ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาตัดสินจำคุก 2 ผู้บริหาร 'แหลมเกตซีฟู้ด' ฉ้อโกงประชาชน 723 กระทง จำคุกคนละ 1,446 ปี หลังทำโปรบุฟเฟต์ซีฟู้ด ลวงผู้ซื้อ

ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.2808/2562 ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด , นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ หรือ โจม พารุณจุลกะ, น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิด ร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) 

สำหรับพฤติการณ์การกระทำผิดคือ นายโจม พารุณจุลกะ กรรมการบริษัท กับ น.ส.ประภัสสร ได้เปิดบริษัท แหลมเกตอินฟินิท และได้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิค ผ่านเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของร้านชื่อ www.laemgate.net กับโปรแกรมแชตไลน์ Line:@laemgate ว่า จำหน่ายบัตรรับประทานอาหารเป็นจำนวนมากตามแต่ละโปรโมชั่น และมีราคาถูกต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น "โปรราชาทะเลบุฟเฟ่ต์" ขายเป็นชุดๆ ละ 880 บาท มี 10 ที่นั่งๆ ละ 88 บาท , "โปรนาทีทองมาแล้วจ้า" ขายเป็นชุดๆ ละ 2,020 บาท มี 20 ที่นั่งๆ ละ 101 บาท , "โปรแฟนพันธุ์แท้" ขายเป็นชุดๆ ละ 3,000 บาท มี 30 ที่นั่งๆ ละ 100 บาท และโปรโมชันหมีหมี เป็นต้น

โดยลูกค้าต้องจองคิววันที่จะเข้าไปรับประทานอาหาร ผ่านทางระบบออนไลน์ของร้าน จนมีคนหลงเชื่อโอนเงินไปจำนวนมาก ต่อมาวันที่ 22 มี.ค. 2562 ทางร้านอาหารแหลมเกต อินฟินิท ได้ประกาศทางโปรแกรมไลน์ และเฟซบุ๊ก ขอยกเลิกและงดบริการทุกโปรโมชั่น เนื่องจากได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม และเกินความคาดหมายทำให้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะใช้วัตถุดิบสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341,83 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47,พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14(1) การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิดคุณภาพปริมาณหรือสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ฐานหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จกับฐานหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนมีอัตราโทษเท่ากัน      

จึงให้ลงโทษฐานหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341,83 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทงให้จำคุกจำเลยที่ 2,3 ทุกกระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี

ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ปรับกระทงละ 5,000 บาท รวมปรับ 3,615,000บาทบาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งทุกกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 จำคุกจำเลยที่ 2,3 คนละ 723ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงความผิดแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 2,3 คนละ 20ปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) จำเลยที่ 1 คงปรับ 1,807,500 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันคืนเงินจำนวน 2,500,960 บาทแก่เจ้าของ

ต่อมาญาติของนายโจม จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดิน มูลค่า 2.1 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 ใช้โฉนดที่ดิน มูลค่า 1.8 ล้านบาท และเงินสดอีกจำนวน 130,000บาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 2 -3 ให้ศาลอุทธรณ์ เป็นผู้พิจารณาจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงนำตัวทั้งสองไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และทัณฑสถานหญิงกลางต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :