พลโทภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษา พรรคเพื่อไทยและอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึงรายงาน "โครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ" ของฝ่ายความมั่นคงและเป็นความลับ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎร ในการอภิปรายทั่วไปว่า ไม่ว่าจะเป็นความจงใจอย่างที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือเป็นความเผลอเรอ ของนายกรัฐมนตรีก็ตามตาม ล้วนถือเป็นความผิดพลาดและให้ผลในแง่ลบ ทั้งต่อตัวรัฐบาลเอง ต่อความมั่นคงของชาติและ สถานการณ์ทางสังคมที่ต้องการความสมัครสมานสามัคคี
เนื่องจากเอกสารมีชั้นความลับและรายงานที่เกี่ยวข้องจะมีหน้าปกหลายชั้น ไม่แสดงชื่อรายงานอย่างชัดเจนเช่นนี้ และผู้ที่ถือเอกสารลับย่อมมีระเบียบในการปฏิบัติ ซึ่งจุดนี้ถือว่า นายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง อาจทำผิดระเบียบเสียเอง ซึ่งต้องระมัดระวังมากกว่านี้ ไม่ควรปล่อยให้เอกสารหลุดออกมาแล้วสร้างความสับสน เกิดการตีความต่างๆนานาเช่นนี้
ที่สำคัญคือ เกิดความหวาดระแวงหรือสงสัยในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยว่าอาจจะเป็น "ผังล้มเจ้าภาค 2" ที่สุดท้ายแล้วเป็นเพียงเรื่องไม่จริง ที่ผู้มีอำนาจต้องการใช้ความมั่นคงของชาติซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น และจะปฏิเสธความกังวลนี้ของประชาชนไม่ได้ เนื่องจาก เอกสารปรากฏในวันอภิปรายทั่วไป สอดรับกับภาวะที่กรมประชาสัมพันธ์มีความขัดแย้งกันเองเรื่องการใช้ข่าวเท็จ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง รวมถึงการที่ผู้บัญชาการทหารบก มีท่าทีต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลและจะมีการเขียนรายงานที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ด้วย
พลโทภราดร เสนอว่า เมื่อ เรื่องดังกล่าว หลุดออกมาและเป็นกระแสในสังคมผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงว่า ปล่อยให้มีการหลุดออกมาในลักษณะดังกล่าวได้อย่างไร และชี้แจงภาพรวมกว้างๆ โดยไม่ลงรายละเอียด เชิงลึกของรายงานลับ ฉบับดังกล่าว ให้สังคมหายเคลือบแคลงสงสัยในเป้าประสงค์ที่แท้จริง หากมีผู้กระทำผิด ก็ดำเนินการ ตามกฎหมายหรือ เปิดเผยความ คืบหน้าและการดำเนินการ ที่ไม่กระทบกับความมั่นคงหรือรูปคดี ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เอกสารด้านความมั่นคงที่เป็นชั้นความลับ เป็นเพียง"งานข่าว" ที่อาจนำสู่การจับกุมผู้กระทำผิดได้ในชั้นศาล หรือ อาจเป็นเพียง"งานข่าวชั้นต้น ที่รายงานสภาพการณ์ทั่วไปตามปกติ" ที่จะต้องสืบสวนต่อโดยยังไม่สามารถเอาผิดผู้ต้องสงสัยได้ แต่สำคัญที่สุดคือผู้ถือเอกสารลับต้องระมัดระวังมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกตีความในแง่ลบว่ามี ว่าใช้ความมั่นคงของชาติเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อความมั่นคงของรัฐบาลเพียงเท่านั้น
พลโทภราดร กล่าวถึงภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ว่ามีความสลับซับซ้อนอย่างที่ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเคยสื่อสารต่อสังคม แต่การบริหารจัดการเรื่องนี้ ผู้มีอำนาจต้องระมัดระวัง คำนึงถึงความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะอาจจะนำสู่ความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองได้ จากการจัดการที่ผิดวิธี
พร้อมกันนี้ พลโทภราดร ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดูแลความมั่นคงภายใน ของประเทศไทยระยะหลังว่า ให้ความสำคัญและบทบาทนำกับทหารมากเกินไป ทั้งที่ความจริงแล้ว ควรเป็นหน้าที่ของพลเรือนและตำรวจตามหลักการสากล ส่วนกองทัพควรเป็นผู้สนับสนุนในเชิงปฏิบัติการเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม วิธีคิดของฝ่ายที่ต้องการสืบทอดอำนาจหรือรัฐบาลที่ไม่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตย มักจะใช้การทหารนำการเมืองในการจัดการภัยความมั่นคงรูปแบบต่างๆ และถือเอาความมั่นคงของรัฐบาล ว่าคือความมั่นคงของชาติ ซึ่งแม้คาบเกี่ยวกันแต่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนอยู่ ซึ่งสุดท้ายแล้ว การใช้ข้ออ้างความมั่นคงของรัฐมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง จะไม่ส่งผลดีต่อตัวรัฐบาลเองและสังคมโดยรวมแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :