นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในเดือนล่าสุดที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่จะทำให้การจัดเก็บน้อยลงบ้าง แต่โดยรวมที่ผ่านมาการจัดเก็บภาษีดังกล่าวยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะติดตามดูแลสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยยืนยัน การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง 2 เดือนติดต่อกันนั้น ว่า เศรษฐกิจจะไม่ถดถอยแน่นอน เพราะรัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและภาคเอกชนให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้ โดยหลังจากนี้เชื่อว่าการจัดเก็บภาษีจะดีขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินการคลัง ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือ ยืนยันว่าที่จะต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ ขึ้นมาเพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ โดยมั่นใจว่า การจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะทำให้สามารถแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ได้มีเจตนาเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ตามรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ก.ค. (ข้อมูลล่าสุด) พบว่า การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในเดือน ก.ค. หดตัวร้อยละ 9.1 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. ที่หดตัวร้อยละ 5.6 ต่อปี จากเดือน พ.ค. ขยายตัวร้อยละ 5.0 ต่อป
'คลัง' เตรียมตั้งหน่วยงานใหม่ กำหนดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อย
นอกจากนี้ นายอุตตม ยังเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงการคลังศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมารับผิดชอบการจัดสวัสดิการให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อรองรับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในรอบหน้า ที่จะเริ่มลงทะเบียนภายในสิ้นปี 2562 นี้ พร้อมทั้งยังได้ให้มีการตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการฯ เข้ามาเป็นระบบ Big Data เข้าไปใส่ระบบบล็อกเชน โดยใช้เทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ ว่าใครจนจริงไม่จริง เพื่อให้สามารถจัดชุดสวัสดิการที่เฉพาะและตรงจุดตามความต้องมากขึ้น
โดยข้อมูลที่จัดเก็บ เช่น ประวัติการใช้จ่ายผ่านระบบอีเพย์เมนต์ว่าส่วนใหญ่มีการใช้ซื้อสินค้าประเภทใด และในพื้นที่ใดเป็นพิเศษ รวมถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเป็นผู้ใช้บัตรทองในการรักษาพยาบาล มูลค่ารวมกันถึง 12,960 ล้านบาทต่อเดือน
รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอนกระบบ ก็จะเน้นการเข้าไปช่วยเหลือเรื่องหนี้ และการสำรวจการพัฒนาอาชีพ ก็จะมีมาตรการเสริมสร้างโอกาสในการทำงาน
"รูปแบบสวัสดิการรอบใหม่จะเป็นการจัดชุดที่มีความแตกต่างกันตามความต้องการ หรือ เติมตามความขาดแคลน ยังไม่ได้สรุปชัดว่าจะมีสวัสดิการรูปแบบใด และใช้งบประมาณเท่าใด และยังไม่ได้มีการสรุปว่าจะให้สวัสดิการเป็นรายบุคคล หรือ แบบครัวเรือน" นายอุตตม กล่าว
โดยนายอุตตม ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการใส่สวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อยอาจจะไม่ตรงจุดบ้างเป็นเรื่องปกติบ้าง แต่ยืนยันว่าจะแก้ไขโดยการใช้เครือข่ายลงพื้นที่ ดูแลเรื่องบัตรสวัสดิการควบคู่ไปกับอีเพย์เมนต์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :