ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ตรวจการแผ่นดิน วินิจฉัยยุติเรื่องไม่เสนอศาล รธน. ตีความ โดยชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 16 ไม่ได้มีปัญหาความชอบด้วย รธน. ขณะที่คำร้องขอให้ส่งศาล รธน. ชี้ขาดคุณสมบัติ ส.ว. 90 คน เคยเป็น สนช. ก็สั่งให้ยุติเรื่อง พร้อมชี้ว่าเป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา - กกต. จะส่งเรื่องไปศาล รธน.

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า วันนี้(19 มิ.ย.) ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กรณีพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 16 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 197 โดยผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 197 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง โดยกำหนดให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครอง และได้บัญญัติจำกัดอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองไว้ โดยมีข้อความว่า “...ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐอาจตรากฎหมายยกเว้นมิให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองบางประเภทได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่การดำเนินภารกิจของรัฐให้ลุล่วงอย่างรวดเร็ว

เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการตรา พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการบริหารสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ อาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน ดังนั้น การที่ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 16 บัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง จึงเป็นการบัญญัติจำกัดอำนาจของศาลปกครองในการตรวจสอบควบคุมการออกกฎ และการกระทำของฝ่ายบริหาร โดยมีเจตนารมณ์ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษบางประการสำหรับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ของปัจเจกชนแต่ละรายในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อีกทั้ง มิได้หมายความว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามพ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมิได้รับความคุ้มครอง เพราะผู้ได้รับความเสียหายยังสามารถนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมได้ ดังนั้น พ.ร.ก.ดังกล่าว มาตรา 16 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 23 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 โดยวินิจฉัยให้ยุติเรื่อง

ขณะเดียวกันผู้ตรวจการแผ่นดินยังวินิจฉัยให้ยุติเรื่องกรณีที่นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ โฆษกพรรคเสรีรวมไทย ขอให้พิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย เกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว. จำนวน 90 คน ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่ามีลักษณะต้องห้ามเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 108 ข. (1) (3) และ (9) อันมีผลทำให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามมาตรา 111 (4) หรือไม่

คำร้องเรียนดังกล่าวเกี่ยวกับสมาชิกภาพ ส.ว. สิ้นสุดลงมิใช่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 82 บัญญัติไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่...”

อีกทั้ง วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งมีเหตุสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งได้ด้วย” จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง โดยให้ประธานวุฒิสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

และยังกำหนดให้ กกต. มีอำนาจส่งเรื่องในลักษณะดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ด้วย กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดหน่วยงาน หลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสมาชิกภาพของ ส.ว. สิ้นสุดลงไว้โดยชัดแจ้งและเป็นการเฉพาะแล้ว โดยเป็นอำนาจของประธานวุฒิสภาและ กกต. ในการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ดังนั้น กรณีปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง