ไม่พบผลการค้นหา
การบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลเลบานอน ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าใกล้ล้มละลาย อีกทั้งกำลังดับแสงสว่างและความหวังของคนทั้งประเทศ

"ลองนึกภาพชีวิตของคุณโดยที่ไม่มีไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ โรงพยาบาล หรือวัคซีนดูสิ .. การมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 โดยไม่มีใช้ไฟฟ้านั้นช่างเหนือจินตนาการ" ส่วนหนึ่งของคำแถลงที่ เรย์มอด์ กายาร์ (Raymond Ghajar) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเลบานอน เคยกล่าวเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยยอมรับว่า ประเทศจะค่อยๆ เข้าสู่ความมืดมิดทั้งหมด เนื่องจากรัฐขาดกระแสเงินสดเพื่อซื้อเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้า

พลังงานไฟฟ้าในเลบานอน ถูกบริหารจัดการผ่าน Électricité du Liban รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศ ทว่าด้วยความที่เลบานอน เผชิญปัญหาภายในหลายประการทั้งด้านการเมือง คอรัปชัน เศรษฐกิจที่ตกต่ำมาเรื้อรังหลายทศวรรษ ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้อนาคตของประเทศส่อเค้ามืดมิด ไม่ต่างกับวิกฤตพลังงานไฟฟ้าที่กำลังเผชิญ

เลบานอน ไฟฟ้า

จากสถิติของ Trading Economics ในปี 2563 “ปารีสแห่งตะวันออกกลาง” ต้องรับมือกับปัญหามากมายที่ถาโถมทั้งวิกฤตเศรษฐกิจเรื้อรัง อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Debt-to-GDP) สูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลกอยู่ที่ 171.7 % ผนวกกับผลกระทบจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเส้นเลือดหลักของประเทศยังไม่มีวี่แววฟื้นตัว ประกอบกับปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองจากการประท้วงใหญ่เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 

เลบานอนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกจากเหตุการสารเคมีระเบิดขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเบรุตเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูเมือง เหตุการณ์ระเบิดในครั้งนั้น ทำให้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาคอรัปชันที่เคยถูกซุกอยู่ใต้พรม กลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายอีกครั้ง วิกฤตด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะการล่มสลายของค่าเงินปอนด์เลบานอน ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ความยากจนและการว่างงานที่เพิ่มขึ้น มีแต่ทำให้ปัญหาไฟฟ้าแย่ลง

เลบานอน

มาร์ค อายูบ (Marc Ayoub) นักวิจัยด้านพลังงานที่สถาบัน Issam Fares จากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต กล่าวว่า “มันมีวิธีอีกมากมายที่ใช้แก้ไขวิกฤตนี้ แต่ไม่ว่าจะเสนออะไรก็ขัดต่อผลประโยชน์ของเหล่าผู้นำทั้งนั้น ถ้าเราจ่ายเดือนละ 200 ล้านดอลลาร์ เราจะจ่ายได้ได้อีกสองหรือสามเดือน แต่หลังจากนั้นเราก็ไม่สามารถทำได้แล้ว”

เลบานอนเป็นประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายแบบแปลกๆ กล่าวคือ ไม่ว่าจะเปลี่ยนมือรัฐบาลมากี่ชุด แทบไม่เคยมีรัฐบาลใดผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าในเพิ่ม เพื่อเติมเต็มความมั่นคงด้านพลังงานมี มีแต่การจัดซื้อพลังงานโดยส่วนใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีในประเทศนั้นก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ดี ส่งผลให้เป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษแล้วที่ชาวเลบานอนใช้ชีวิตแบบ "นิวนอร์มอล" ที่มีกิจวัตรประจำวันคือการปันส่วนไฟฟ้าใช้ หลายพื้นที่ในในกรุงเบรุตต้องตกอยู่ในความมืดเฉลี่ยวันละกว่า 3 ชั่วโมงกินเวลายาวนานกว่านั้นในพื้นที่อื่น บางวันประชาชนไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องปรับตัวและจัดระเบียบชีวิตโดยพิจารณาจากการตัดยอดเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้ชาวเลบานอนในหลายบ้านมีเครื่องปั่นไฟประจำครัวเรือน 'กัสเซม' (Kassem) ผู้จัดจำหน่ายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แสดงความกังวลว่า “ประชาชนจะต้องจ่ายมากขึ้น เมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น  ซึ่งเราไม่สามารถใช้เครื่องปั่นไฟมาทดแทนไฟฟ้าทั้งหมดของรัฐได้ เครื่องปั่นไฟไม่สามารถทดแทนช่องว่างทางพลังงานของรัฐได้”

เลบานอน

ปัญหาด้านพลังงานที่เรื้อรังเป็นเวลาหลายสิบปี สะท้อนตัวอย่างอันโดดเด่นของการคอรัปชันที่หยั่งรากลึกมานานของเลบานอน ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียเงินสาธารณะ เงินใต้โต๊ะ การจัดการที่ผิดพลาด และความล้มเหลวในการปฏิรูปของรัฐบาล 'นาซี เนกม์' (Nazih Negm) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ออกมาแถลงว่า “ชาวเลบานอนได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับการตัดไฟมานานแล้ว” สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลที่ไม่ได้มองว่า “ไฟฟ้า” เป็นปัญหาที่เร่งด่วนของประชาชน สอดคล้องกับบรรดาผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนได้แสดงความเห็นอย่างดุเดือดว่า “ระบบการเมืองที่แบ่งอำนาจตามผลประโยชน์ แม้กระทั่งการสร้างโรงไฟฟ้าก็ยังต้องเชื่อมโยงกับชนชั้นนำทางการเมืองของประเทศ”

กรณีที่น่าสังเกตคือการเสนอจัดตั้งโรงไฟฟ้าในเมืองชายฝั่งทางเหนือของซีลาร์ตาร์ Selaata เมื่อปี2562 ซึ่งเมืองนี้ไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในรายชื่อการพิจารณาตั้งแต่แรก นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองต่าง กล่าวหากระทรวงพลังงานว่าได้รับการสนับสนุนจากพรรครักชาติอิสระ (Free Patriotic Movement - FPM) อันเป็นพรรคการเมืองที่ 'มิเชล อาอูน' (Michel Aoun) ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง โดยว่าการเสนอดังกล่าวเป็นสร้างแรงจูงใจทางการเมือง

เลบานอน

เหตุที่ไฟฟ้าของเลบานอนอาจดับในเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจอย่าง Électricité du Liban (EDL) กำลังประสบปัญหาขาดเงินทุนในการจัดซื้อเชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟ ประกอบกับเมื่อบริษัทคาร์พาวเวอร์ Karpower ของตุรกีได้ปิดเรือบรรทุกไฟฟ้าลอยน้ำ 2 ลำ ซึ่งจ่ายไฟฟ้าให้กับเลบานอนถึงหนึ่งในสี่ของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลเบรุตค้างชำระเงิน รัฐบาลจึงออกจดหมายไปยังธนาคารกลางเพื่อขอกู้เงินสำรองมาจัดการแก้ปัญหา จากข้อมูลของ Al Jazeera ระบุว่าเงินล่วงหน้านั้นสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์ และในขณะนี้เงินอุดหนุนของธนาคารกลางประมาณ 15 ล้านดอลลาร์กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว 

ทั้งนี้ ไม่มีสิ่งใดจะรับประกันได้ว่าในอนาคต ชาวเลบานอนจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ได้อีกนานเมื่อใด ในเมื่อไม่ลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันกลับใช้เงินจากการกู้และการบริจาคแก้สถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ 

ที่มา: UPI , Aljazeera , Insider , Reuters , AFP