ไทม์ไลน์คลี่คลายการหายตัวไปของ 'บิลลี่' พอละจี รักจงเจริญ อดีตแกนนำกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ออกมาเปิดเผยเมื่อ 30 ส.ค.ในวันผู้สูญหายสากล ก่อนแถลงรายละเอียดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานว่า พบพยานหลักฐานสำคัญตั้งแต่ 26 เม.ย. และ 22-24 พ.ค.นั้น
ก็ยังทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า สืบเนื่องเชื่อมโยงกับการถูก ยูเนสโก (UNESCO) ทบทวนการขอจดทะเบียนพื้นที่ป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เมื่อปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หรือไม่ ดีเอสไอจึงเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการหลังทราบผล ทั้งที่พบพยานหลักฐานก่อนหน้านั้นหลายเดือนแล้ว เพราะประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน คือหนึ่งในปมปัญหาที่ยังทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบเป็นมรดกโลก
'วอยซ์ ออนไลน์' จึงชวนคุยกับตัวแทนจากภาครัฐและภาคประชาสังคมต่อกรณีดังกล่าว เรื่อยไปจนถึงมุมมองต่อการผลักดันมรดกโลก ควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลของสิทธิชุมชน ดังนี้
กรมอุทยานฯ ชี้ปมบิลลี่ ไม่กระทบดัน 'แก่งกระจาน' มรดกโลก
นายสมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า เชื่อว่าไม่ใช่ จากการแถลงพิสูจน์หลักฐานเป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใช้เวลา จากการพบพยานหลักฐาน ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างในการแถลง ข้อมูลผ่านการสืบสวนหลายขั้นตอนมาแล้ว ส่วนคดีบิลลี่จะมีผลกระทบต่อการผลักดันมรดกโลกหรือไม่นั้น ตนมองว่านี่ ไม่ใช่เรื่องใหม่ คดีบิลลี่ที่เป็นเรื่องของบุคคลกับบุคคล ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือเรื่องชุมชน ซึ่งใหญ่กว่า เงื่อนไขของยูเนสโกคือ เรื่องชุมชุน เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องภาพรวมพื้นที่ทำกิน กรมอุทยานฯจึงหาทางวางแผนต่างๆให้ตอบโจทย์โดยคำนึงเรื่องนี้อยู่แล้ว
โฆษกกรมอุทยานฯ ยังอธิบายถึงแนวทางการผลักอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นทะเบียนมรดกโลกต่อไปใน ปี 2563 ด้วยว่า อยู่ระหว่างการทำงานรวบรวมศึกษาข้อมูลเตรียมนำเสนออีกครั้งในปีหน้า ปัญหาเรื่องแนวเขตประเทศจบแล้ว เหลือเรื่องชุมชนในพื้นที่ ซึ่งกรมก็นำโครงการพัฒนาชีวิต นำโครงการหลวงไปลง ให้เห็นว่า เรากับชุมชนอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน เมื่อตอนนี้ไม่ผ่าน ต้องแก้ชุมชนในพื้นที่ ก็ต้องปรับ ปมปัญหาตั้งแต่ปู่คออี้การผลักดันคนออกจากพื้นที่นั้น เป็นเรื่องตั้งแต่ก่อนพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 จะออก ซึ่งสร้างความขัดแย้งในอดีต
ชู พ.ร.บ.อุทยาน 62 ให้สิทธิชุมชน
"แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ไม่ใช่แค่แก่งกระจาน แต่เป็นทั้งประเทศ ทุกคนจะมีความสุขสามารถอยู่ในชุมชนได้โดยมีกฎหมายรองรับ แต่ในอดีตเป็นไปไม่ได้ กฎหมายปิดประตู แต่ฉบับใหม่จะเปิดประตู ทั้งนี้ก็ยอมรับว่า เงื่อนไขนี้ก็อาจทำให้มีปฏิกิริยาอยู่บ้าง จากคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า คุณไม่ได้เข้ามาอยู่ก่อนที่กฎหมายจะออก จึงได้เงื่อนไขเดียวกันไม่ได้ เราก็ต้องยึดกลไกที่ต้องเป็น มิเช่นนั้นรัฐก็เสี่ยงผิด,มาตรา 157 เหมือนกันหากไม่ทำตามกฎหมาย หลังจากนี้ทั้งรัฐทั้งประชาชนน่าจะหันหน้ามาคุยกันตามกฎหมายที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสุขได้" โฆษกกรมอุทยานฯกล่าว
