ไม่พบผลการค้นหา
อ่านร่างและแสดงความเห็นได้ที่ dtam.moph.go.th ตั้งแต่วันที่ 9-23 ม.ค. ก่อนหน่วยงานสรุปผลชงเสนอคณะรัฐมนตรี

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิด รับฟังความเห็นต่อ  (ร่าง)พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.....เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น Online ทางเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th ตั้งแต่วันที่ 9-23 มกราคม 2567 เพื่อสรุปผลการรับฟังความเห็นและรายงานผลการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากกฎหมายก่อนชงเสนอคณะรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ เมื่อ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคสังคมเข้าร่วม

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนเอง และสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง หรือสารสกัดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในเชิงสุขภาพ ทำให้การใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเป็นระบบมากขึ้น 


นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ร่างฉบับนี้ แตกต่างจากร่างที่ทางสส.รวบรวมรายชื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มาจากร่างของกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ดังนี้ 


1) จำนวนมาตรา จาก 94 มาตราเหลือเพียง 76 มาตรา 


2) เปลี่ยนผู้อนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็น อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 


3) การเพาะปลูกกัญชากัญชง ต้องขอใบอนุญาตเท่านั้น ไม่มีการขอจดแจ้งการเพาะปลูก 


4) ห้ามบริโภคกัญชาเพื่อการสันทนาการแม้กระทำเพียงคนเดียวก็มีโทษอาญา 


5) ไม่มีบทกำหนดเขตสูบกัญชาไว้เป็นการเฉพาะ 


6) ใบอนุญาตจำหน่ายและแปรรูป ส่งออก และศึกษาวิจัย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยจะยังสามารถใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต 


รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ ระบุชัดว่า ถ้าจะปลูกต้องขออนุญาต ไม่ใช่เพียงการจดแจ้งเหมือนร่างกฎหมายเดิม หากปลูกไม่เกิน 5 ไร่ จะเป็นการปลูกทั่วไป ถ้าปลูก 6-20 ไร่ จะปลูกระดับกลาง การปลูกมากกว่า 20 ไร่ แต่ไม่เกิน 400 ไร่ จะปลูกในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้จะเขียนระดับการอนุญาตเอาไว้ นอกจากนี้ร่างฉบับใหม่จะชัดเจนในนิยามคำว่า สันทนาการ ฉบับเดิมไม่มี ฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าถ้าจะป้องกันไม่ให้นำกัญชง กัญชาไปใช้ผิดประเภท พฤติกรรมของการใช้เชิงสันทนาการสุ่มเสี่ยงใช้ผิดประเภท จึงระบุไว้ชัด และยังมีบทกำหนดโทษ เช่น คุ้มครองบุคคลไม่ให้ใช้กัญชาผิดประเภท หากเปิดร้านจำหน่ายช่อดอกกัญชาผิดไปจากสถานที่กำหนดจะมีความผิดทั้งผู้จำหน่ายและผู้ซื้อ กฎหมายเอาทั้ง 2 กรณี ไม่ห้ามเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง ห้ามเปิดร้าน ห้ามเสพด้วย โทษบางอย่างไม่ต้องเขียนหนัก เขียนให้เหมาะสมกับบริบทกับกฎหมายอาญาทั่วไป บางอย่างก็หนักขึ้น



“เราเปิดรับฟังความคิดเห็นเต็มที่เพื่อเอามาปรับ ร่างยังไม่ถือว่าเสร็จสมบูรณ์ เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นแล้วเอาเนื้อหาที่ไม่เห็นด้วยมาประกอบปรับแก้ก่อนเสนอ ครม. เมื่อเห็นชอบก็เสนอเข้าสู่สภา ผู้ประกอบการ คนมีส่วนได้ส่วนเสีย ก็สามารถเสนอความเห็นให้แก่ ส.ส.ผู้แทน เพื่อปรับแก้ในชั้นนี้ได้อีก” นพ.ชลน่านกล่าว