหม หรือปีนี้จะเจออุทกภัยครั้งใหญ่อีกจนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวหรือเปล่า

ข้อพิสูจน์ที่เป็นรูปธรรมคงจะหนีไม่พ้นการที่ใน ปี 2563 เนเธอร์แลนด์สามารถส่งออกผลผลิตทางการเกษตรได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.76 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลไม่สร้างระบบการจัดการน้ำในสเกลที่ใหญ่และเปี่ยมล้นไปด้วยคุณูปการแบบ Delta Works เมื่อราว 70 ปีที่ผ่านมา ชาวเนเธอแลนด์คงยังจมอยู่กับหายนะทางอุทกภัยไม่รู้จบ