'ประยงค์' เห็นต่าง-กม.ใหม่ติดดาบจนท.อุทยาน รื้อทำลาย เพิ่มโทษหนัก
ด้าน นายประยงค์ ดอกลำไย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท หรือเอ็นจีโอชาติ ก็เห็นสอดคล้องกับโฆษกกรมอุทยานฯ ต่อการแถลงของดีเอสไอ เชื่อมโยงกับการถูกปฏิเสธขึ้นทะเบียนมรดกโลกหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่เกี่ยว เพราะตามสภาพการณ์แล้ว การสืบสวนหาข้อเท็จจริงทำได้ยาก จากพื้นที่ที่สลับซับซ้อม กว้างใหญ่ และน้ำช่วงที่จะหาต้องเป็นช่วงน้ำลดลงต่ำสุด มีช่วงเดียวคือเม.ย.ถึงจะทำได้ แล้วน้ำก็มีหลายจุดที่สงสัย ใช้เวลาระดับหนึ่ง แต่ก็เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ดีเอสไอไม่ใช่เครื่องมือชาวบ้านแน่นอน เหมือนกับเหตุการณ์มาประจวบเหมาะพอดี ที่ผ่านมาพี่น้องกะเหรี่ยงก็เคยหยิบยกกรณีบิลลี่มาคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลก
ทว่า 'ประยงค์' มีความเห็นแตกต่างในข้อกฎหมายของพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 โดยมองว่า ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อุทยานสูงมาก ในเรื่องของการค้น ยึด รื้อถอนทรัพย์สิน หรือแม้แต่การออกคำสั่งให้ออกจากพื้นที่อุทยาน มีอำนาจออกหมายเรียกหากสงสัยต้องมีการกระทำความผิด ทั้งที่ต้องเป็นหน้าที่พนักงานสอบสวน กระทบสิทธิในเคหะสถาน สามารถเข้าค้นได้ต่อเนื่องได้ถึงพระอาทิตย์ตกดิน โดยไม่ต้องมีศาล ส่วนบทลงโทษสูงขึ้น การบุกรุกยึดถือครอบครอง เดิมไม่เกิน 2 ปี ฉบับนี้ขั้นต่ำ 4 ปี สูงสุด 20 ปี โทษปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท ถ้ากระทำความผิดในพื้นที่ที่กำหนดเขตต้นน้ำ
"ที่ศาลปกครองเคยชี้กรณีของปู่คออี้ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไปเผาไปรื้อไม่ได้ แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำได้โดยถูกกฎหมาย การเผาบ้านที่เกิดขึ้นกับปู่คออี้ หากเกิดหลัง 26 พ.ย. 2562 ทำได้ทันที หักล้างคำวินิจฉัยศาลปกครองได้เลย คนอยู่กับป่าได้ทำได้แบบจำกัดต้องขออนุญาต ต้องผ่านด่านการสำรวจ ตามเกณฑ์มติครม. 26 พ.ย. 2561 ซึ่งลิดรอนตัดสิทธิแปลงที่อยู่หลายแปลง ส่วนใหญ่คือชุมชนกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบ" ประยงค์ระบุ
เปรียบปัญหาเท่าช้าง ทางออกเท่ารูเข็ม บทเฉพาะกาลสร้างเงื่อนไข
นายประยงค์ อธิบายอีกว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 64 การแก้ไขชุมชน บอกให้เป็นการขออนุญาตสามารถอยู่ได้ชั่วคราวไม่เกิน 20 ปี มองว่า เป็นการลิดรอนสิทธิ แทนที่จะรับรองสิทธิคนที่อยู่กับป่าชุมชนมาก่อน กำหนดให้ใช้ภาพถ่ายสำรวจทางอากาศปี 2545 กับยึดตามคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 แม้จะยกเลิกแล้ว แต่ก็ยังกังขาอยู่ว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ทั้งยังโยงกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 ที่กำหนดเนื้อหาไว้แคบกว่ากฎหมาย โดยระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนทุกพื้นที่ป่า ป่าอนุรักษ์ถูกกำหนดเงื่อนไข คัดกรองว่า ใครจะได้ใบอนุญาตตามแต่ละพื้นที่ ให้ทำเป็นโครงการเสนอให้ ครม.อนุมัติ ประกาศเป็น พ.ร.ฎ. อนุญาติให้ครั้งละ 5 ปี ไม่เกิน 20 ปี ให้อธิบดีกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ นี่ไม่ใช่การรับรองสิทธิชุมชน เข้ามามีส่วนบริหารร่วม ซึ่งการอนุญาตเป็นรายๆไปแบบนี้ ทำให้กลายเป็นเรื่องของปัจเจก สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริตเวลาที่จะต่ออายุ
ที่ดินแปลงเหล่านี้ จะถูกแยกออกจากการสำรวจ และให้ใช้มาตรการอพยพ ถ้าไม่ได้ ให้จำกัดขอบเขตการใช้รอการอพยพ ถือเป็นการตัดสิทธิทั้งที่กฎหมายไม่เขียน แต่เชื่อมโยงกัน ทั้งสอดไส้คู่มือกำหนดคำว่า ล่อแหลม และที่ดินเปลี่ยนมือ เช่น ปี 2545 มีชื่อคนอื่นครอบครอง พอสำรวจปัจจุบันเป็นอีกชื่อหนึ่ง ไม่ใช่ทายาทก็จะถูกตัดสิทธิที่ดินแปลงนั้น มองว่า ไม่เป็นธรรม เพราะกฎระเบียบชุมชนมีว่า สามารถเปลี่ยนมือได้ โดยผ่านกลไกชุมชน และไม่ให้เปลี่ยนไปให้คนข้างนอก ซึ่งไม่ถือเป็นการบุกรุกพื้นที่ใหม่ ชุมชนมีระเบียบอยู่หากใครออกจากชุมชน ก็สละสิทธิ์การใช้ที่ดิน ให้มอบให้คนอื่นในชุมชนซึ่งอาจไม่ใช่ทายาท แบบนี้ก็จะถูกเพิกถอน
มาตรา 65 เป็นผลจากการไม่ยอมรับป่าชุมชน แทนที่จะสำรวจป่าชุมชน จึงให้กรมอุทยานไปสำรวจพันธ์พืชบางชนิดที่สามารถขึ้นทดแทนได้แต่ละฤดูกาล จะควบคุมชนิดปริมาณระยะเวลาในการเก็บ มีคำถาม 2 เรื่องคือ ให้สำรวจเฉพาะอุทยานประกาศก่อนวันบังคับใช้คือวันที่ 25 พ.ย. 62 ส่วนอุทยานที่ประกาศหลังจากนั้นถูกตัดสิทธิ์ ซึ่งมีอยู่ 21 อุทยานที่กำลังจะประกาศ คาดว่า ไม่ทันกฎหมายบังคับใช้ พอไม่ทันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บของป่าได้เลย
เป็นใช้บีบคนที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติที่เตรียมการ ชาวบ้านยันไว้อยู่ในนั้น ไม่กันพื้นที่ทำกิน ป่าใช้สอย ก็ยันไว้อยู่ไม่ให้ประกาศ ก็ใช้เงื่อนเวลาของกฎหมาย หากประกาศไม่ทัน 25 พ.ย.นี้ ก็ไม่มีโอกาสได้เก็บของป่า
"เรื่องกฎหมายเหมือนกับว่า ปัญหาชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยาน มีทั้งเรื่องเขตที่อยู่อาศัย ทำกิน และป่าชุมชน เปรียบมีขนาดเท่าช้าง แต่ทางออกตามกฎหมาย มาตรา 64-65 เท่ารูเข็ม ซึ่งช้างรอดไม่ได้ ส่วนที่บอกว่า ดีกว่าเมื่อก่อน เพราะไม่มีข้อไหนอนุญาตเลย ที่บอกว่าดีกว่า เ���ราะเดิมไม่มีเลย แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เขาก็อ้างว่า อนุญาตแล้ว ชุมชนอยู่กับป่า แต่ 2 มาตรานี้ ไม่ร้ายเท่า มติครม. 26 พ.ย. 61"
แนะยึดมติ ครม. 53 ทางออกร่วมชุมชน-รัฐ หยุดบิลลี่ 2-3
แม้จะเอาชีวิตคืนมาไม่ได้ แต่การตายของบิลลี่ต้องไม่สูญเปล่า พี่น้องกะเหรี่ยงต้องเชื่อมโยงมาถึงการต่อรองเรื่องสิทธิชุมชนกับมรดกโลกให้ชัดเจนด้วย ผ่านการแก้กฎหมาย รับรองให้คนอยู่กับป่าได้ เพื่อไม่ให้มีบิลลี่ 2 บิลลี่ 3 อีก มติครม. 3 ส.ค. 53 จะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ ถ้ากรมอุทยานฯยอมทำตาม เพราะกำหนดให้สำรวจและกันชุมชน ที่อยู่มาก่อนประกาศออก แล้วรับรองสิทธิไรหมุนเวียน ซึ่งวิจัยชี้ชัดแล้วการทำไร่แบบกะเหรี่ยงไม่ใช่เลื่อนลอย สอดคล้องกับนิเวศวิทยาบนพื้นที่สูงคือ ใช้ 1 แปลง ทิ้งไว้ 6 แปลง ซึ่งเป็นป่าต่างระดับ แล้วก็วนมาใช้ ไม่ใช่ขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ เป็นการหมุนเวียนแล้วใช้ไปเรื่อยๆ ซึ่งมติ ครม.ตีความว่าใช้ไม่ต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่ยอมรับกันไม่ได้
จริงๆ จะไม่มีใครตาย บิลลี่จะไม่ตาย ถ้าหากโครงสร้างกลไกการบังคับใช้อำนาจ ถูกทำให้เกิดความเป็นธรรมและยอมรับวิถีชีวิตของชุมชนชาวกะเหรี่ยง ซึ่งพยายามผลักดันจนมีมติ ครม.ปี 2553
แต่ 9 ปีกรมอุทยานฯไม่ทำ บีบให้ใช้มติครม. 30 มิ.ย. 2541 ทำนองเดียวกับมติครม. 26 พ.ย. 61 คือพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้ชาวบ้านได้ที่ดินน้อยที่สุด กำหนดเงื่อนไขนู่นนี่นั่น ใครฆาตกรรมบิลลี่ไม่รู้ แต่ถ้าถามแบบกว้างๆว่าใครทำให้บิลลี่ตายก็คือระบบโครงสร้างกฎหมายของรัฐ ที่บริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ไม่เป็นธรรม ไม่ยอมรับสิทธิชุมชนดั้งเดิมที่เขาอยู่มา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง