ซอลลี หรือ ชเวจินรี นักร้องนักแสดงชาวเกาหลีใต้วัย 25 ปี เสียชีวิตที่บ้านเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา เธอเริ่มเส้นทางในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 11 ปีจากการเป็นนักแสดงเด็ก ก่อนจะมาเป็นนักร้องในวงเกิร์ลกรุ๊ป f(x) เมื่อปี 2009 กลายเป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่โด่งดังมากที่สุดวงหนึ่งของเกาหลีใต้ วงนี้มีขอบเขตแนวเพลงที่ค่อนข้างกว้าง แปลกใหม่ แค่ก็ยังติดหู f(x) ยังเป็นวงเกาหลีใต้วงแรกๆ ที่ตะวันตกรู้จัก เคยไปแสดงที่งานดนตรี South by Southwest เมื่อปี 2013
ซอลลีไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่ฆ่าตัวตายเพราะความกดดัน
ซอลลีไม่ใช่ศิลปินคนแรกๆ ที่ฆ่าตัวตายจากความกดดันจากการทำงานและเสียงวิจารณ์ เมื่อปี 2005 อีอึนจู นักแสดงวัย 24 ปีก็ฆ่าตัวตายโดยทิ้งจดหมายลาตายที่เขียนด้วยเลือดของเธอโดยระบุว่าจะได้รับความกดดันอย่างมากในวงการภาพยนตร์ ในปี 2007 นักร้องและนักแสดงที่ใช้ชื่อว่า U;Nee ก็ฆ่าตัวตายในอีกไม่กี่เดือนถัดมา ชเวจินซิล นักแสดงอีกคนก็ฆ่าตัวตาย
ปี 2009 จางจายอน นักแสดงชื่อดังก็ฆ่าตัวตาย โดยทิ้งจดหมายลาตายยาว 7 หน้า อธิบายว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยนักการเมืองที่มีอิทธิพล นักธุรกิจ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ และผู้มีอิทธิพลในวงการบันเทิง และเมื่อไม่นานมานี้ คิมจงฮยอน นักร้องนำของ Shinee บอยแบนด์ยอดนิยมก็ส่งจดหมายลาตายไปให้ญาติว่า เขารู้สึก "อ้างว้างในใจ" และ "ผมเกลียดตัวเอง" แล้วก็ฆ่าตัวตายในวัย 27 ปี
พักจงซอก หัวหน้าทีมแพทย์ของคลินิกจิตเวชยอนเซบอมกล่าวว่า ดาราหลายคนฝึกฝนและเป็นศิลปินตั้งแต่อย่างน้อยมาร์คเป็นโรคซึมเศร้าและเนื่องจากต้องใช้ชีวิตอยู่สายตาของสาธารณะ พวกเขามักอ่อนแอถ้าหากได้รับตามใจมากจนเกินไป ศิลปินเหล่านี้ใช้ชีวิตวัยรุ่นโดยไม่มีประสบการณ์ที่ได้รับมิตรภาพหรือคบเพื่อนที่จริงใจและไม่มีเสถียรภาพในกลุ่มเพื่อน
คิมดงวาน หนึ่งในสมาชิกวง Shinhwa โพสต์ในอินสตาแกรมว่า ดาราหลายคน "กำลังต่อสู้กับตัวเอง ถกเถียงกับตัวเองว่าจะทนความเจ็บป่วยในจิตใจตัวเองและทำงานต่อไปได้นานเท่าไหร่ เพื่อแลกกับความหอมหวานที่เงินและชื่อเสียงมอบให้"
ภาพการทำงานที่กดดัน
เอ็มมานูเอล พาสไทรช์ ผู้อำนวยการเอเชียโซไซตีกล่าวว่า นักแสดงและนักร้องที่เรียกว่าไอดอลมักจะต้องฝึกอย่างหนักและมีเวลาในการใช้ชีวิตนอกสตูดิโอน้อยมาก มีน้อยคนที่ประสบความสำเร็จแต่คนที่ประสบความสำเร็จก็ยังถูกกดดันอย่างหนักให้จะต้องดูดี ต้องยิ้ม ต้องสวย
ความกดดันยิ่งสูงขึ้นเมื่อเป็นผู้หญิงมีรายงานออกมาว่าดาราหลายคนถูกบังคับให้ต้องคบกับผู้จัดการ เอเจนท์ หรือไอดอลคนอื่นๆ เพื่อโปรโมทงานของตัวเอง หากพวกเขาไม่เต้นบางท่าหรือไม่ยอมคบกับบางคนก็อาจทำให้อาชีพของพวกเขาจบลง จนกลายเป็นว่าทุกส่วนในชีวิตของดาราศิลปินเหล่านี้คือ การแสดงทั้งหมดจนเราได้เห็นโศกนาฏกรรมเช่นนี้ ซึ่งก็จะยิ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมบันเทิงเข้าไปอีก
เพราะกล้าพูด จึงเจ็บปวด
ซอลลีไม่ได้ถูกกดในเรื่องการทำงานเท่านั้น กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเพียงเพราะเธอมีบุคลิกกล้าพูดกล้าแสดงความเห็นของตัวเองที่อาจไม่ตรงตามค่านิยมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในเกาหลีใต้ นักวิจารณ์ดนตรีของเกาหลีใต้คนหนึ่งกล่าวว่า ซอลลีหัวเราะเมื่อเธออยากหัวเราะและร้องไห้เมื่อเธออยากร้องไห้เธอกล้าที่จะพูดออกมา ทำให้เธอไม่ตรงตามแบบอย่างของศิลปินเกาหลีคนอื่น
ซอลลียังเคยจัดรายการ ออกมาพูดอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสุขภาพทางจิตของเธอ ทั้งเรื่องโรควิตกกังวลและหวาดกลัวการเข้าสังคม ซึ่งถึงเรื่องต้องห้ามในสังคมเกาหลีใต้ และเธอเคยเชิญดารามาพูดถึงเรื่อง cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ คล้ายกับช่วง mean tweets ในรายการของจิมมี คิมเมล ที่ให้ดารามาอ่านทวีตที่คนพูดถึงดาราคนนั้นไม่ดี แม้เธอจะอ่านไปแล้วก็หัวเราะสนุกสนานไปกับคำพูดรุนแรงเหล่านั้น แต่สุดท้ายสังคมก็ได้เห็นแล้วว่า เธอไม่สามารถทนการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ได้
อย่างไรก็ตาม การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของซอลลี แต่เป็นทัศนคติที่ยังค่อนข้างปิดของคนในสังคมชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาพลักษณ์ของเธอที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้หญิงไม่ดี” จากเรื่องการแต่งตัวและการเปิดเผยการแสดงความรักกับแฟนหนุ่ม
ซอลลีเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนโซเชียลมีเดียจากกรณีที่โพสต์ภาพโดยเธอไม่สวมใส่เสื้อชั้นใน เธอได้ออกมาอธิบายว่าการใส่บราทำให้เธอรู้สึกไม่สบายตัวและการแต่งตัวก็เป็นสิทธิในการเลือกของเธอ ซึ่งทำให้เธอยิ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นคนสุดโต่งหรือเป็นคนที่ประพฤติตัวในสาธารณะไม่ค่อยดี
อุตสาหกรรมเคป๊อปขึ้นชื่อในเรื่องการกดดันให้เหล่าไอดอลมีภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์เพราะคำว่าไอดอลคือจะต้องมีภาพลักษณ์แบบคนในอุดมคติเป็นคนที่เพอร์เฟคตลอดเวลาแม้กระทั่งในชีวิตส่วนตัว แต่ซอลลีท้าทายวงการบันเทิงเกาหลีใต้ด้วยการถ่ายภาพตัวเองกับแฟนที่เป็นแรปเปอร์ลงอินสตาแกรม ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทต้นสังกัดห้ามไม่ให้ศิลปินทำ เพราะไอดอลควรต้องมีภาพสวยเซ็กซี่แต่ต้องบริสุทธิ์เรื่องเพศ
"กฎหมายซอลลี"
การเสียชีวิตของซอลลีทำให้มีคนไปลงชื่อเรียกร้อง "กฎหมายซอลลี" ในเว็บไซต์สำนักประธานาธิบดีเกาหลีใต้ โดยกฎหมายนี้จะกำหนดให้คนต้องระบุตัวตน ชื่อจริงของตัวเองในการคอมเมนต์ตามเว็บไซต์หรือฟอรั่มเกี่ยวกับศิลปิน เพื่อแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์จากคนนิรนาม ซึ่งทำให้ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายคนเหล่านี้ได้ และผลสำรวจจากบริษัท เรียลมิเตอร์ ก็ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้เกือบร้อยละ 70 สนับสนุนกฎหมายนี้ ขณะที่คนไม่เห็นด้วยมีร้อยละ 24
อีดอง-กวี อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยยอนเซกล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงออกเป็นคุณค่าที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย แต่การดูถูกและทำลายศักดิ์ศรีของคนอื่นเป็นการใช้เสรีภาพที่เกินขอบเขต ควรมีบทลงโทษที่หนักกว่านี้
ที่มา : Deutche Welle, BBC, The Guardian, South China Morning Post