ไม่พบผลการค้นหา
ป๋อม - กิตติ ไชยพร’ ครีเอทีฟโฆษณา แสดงทัศนะและข้อคิดเห็นต่อป้ายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย พร้อมเลือก 4 ป้ายที่เห็นว่าโดดเด่นที่สุด

เทศกาลหาเสียงเลือกตั้งและความคึกคักในระบอบประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจาก ‘ป้ายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง’ ถูกติดตั้งและวางเรียงรายตามท้องถนน 

รูปแบบการโฆษณาที่มีความเก่าแก่ชนิดนี้ยังคงเป็นที่นิยม โดยมีเป้าหมายเพื่อแนะนำตัวผู้สมัคร แสดงชื่อพรรค เบอร์ ตลอดจนนโยบายและข้อความต่างๆ เพื่อเรียกคะแนนเสียงในวันที่ 24 มี.ค. นี้ 

วอยซ์ออนไลน์ ชวน ‘ป๋อม - กิตติ ไชยพร’ ครีเอทีฟในแวดวงคนทำโฆษณา และผู้ก่อตั้งเอเจนซี่สัญชาติไทย 'มานะ' พูดคุยและแสดงทัศนะเรื่องป้ายหาเสียงของพรรคการเมืองไทย 

ป๋อม ไชยพร

คิดเสียก่อนว่า ไม่มีใครอยากดูเรา

“สอบตกทุกพรรคครับ” ครีเอทีฟหนุ่มเริ่มต้นพร้อมกับฉีกยิ้ม เมื่อถูกขอความเห็นถึงป้ายหาเสียงทั่วฟ้าเมืองไทยขณะนี้

“คุณทำป้ายเพื่อประกาศว่าขออาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่แค่เริ่มต้นป้ายก็สร้างปัญหาให้กับพวกเราแล้ว กีดขวางทางเท้า รถจะเลี้ยวออกจากซอยก็มองไม่เห็นรถที่วิ่งมา จนเกือบจะเกิดอุบัติเหตุ เพราะป้ายพวกคุณมาบัง ขนาดป้ายยังสร้างความเดือดร้อนขนาดนี้ แล้วถ้าเราเลือกพวกคุณเข้ามา เราจะแน่ใจว่าคุณจะไม่สร้างปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ ผมไม่อยากเชื่อเลยว่า พวกคุณอาสาอยากจะมารับใช้ประชาชนจริงๆ”

หลักเกณฑ์ข้อแรกที่เป็นหัวใจของการสื่อสารและโฆษณาคือ “คิดเสียก่อนว่า ไม่มีใครอยากดูเรา” ต้องคิดให้แตกว่า ท่ามกลางสิ่งล่อตาล่อใจจำนวนมาก ทั้งป้ายหาเสียงของพรรคอื่น ผู้คน จอสมาร์ทโฟน และโฆษณาอื่นๆ ทำอย่างไรผู้บริโภคถึงจะอยากดูเรา

“ไม่ได้มีคุณป้ายเดียวในเมืองนี้” ครีเอทีฟหนุ่มบอกต่อ “ป้ายโฆษณากลางแจ้ง ผู้ที่ได้รับชมจะเคลื่อนที่อยู่ตลอด เช่น เดิน วิ่ง นั่งรถผ่าน ฉะนั้นยิ่งเนื้อหามาก ยิ่งไม่มีประโยชน์ ต้องมีเพียงหมัดเดียวแล้วสามารถทำให้คนจดจำ มีพลังและสร้างความแตกต่างได้”

ป้ายหาเสียง เพื่อไทย

ในภาพรวมป้ายหาเสียงปัจจุบันมีลักษณะและเป้าหมายคล้ายๆ กันคือ 1. นำเสนอชื่อพรรค เบอร์ ชื่อผู้สมัคร 2. นำเสนอนโยบายและเป้าหมาย 3. นำเสนอปัญหา และ 4. นำเสนอวิธีการแก้ไข โดยเขาเห็นว่าสิ่งสำคัญที่พรรคการเมืองควรตระหนักคือ การใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์และระมัดระวัง เพราะถือเป็นตัวสะท้อนภาพลักษณ์ของพรรคและเชิญชวนให้ผู้คนอยากเลือกคุณเข้าสภา 

“บางพรรคนำเสนอข้อดี บางพรรคโจมตีข้อเสียของสถานการณ์ปัจจุบันหรือพรรคอื่น ไม่มีถูกผิดในโลกโฆษณา พลังของการชวนเชื่ออยู่ที่ว่า อันไหนสามารถทำงานได้มากกว่า แต่ในมุมมองของผม เราพูดข้อเสียได้ แต่ควรนำเสนอเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้วย คุณจะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยอะไรและอย่างไร” 


สร้างสรรค์และมีประโยชน์  

เขาเห็นว่าจากอดีตถึงปัจจุบัน ป้ายหาเสียงยังคงมีรูปแบบเดิมๆ ทั้งที่สามารถทำได้หลากหลายกว่าแค่ติดป้ายที่มีขนาดความกว้างไม่เกิน 1.30 เมตร ความยาวไม่เกิน 2.45 เมตร ตามที่ กกต. กำหนด โดยความสร้างสรรค์ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่ภาพและข้อความเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ประโยชน์ของมันด้วย 

“การสื่อสารเป็นศาสตร์ ไม่ใช่แค่เอาป้ายไปวาง ต้องคิดแต่แรกว่ามันจะมีประโยชน์ เชื่อมโยงหรือสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับผู้คน เช่น หลังเลือกตั้งคุณสามารถนำป้ายของเราไปทำเป็นฝาบ้านได้ ไม้และแผ่นกระดาษของเราทำมาจากวัสดุรีไซเคิล หมึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พวกนี้เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่เพิ่มคุณค่าของป้ายได้ นอกเหนือจากนโยบายถ้าเราใส่เรื่องราวลงไป มันจะทำให้คุณโดดเด่นขึ้น”

ป้ายหาเสียง อนาคตใหม่

ป๋อม กิตติ เสนอให้พรรคการเมืองเลือกสื่อสารในสิ่งที่ประชาชนอยากฟังและอยากเห็น ซึ่งหมายถึงคำมั่นสัญญานโยบายที่จับต้องได้อย่างแท้จริง มากกว่าขายความฝันที่ลอยอยู่ในอากาศ พูดกว้างๆ กำกวม อย่างพวก เราเป็นคนดี เราจะทำเพื่อประชาชน เราจะสร้างชาติ อะไรที่กว้างเป็นแม่น้ำพวกนี้ อย่าพูดเสียเลยดีกว่า

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นเป็นเพียงความคิดเห็นกว้างๆ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง เนื่องจากการทำป้ายหาเสียง ต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้านตั้งแต่กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่โฆษณา เพื่อเลือกข้อความหรือรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ โดยความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัยที่อยู่บนความรอบคอบของผู้สร้างสรรค์ 


4 ป้ายชนะเลิศ  

เมื่อลองให้ครีเอทีฟรายนี้ลองวิเคราะห์และเลือกป้ายหาเสียงที่ตัวเองคิดว่า แตกต่างและสะดุดตาจนสามารถเรียกร้องความสนใจได้อย่างกว้างขวาง ผลออกมาดังนี้

bronze เหรียญทองแดง ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 

“ผลงานอยู่ในระดับมาตรฐาน แม้จะยังอยู่ในขนบเดิมๆ ผมค่อนข้างชอบในเรื่องดีไซน์ layout เนื้อหา สีสัน เคลียร์ชัดเจน รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเลือกพรรคนี้ แต่ภาพรวมยังคงอยู่ในขนบเดิมๆ ไม่ได้โดดเด้งมาก เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนการกดไลค์ให้ในเฟซบุ๊ก แล้วก็เลื่อนผ่านไป” 

52729326_10156802608074985_7802412334953005056_n.jpg

Silver เหรียญเงิน ได้แก่ พรรคประชาชนปฏิรูป

เขาเล่าว่าเห็นป้ายนี้ครั้งแรกแทบจะแตะเบรกรถยนต์ทันที

“เขาสามารถดึงเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาโยงกับการเมืองได้ หลายๆ คนคิดไม่ถึง แต่คุณลุงท่านนี้ดึงให้เกี่ยวกันได้ อาร์ตไดเร็คชั่น เหลืองชัดมาแต่ไกล ค่อนข้างแตกต่างจากพรรคอื่น มาแรงในแง่ความแปลก ทำให้คนเห็นร้อง โอ้โห เอางี้เลยหรอ กลายเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ถ้าเป็นในเฟซบุ๊ก ภาพนี้ไม่ใช่แค่กดไลค์ แต่ถึงขั้นต้องแชร์”

นักโฆษณาหนุ่มแนะนำว่า หาก 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' เลือกมาทางนี้ ควรไปให้สุด โดยนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีจำนวนมาก มาปรับใช้ และบอกประชาชนไปเลยจะเอาธรรมะข้อไหนมาใช้ยังไง เช่น ไตรสิกขา อิทธิบาท 4 ศีล 5 ศีล 8 อริยสัจ 4 เป็นต้น

“ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นปัญหาให้กับศาสนาอื่น เพราะเชื่อว่าปลายทางของทุกศาสนาเหมือนกันคือต้องการให้ทุกคนเป็นคนดี สังคมสงบสุข”

ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป ป้ายหาเสียง พระพุทธเจ้า

Gold เหรียญทอง รวมพลังประชาชาติไทย ป้ายอุ้มหมาไปหาหมอ 

“แตกต่าง เด้งออกมาด้วยเนื้อหา ถ้าดูแค่ layout ถือว่าแย่ ไม่รู้จะมองอะไรก่อน แต่ในความรก ความแย่ของมันกลายเป็นความเด่น ท่ามกลางความเรียบร้อยของป้ายอื่นๆ ที่มีแค่คน พรรค เลข ตัวอักษร แต่ป้ายของพี่คนนี้อุ้มหมาพาไปหาหมอ ประชาชนที่ใช้สิทธิคนไหนมีหมา เห็นปุ๊ป รู้เลย หมามึงแฮปปี้แน่นอน ถ้าเลือกเขา อย่างน้อยเราก็ได้ความชัดเจน มันทำให้สะดุดและอยากติดตามต่อ ภาพนี้ไม่ใช่แค่แชร์ แต่ต้องเขียนแคปชั่นประกอบด้วย พูดง่ายๆ ว่าเราอยากพูดถึงมัน” 

ป้ายหาเสียง พลังประชารัฐ

(ภาพจากเฟซบุ๊ก Finn W Yutthana - ฟินน์ ยุทธนา)

Grand Prix รางวัลสูงสุด พรรคพลังท้องถิ่นไท

“ยอมรับเลย ครั้งแรกที่เห็นป้ายหาเสียงชุดนี้ ผมถึงกับนิ่งไปสักพัก นึกว่า โปสเตอร์โปรโมตหนังใหม่ หรือไม่ก็โฆษณาชวนทำธุรกิจขายตรง แต่พอเห็นชื่อพรรค พลังท้องถิ่นไท เท่านั้น โอ้โห นี่มันการเปลี่ยนแปลงระดับปรากฏการณ์ Disrupt มากๆ เพราะโดยปกติ ป้ายหาเสียงจะเป็น ภาพ Die Cut ผู้สมัคร กับตัวเลขตัวใหญ่ๆ แต่คงธรรมดาไปสำหรับพรรคนี้

ดูจากท่าโพสของผู้สมัครแต่ละท่าน นึกว่ามาจากหนังฮอลลีวูด มีบางท่านเหาะได้เหมือนจะมีพลังวิเศษด้วย ถ้าเลือกพวกพี่เขามา ประเทศเราบันเทิงแน่นอน ถ้ากล้าฉีกขนาดนี้ ก็เอารางวัลใหญ่จากผมไปเลย”

ท้องถิ่นไท.jpg

เขาสรุปทิ้งท้ายว่า ป้ายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนความเชื่อของคน อย่างไรก็ตามต้องอาศัยการบูรณาการกับกระบวนการสื่อสารด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การรับฟังเสียงของผู้สมัครผ่านช่องทางต่างๆ การพบเห็นในหน้าโซเชียลมีเดีย หากทุกอย่างสอดคล้องและชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน ภาพรวมเหล่านั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจในที่สุด 

“ทุกคนควรพูดในสิ่งที่เป็นจุดยืนและกลยุทธ์ของตัวเอง โดยมีความชัดเจนมากๆ สุดท้ายแล้วความจริงใจและปัญญาของผู้ลงสมัคร คือสิ่งที่ชาวบ้านเขามองหามากที่สุด ” เจ้าของเอเจนซี่มานะกล่าว


กฎระเบียบเรื่องป้ายผู้สมัครของ กกต.
  • ป้ายขนาด A3 ที่เป็นบอร์ดของสถานที่ราชการ อาทิ อำเภอ ศาลากลางจังหวัด โดยแต่ละพรรคจะมีแผ่นป้ายได้จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่ง “ค่ากลาง” ของหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตจะมี 270 หน่วยเลือกตั้ง เท่ากับพรรคหนึ่งจะมีป้ายหาเสียงไม่เกิน 2,700 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง
  • มีขนาดป้าย 130 X 245 ซม. ป้ายที่จะไปติดตามสถานที่ที่ กกต.กำหนด ติดได้ไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือ 540 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง
  • ป้ายติดรถหาเสียง และป้ายเวทีหาเสียง แล้วแต่ขนาดรถไม่จำกัด และเวทีหาเสียงควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย
  • แผ่นป้ายหาเสียง ขนาด 400 X 750 ซม. ติดได้ที่ที่ทำการพรรคการเมือง หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ 1 แห่งต่อ 1 ป้าย (พรุ่งนี้ พรรคการเมืองติดได้เลย)

ทั้งนี้เนื้อหาของป้ายทุกขนาดจะต้องมีแค่ รูปถ่ายผู้สมัคร นโยบาย คำขวัญ ภาพผู้สมัคร หัวหน้าพรรค ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรค และสมาชิกพรรคเท่านั้น บุคคลนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคห้ามเกี่ยว ซึ่งฝ่าฝืนมีโทษทั้งแพ่ง-อาญา

ป๋อม กิตติ ไชยพร


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog