หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (C3S) ของสหภาพยุโรป เปิดรายงานภาวะความร้อนพิเศษในวันพฤหัสบดี (8 ก.พ.) จากการวัดอุณหภูมิระหว่างเดือน ก.พ. 2566 ถึงเดือน ม.ค. 2567 พบว่า อุณภูมิที่ถูกวัดทำลายสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงสุดในรอบ 12 เดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์
พายุ ความแห้งแล้ง และเหตุไฟไหม้ส่งผลกระทบต่อโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนิโญ ที่ทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกอุ่นขึ้น ส่งผลให้ปี 2566 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในโลก นับจากสถิติโลกที่ย้อนหลังไปถึงปี 2393
C3S ระบุว่า ภาวะสภาพอากาศสุดขั้วยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2567 โดยมีการยืนยันการพบอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตลอดทั้งปีที่ 1.52 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของศตวรรษที่ 19
อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โลกยังไม่ได้ฝ่าฝืนเป้าหมายเกณฑ์ภาวะโลกร้อนที่สำคัญที่จำกัดอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสอย่างถาวร ตามที่มีการระบุไว้ในความตกลงปารีสด้านสภาพอากาศ ซึ่งมีการวัดผลมานานหลายทศวรรษ
ในปี 2558 รัฐบาลเกือบ 200 รัฐบาลทั่วโลก ได้ลงนามในข้อตกลงด้านสภาพอากาศที่กรุงปารีส เพื่อยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ โดยเมื่อปีที่แล้ว องค์การสหประชาชาติระบุว่า โลกยังไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายระยะยาวของข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่า เป้าหมายของข้อตกลงปารีสไม่สามารถบรรลุตามความเป็นจริงได้อีกต่อไป แต่พวกเขายังคงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกดำเนินการให้เร็วขึ้น ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อจำกัดการปล่อยก๊าซเกินเป้าหมาย
ทั้งนี้ โลกยังเผชิญกับเดือน ม.ค. ที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดย C3S ระบุว่า โลกยังคงมีความร้อนอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอุณหภูมิเดือนที่แล้วได้แซงหน้าเดือน ม.ค. ที่อุ่นที่สุดก่อนหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2563 ตามบันทึกของ C3S ย้อนหลังไปถึงปี 2493
“การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วเป็นวิธีเดียวที่จะหยุดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น” ซาแมนธา เบอร์กีสส์ รองผู้อำนวยการ C3S ระบุ
ที่มา: