ไม่พบผลการค้นหา
อาเซียนประกาศตัดหัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมา 'มินอ่องหล่ายน์' ออกจากการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ 26 ต.ค.นี้ ซึ่งจะมี ปธน.โจ ไบเดน และผู้นำโลกอีกหลายชาติเข้าร่วม

กลุ่มผู้นำชาติอาเซียนได้ข้อสรุปกรณีการจัดการประชุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-28 ต.ค.นี้ โดยมีประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน หลังการคัดค้านของผู้นำหลายชาติโดยเฉพาะมาเลเซีย ในการเชิญ พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้นำคณะรัฐประหารที่ตั้งตนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเมียนมาเข้าร่วมการประชุม 

ในที่ประชุมของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนมีข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ว่าจะไม่มีการเชิญมินอ่องหล่ายน์เข้าร่วมการประชุม เพราะยังไม่เห็นการทำตาม 'สัญญา 5 ข้อ' ที่เคยมีไว้อย่างมีนัยสำคัญ และความเคลื่อนไหวในเมียนมากำลังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ผู้แทนเมียนมาที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมืองจะสามารถเดินทางเข้าร่วมได้ โดยขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่า 'บุคคลที่ถูกเชิญ' คือใคร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่านี่คือการตัดสินใจที่ 'เข้มแข็งมาก'


ครั้งแรกของการ 'ก้าวก่าย' กิจการภายใน

สำนักข่าว BBC ชี้ว่านี่คือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการจัดการประชุมของบรรดาผู้นำอาเซียน ที่ปกติแล้วจะยึดถือหลักการ 'ไม่ก้าวก่ายหรือแทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก' มาโดยตลอด แต่ในครั้งนี้ชาติสมาชิกอาเซียนไม่ต้องการเห็นส่วนร่วมของผู้นำคณะรัฐประหารเมียนมาเพราะยังไม่มีทีท่าว่าเขาต้องการจะยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศให้จบลงตามที่เคย 'สัญญาไว้' ในการประชุมอาเซียนนัดพิเศษเมื่อเดือน เม.ย.แต่อย่างใด 

การตัดสินใจร่วมครั้งนี้ทำให้มินอ่องหล่ายน์ "รู้สึกผิดหวัง" อย่างมาก ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โฆษกของคณะรัฐประหารเมียนมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ในเมียนมา ระบุว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเพราะ การก้าวก่ายจากนานาชาติ โดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้ร่วมกันกดดันไปยังผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อร่วมกันตัดสินใจไม่เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุม

มินอ่องหล่ายน์-เมียนมา


ผู้นำคณะรัฐประหารตั้งตนเป็น 'นายกฯ'

ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มินอ่องหลายน์ ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์โดยระบุว่าจะขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปจนถึงปี 2566 หรือประมาณ 2 ปีครึ่ง หลังจากเหตุรัฐประหาร 1 ก.พ. แม้จะเคยกล่าวว่าจะบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาแค่ปีเดียว พร้อมยังได้เข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จากก่อนหน้านี้ที่ทำหน้าที่รักษาการ 

อีกทั้งสั่งปรับเปลี่ยนสภาบริหารแห่งรัฐที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหารและเขาเองนั่งเป็นประธาน กลายสภาพมาเป็นคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเต็มตัว โดยให้เหตุผล “เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็ว ง่ายดาย และมีประสิทธิภาพ” 


"ต้องการได้รับการยอมรับ" ในเวทีโลก

ผู้สื่อข่าว BBC ชี้ว่า การประชุมสุดยอดผู้นำในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการรวมตัวแค่เฉพาะผู้นำอาเซียน แต่ยังรวมไปถึง โจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ และผู้นำโลกอีกหลายชาติ 

ซึ่งการตัดสินใจเลือกที่จะตัดมินอ่องหล่ายน์ออกจากการมีส่วนร่วมถือเป็นการพลาดโอกาสครั้งสำคัญของเมียนมา หลังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติภายใต้การนำของรัฐบาลที่มีจากการทำรัฐประหาร และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่ากองทัพเมียนมาจะยอมเดินหน้ามาตรการยุติความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนแต่อย่างใด

AFP - ประชุมอาเซียน


ฉันทามติ 'ลมปาก'?

ในการประชุมนัดพิเศษวันที่ 24 เม.ย. 2564 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อหารือถึงทางออกในการจัดการกับปัญหาความรุนแรงและการเข่นฆ่าประชาชนจากเจ้าหน้าที่ของกองทัพเมียนมา มินอ่องหล่ายน์และผู้นำอาเซียนได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ 

โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือ "ความรุนแรงในเมียนมาต้องยุติทันที และทุกภาคส่วนต้องหยุดยั้งการกระทำอย่างถึงที่สุด" และ "จะต้องมีการเจรจาร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่ทางออกที่สันติโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก" 

อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบัน ความรุนแรงในเมียนมาไม่มีทีท่าจะยุติลง โดยตัวเลขทางการที่มีรายงานล่าสุดโดยสมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองในเมียนมา หรือ AAPP เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาชี้ว่า ประชาชนเสียชีวิตจากน้ำมือของกองทัพเมียนมาและคณะรัฐประหารไปแล้วมากกว่า 1,000 ราย 

AFP - ประชุมอาเซียน มินอ่องหล่ายน์