รัฐบาลญี่ปุ่นนำโดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของประเทศ วางแผนที่จะใช้เม็ดเงินมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (32,790 ล้านล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อีกทั้งยังคิดเป็นมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่สหรัฐฯ ใช้ในการเยียวยาประชาชนอเมริกันด้วย นับว่ารัฐบาลญี่ปุ่นเลือกจะใช้เม็ดเงินมหาศาลในการช่วยเหลือเศรษฐกิจตัวเอง เพราะสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ อยู่แค่หนึ่งในสี่เท่านั้น
อาเบะ กล่าวว่า “เราจะจ่ายเงินสดมูลค่า 6 ล้านล้านเยน (1.8 ล้านล้านบาท) ออกไปให้ครอบครัวประชาชนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เผชิญความยากลำบาก” โดยจะเริ่มแจกจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ อีกทั้งรัฐบาลจะเข้าไปดูแลเรื่องการจ้างงานด้วย
จากมาตรการเยียวยาดังกล่าว จะแบ่งเป็นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ประสบปัญหารายได้ตกต่ำจากการแพร่ระบาด สูงสุดรายละ 18,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600,000 บาท และจะเป็นการแจกเงินจำนวน 2,760 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 90,000 บาท ให้กับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ระหว่างเดือน ก.พ. - มิ.ย.
การรับเงินเยียวยาในครั้งนี้ ครอบครัวผู้ยื่นคำร้องจำเป็นต้องแสดงหลักฐานรายได้ที่ลดลงให้กับรัฐบาลในเทศบาลที่ตนอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตามนักสังเกตหลายคนก็ออกมาแสดงความกังวลว่าเม็ดเงินดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงมือประชาชนเนื่องจากกระเบียบราชการที่มีความล่าช้า
ในจำนวนเม็ดเงินมูลค่ากว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี จะยังถูกแบ่งไปเพื่อสนับสนุนการผลิตยา ‘อาวิแกน’ ที่ได้รับการทดลองแล้วว่าสามารถรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น โดยจะใช้งบประมาณราว 108 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 32.56 ล้านล้านบาท
กระบวนการเยียวยาประชาชนโดยการอีดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบมีการปรับใช้ในหลายประเทศ ของประเทศไทยมาในรูปแบบเงินช่วยเหลือจำนวน 3 เดือน เดือน 5,000 บาท แต่สิ่งที่แตกต่างกันของการปรับใช้นโยบายคือขั้นตอนในการดำเนินเรื่องรับเงินเยียวยา
ฝั่งไทยและญี่ปุ่นใช้กระบวนการให้ประชาชนยื่นเรื่องหรือยื่นเอกสารเข้ามาก่อนที่จะมีการพิจารณาประเมินผล อย่างไรก็ตาม ในสหราชอาณาจักรที่เคยประกาศสนับสนุนเงินผู้ทำงานอิสระร้อยละ 80 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน และให้ในวงเงินสูงสุด 3,060 ปอนด์/เดือน หรือประมาณ 123,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ไม่ได้ใช้วิธีให้คนงานกรอกข้อมูลเข้ามา แต่รัฐบาลจะตัดสินใจเลยจากข้อมูลฐานภาษีที่มีอยู่แล้วในมือ แล้วจึงส่งคำถามไปยังประชาชนว่าต้องการรับเงินดังกล่าวหรือไม่แทน หากประชาชนตกลงก็จะได้รับเงินโอนเข้าธนาคารของตนไปบัญชีเงินฝากทันที
เมื่อเปรียบเทียบกับฝั่งสหราชอาณาจักร ระบบจัดการข้อมูลภาษีของญี่ปุ่นไม่ได้ถูกทำให้รวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลางแต่ขึ้นตรงกับรัฐบาลท้องถิ่นจึงไม่แปลที่จะต้องให้ประชาชนยื่นเรื่องกับแต่ละท้องถิ่นของตน อย่างไรก็ตามเมื่อมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยจะพบว่าระบบรวบรวมข้อมูลภาษีของประชาชนมีความคล้ายคลึงกับสหราชอาณาจักร คืออยู่ภายใต้กรมสรรพากร ซึ่งหมายความว่ากรมสรรพากรภายใต้กระทรวงการคลังมีตัวเลือกในการบังคับใช้นโยบายแจกเงิน 5,000 บาท โดยไม่ต้องให้ประชาชนไปลงทะเบียนอย่างที่สหราชอาณาจักรทำเช่นเดียวกัน
สำหรับงบประมาณมูลค่ามหาศาลในครั้งนี้ ญี่ปุ่นแบ่งใช้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกในเรื่องของเงินช่วยเหลือประชาชนและเงินสนับสนุนการผลิตยา และส่วนที่สองเป็นไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงการฟื้นตัวให้กลับมาอย่างรวดเร็วตามแบบจำลองรูปตัววี (v-shape) ซึ่งจะแบ่งไปสนับสนุนทั้งภาคการท่องเที่ยว การเดินทาง ร้านอาหาร และการจัดงานต่างๆ
อ้างอิง; Nikkei Aisan Review, Fortune, JT, CNN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;