ไม่พบผลการค้นหา
วันนี้ (8 มี.ค) เป็นวันสตรีสากล 'วอยซ์ออนไลน์' พาไปไขข้อข้องใจและหาเหตุผลที่ทำให้ “ซอยสายลม” มี “วินมอเตอร์ไซค์ผู้หญิง” เป็นจำนวนมาก

ช่วงใกล้ๆ เที่ยง บนถนนพหลโยธิน 8 หรือ “ซอยสายลม” ตลบอบอวลไปด้วยผู้คน ว้าวุ่นจอแจยาวไปถึงยามบ่าย ด้านหน้ามีตึกสูงสถานที่หาเงินของพนักงานบริษัทจำนวนหลายพันคน ตรงข้ามมีแหล่งอาหาร “Villa Market” พ่อค้าแม่ขาย ผู้คนวนเวียนภายนอกภายในเต็มสองข้างทาง มีร้านกาแฟ น้ำผลไม้ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง เนื้อทอด ไส้กรอกอีสาน พร้อมกระแทกเข้าปากอย่างไม่หยุดหย่อน

นอกเหนือจากความคึกคักแล้ว สิ่งที่โดดเด่นและน่าค้นหาคำตอบของซอยชื่อเย็นสบายแห่งนี้คือ วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ “ผู้หญิง”

วินมอเตอร์ไซค์หญิง ซอยสายลม

แม่บ้านทหารขับวิน 

เหตุผลที่ทำให้ ‘วิน’ แห่งนี้มากไปด้วยผู้หญิง เพราะพวกเธอมีสถานะเป็น “แม่บ้านทหาร”

โดยเส้นทาง ‘ซอยสายลม’ สามารถวิ่งทะลุเข้าออกถึง ร.1 พัน 1 รอ.หรือ กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และบ้านพักทหาร

กัญญาภัค โพธิ์ขำ เข้าสังกัดมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี เล่าอดีตให้ฟังว่า หลายปีก่อนผู้บังคับบัญชาเปิดโอกาสให้แม่บ้านภรรยาของเจ้าหน้าที่ทหาร “ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” เพื่อหารายได้เสริมและแก้ปัญหาการขาดแคลนรถให้บริการช่วงเวลากลางวัน 

“ผู้ชายส่วนใหญ่ไปเข้าเวร (รับราชการ) ผู้คนก็เลยเห็นว่าวินนี้มีแต่ผู้หญิง” กัญญาภัค อธิบายที่มาของภาพสิงห์นักบิดสาวจำนวนมากในช่วงกลางวัน 

วินมอเตอร์ไซค์หญิง ซอยสายลม
  • กัญญาภัค โพธิ์ขำ

ปัจจุบันวินซอยสายลมมีสมาชิกราว 135 คน แบ่งออกเป็นผู้หญิงประมาณ 20-30 คน

ช่วงเวลาเร่งด่วนและทำเงินของวินซอยนี้คือ ช่วงเช้าเวลา 5.30–8.00 น. ช่วงกลางวัน 11.30–14.00 น. และช่วงเย็น 17.00–20.00 น. เมื่อถามถึงรายได้เฉลี่ยของแต่ละคน ส่วนใหญ่ระบุใกล้เคียงกันว่า 700-800 บาทต่อวัน โดยช่วงวันพีคๆ พุ่งไปมากกว่า 1,000 บาท พูดง่ายๆ ว่าหากคิดเฉลี่ยเป็นรายเดือนแล้ว พวกเธอมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท 

“รายได้มันดี มีความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงาน ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร เราสามารถช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวได้” ลำดวน ญาตินิยม วินสาวใหญ่เบอร์ 17 กล่าว 

ทักษพร ช้างเจริญ เจ้าของเสื้อกั๊กส้มวัย 50 ปี เสริมว่า สภาพเศรษฐกิจแบบทุกวันนี้ เป็นแค่ภรรยาและแม่บ้านไม่เพียงพอ ต้องช่วยสามีทำมาหากิน “อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้แล้วค่ะ ไม่พอจะรับประทาน” 

วินมอเตอร์ไซค์หญิง ซอยสายลม
  • ทักษพร ช้างเจริญ

ผลการสำรวจ "สถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง" ม.หอการค้าไทย เมื่อปี 2562 ระบุว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,243 รายพบว่าอายุเฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ 39 ปี ทำอาชีพนี้มาแล้วเฉลี่ย 8 ปี ในแต่ละเดือนต้องขี่รถเพื่อหารายได้ถึง 25 วัน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยมีรายได้เฉลี่ย 974.81 บาทต่อวัน หรือ 24,370.25 บาทเดือน 

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมรายงานเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันมีวินรถจักรยานยนต์ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จำนวน 5,343 วิน มีจำนวนผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 89,292 ราย

ไร้อุปสรรค-มีบ้างเจอแทะโลม  

ความเป็นหญิงไม่ยากเย็นเป็นอุปสรรคต่อทักษะการขับขี่ที่สามารถพัฒนาและไขว่คว้าจากการทำซ้ำและประสบการณ์

“ลูกค้าเขาก็ชอบนะ บอกเออเธอขับรถเก่ง ขับเหมือนผู้ชายเลย ถ้าไม่เห็นหน้าเขาก็บอกว่าแมนเลยล่ะ” กัญญาภัคฉีกยิ้มเล็กๆ

เธอยังใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะแม่บ้านดีลเงินจากลูกค้าเพิ่มเติม ด้วยการรับซื้อหาอาหารสด 

“ลูกค้าโทรมาให้ไปซื้อผัก ซื้อปลา ซื้อกุ้งสด เราเก่งตรงนี้อยู่แล้ว เป็นแม่บ้านอยู่แล้ว ก็เลยถนัดค่ะ“  

สิ่งที่พวกเธอต้องเผชิญอยู่บ้างคือการล่วงเกินทางเพศ เช่น ลวนลามและแทะโลมด้วยคำพูดจากลูกค้าชายบางท่าน

“รับจ๊อบพิเศษไหม พาพี่ไปขับรถเที่ยวหน่อย เดี๋ยวพี่ให้ 500 ประมาณนี้ เราก็ปฏิเสธ” ทักษพร ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการสองล้อรับจ้างมาหลายปี เล่าต่อ “เราก็พูดแรงไปหลายคำ มีว่ากันบ้าง ด่ากันบ้าง บางทีมีจับเอว บีบแน่น เราก็บอกเขาให้หยุด คือ ถ้าไม่หยุดเราก็จะเลี้ยวเข้า สน.อะ” 

วินมอเตอร์ไซค์หญิง ซอยสายลม

อุ่นใจคุณผู้หญิง

เมื่อถามลูกค้าจำนวนหลายสิบคนถึงประสบการณ์และสัมผัสที่พวกเธอได้รับ พบว่า สาวๆ แทบทั้งหมดให้คำตอบสอดคล้องกันและนิยามได้ว่า “อุ่นใจ สบายใจและปลอดภัยกว่า” รวมถึงได้รับความสุภาพและสะอาดเมื่อซ้อนท้ายคนขับหญิง มีเพียงรายเดียวที่แตกต่าง เมื่อเธอบอกว่า “ผู้หญิง เก้ๆ กังๆ กว่าผู้ชายที่ชินทาง คล่องแคล่ว ทำให้รู้สึกปลอดภัยกว่ากันเยอะ” 

“อุ่นใจค่ะ เพราะยังไงเราก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน” แมลงปอ ศศิพันธุ์ พนักงานออฟฟิศย่านนั้นบอกความรู้สึกที่ได้นั่งรถกับคนขับเพศเดียวกัน โดยเฉพาะช่วงค่ำและกลางคืน ซึ่งสอดคล้องกับหญิงสาวอีกท่านที่บอกว่า “เราเกาะเอวได้อะค่ะ มันมั่นคงเวลานั่ง ถ้าเป็นผู้ชายเราไม่กล้า” 

ฝั่งลูกค้าชายพบว่าส่วนใหญ่ ไม่เห็นรายละเอียดหรือความแตกต่างอย่างมีนัยยะ จะเพศไหนไม่สำคัญ ขอเพียงถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ ในราคาที่เหมาะสมยุติธรรม 

ศิวกร ยิ้มหงษ์ นักศึกษาหนุ่มวัย 19 ปี ลูกค้าขาประจำของซอยนี้ บอกว่า ความแตกต่างอย่างเดียวระหว่างหญิงและชายคือ ‘ความเร็ว’ ผู้หญิงขับไม่เร็วและไม่เร่งรีบ จึงรู้สึกปลอดภัยและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่ำกว่า ขณะที่ความสะดวกสบายนั้นขึ้นอยู่กับรูปร่างของรถมอเตอร์ไซค์

วินมอเตอร์ไซค์หญิง ซอยสายลม
  • ลำดวน ญาตินิยม


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog