ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เป็นธรรม เปิดทำจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อ ลงนามโดย 120 องค์กรถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ และแถลงข่าวเรื่อง ค่าไฟต้องแฟร์: ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่

เครือข่ายขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เป็นธรรม ได้ทำจดหมายเปิดผนึก 5 ข้อซึ่งลงนามโดย 120 องค์กรถึงพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ โดยระบุว่า

  1. หยุดลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการขนาดใหญ่แห่งใหม่ทุกโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่จากประเทศเพื่อนบ้านและโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกว่าไฟฟ้าสำรองจะลดลงสู่มาตรฐาน
  2. เร่งเดินหน้านโยบาย Net-metering หรือ ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า กับพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ บนหลักการที่เสรี เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และครอบคลุมทั้งประเทศ
  3. เปิดรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง โปร่งใส ตรวจสอบได้ต่อร่างแผนพัฒนากําลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และร่างแผนพลังงานอื่นๆ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาล
  4. พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่
  5. นําต้นทุนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากพม่า ไปคิดเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นบริการสาธารณะ

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดแถลงข่าว เรื่อง ค่าไฟต้องแฟร์: ข้อเสนอภาคประชาสังคมและเอกชนถึงรัฐบาลใหม่ โดย รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ตัวแทนสภาองค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีความเสถียรและมีคุณภาพ ซึ่งสามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนได้เป็นจำนวนมาก และยังมีศักยภาพการเงิน ภาคเอกชนพร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องนำเข้า กฎหมายของไทยมีศักยภาพแต่ไม่สอดคล้อง หากมีกฎระเบียบที่เสรีและเป็นธรรม รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้เกิดค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมได้ ความหัวงของเราจึงจะต้องไปฝากไว้ที่รัฐบาลใหม่

สฤณี อาชวนันทกุล แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม (Fair Finance Thailand) กล่าวว่าได้มีการประเมินนโยบายของธนาคารในหลายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยเราได้จัดทำกรณีศึกษาทั้งไซยะบุรีและหลวงพระบาง และมีเขื่อนอีกหลายแห่ง ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นเขื่อนของไทย และแหล่งการเงินก็คือธนาคารไทยและผู้รับซื้อไฟฟ้าของไทย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ได้เข้ามาทำงานร่วมกัน เมื่อข้อเสนอของเครือข่ายขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เป็นธรรมได้เรียกร้องคือการหยุดการลงนามขนาดใหญ่ และการเปิดเสรีไฟฟ้าที่เป็นธรรม ควบคู่ไปกับการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้เป็นธรรม รากปัญหาคือโครงสร้างการวางแผนพลังงานเป็นลักษณะรวมศูนย์มาโดยตลอด ซึ่งเป็นระบบล้าสมัยและไม่ทันโลก ผูกขาดทั้งผู้ผลิตและแนวคิดใหม่เช่นการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการผลิตไฟฟ้า ไม่มีความรับผิดชอบ accountability และเห็นว่า พยากรณ์ของไฟฟ้าสูงเกินทำให้ภาระตกไปอยู่กับผู้บริโภคทั้งหมด กรณีเขื่อนแม่น้ำโขง ทำให้ธนาคารเห็นความเสี่ยง และมีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งผลกระทบข้ามพรมแดน และเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย และเรียกร้องให้รับผิดชอบข้ามพรมแดน

อาทิตย์ เวชกิจ ตัวแทนบริษัท Neo Clean Energy กล่าวว่า เราสูญเสียการติดตั้งพลังงานสะอาดมากถึง 15% ทั้งประเทศมีการทิ้งพลังงานที่ติตดั้งแล้มากถึงพันเมกะวัตต์ และทำให้ต้องนำเข้าฟอสซิล เราพยายามที่จะทำให้เรื่อง Net Metering เป็นการรับซื้อไฟส่วนเกินบางส่วนให้เข้าสู่ระบบ และทำให้มีการฝากไว้ เพื่อการนำพลังงานส่วนเกินจากแสงแดดมาใช้ในระบบได้ ในแง่เทคนิคและการลงทุน การเงินเป็นประโยชน์มาก

บุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนสภาผู้บริโภค กล่าวว่าไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคของประชาชนมีคนทำให้เป็นเรื่องซับซ้อนและทำให้เราจ่ายเงินง่าย มือถือสากปากถือศีล กรณีก๊าซของไทย ผู้มีอำนาจตอนนี้ออกนโยบายและกระบวนที่ฉ้อฉลและบิดเบือน ช่วงรัฐประหารทั้งการประกันราคาก๊าซ ลอยราคาก๊าซอิงที่ซาอุดิอาระเบีย ทำให้ก๊าซราคาแพงทั้งหุงต้มและค่าไฟฟ้า การให้อำนาจรัฐในการลงนามซื้อ ทำให้ผูกคอประชาชนไประยะยาว

“ตั้งแต่มีรัฐบาลไทยมา ไม่มีการอภิปรายเรื่องกระทรวงพลังงาน เราเคยทำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานมาก่อน เราถูกฟ้องปิดปากหมด ทำให้เรายุ่งยากทั้งระบบยุติธรรม เรื่องพลังงาน ห้ามประชาชนเข้าไปแตะต้อง ห้ามพูด ดูแต่ข้อมูลเท่านั้น วันนี้หากทำให้โครงสร้างราคาก๊าซที่เป็นธรรม เรายินดีจ่าย แต่แพงเพราะเอากำไรไปหยอดให้นายทุนก๊าซ”บุญยืน กล่าว

อธิราษฎร์ ดำดี ตัวแทนเกษตรกรปาล์ม จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า เกษตรกรพยายามต่อสู้ด้วยตนเอง มีหลายคนพยายามจะใช้โซลาร์เซลด้วยตัวเอง ไม่เข้าสู่ระบบกริดเดิม เพราะค่าไฟแพง มีการออกแบบระบบพลังงานที่ได้ทั้ง on grid และ off grid เอง มันสะท้อนให้รู้ว่า ไม่มีรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง ความไม่เป็นธรรมยิ่งผลักประชาชนออกจากอ้อมอกมากขึ้น ต่อไปประชาชนจะลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเอง ระบบพลังงานของรัฐกดทับภาคประชาชนไว้

ชนะศร เอี่ยมเชาวน์ ผู้แทนบริษัท Dot to Dot จ.ระยอง กล่าวว่า ระยองคือพื้นที่พัฒนานาอุตสาหกรรมของประเทศ สิ่งที่คนระยองได้รับตอนนี้ปัญหาเรื่องสุขภาพ คือ สาร VOC สารระเหยง่าย ซึ่งหมายถึงปริมาณสารที่เกินค่า อาจจะทำให้คนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นทุกปี เราไม่มีสิทธิ์ที่จะรับหรือไม่เกี่ยวกับการพัฒนาในระยอง แต่เป็นการแจ้งเพื่อทราบว่าเราจะต้องอยู่ร่วมโรงงานเท่านั้น จังหวัดระยอง เป็นเหมือนปลั๊ก 3 ตาที่เชื่อมต่อพลังงานไปที่อื่นๆ แต่ปรากฏว่าที่ระยองยังมีชุมชนที่ยังไม่มีไฟฟ้าเช่น ชุมชนคาเซ ต่อมาเครือข่ายได้เข้าไปติดตั้ง Solar Cell ประเด็นเรื่องไฟฟ้าเราถูกทำให้รอรับอย่างเดียว รัฐไม่จริงจังกับระบบพลังงานหมุนเวียน

ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่าเห็นด้วยข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ แบบห้าร้อยเปอร์เซ็นต์ การเซ็นสัญญาที่ระยะยาวเกินไป อาจจะมีการขยายสัญญาได้ถึง 40 ปี ในต่างประเทศมี capacity market คือให้มีการประมูลและมีระยะเวลา 5-7 ปีเพื่อดูว่าต้องยังต้องการอยู่หรือไม่ กรณีนโยบายหลังคาสร้างรายได้ Net metering คือ การผลิตเกินสามารถที่จะเอาไปหักลบกลบหนี้ได้ การตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจและทำลายการผูกขาดของทุนใหญ่ ถ้ามีอำนาจรัฐคิดว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการร่างแผนพลังงานแน่นอน เห็นด้วยว่าควรมีการเปิดพลังงานเสรี ปัจจุบันรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังเป็นแบบ Take or Pay แบบ No risk agreement และเจ้าของโรงไฟฟ้าเหมือนเสือนอนกิน

ศุภโชติกล่าวว่า การปลดล็อกสายส่งและเปิดตลาดเสรีว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน อาจจะต้องมีการศึกษาผ่านชั้นกรรมาธิการ พรรคมีการเตรียมร่างกระบวนการนิติบัญญัติเรียบร้อย การปรับโครงสร้างราคาใหม่ คือ การกำหนดราคาก๊าซที่จะต้องให้คำนึงถึงราคาถูกลงให้กับประชาชนได้หรือไม่

“ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราสามารถที่จะเสนอแก้ไขปัญหาร่างกฎหมายของกฟผ.ที่ใช้กันมา 60 ปีแล้ว การเปิดตลาดพลังงานเสรี เป็นเป้าหมายสุดท้ายที่อยากจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ถ้าเรายังผูกขาดและไม่สนับสนุนไฟฟ้าสีเขียว เราอาจจะสูญเสียเศรษฐกิจมหาศาล และคิดว่าทุนขนาดใหญ่จะถอนทุนออกไป วิธีที่ทำได้คือ แยกอำนาจหน้าที่ของกฟผ.ออกไป”ศุภโชติ กล่าว

นายศึกษิษฎ์ ศรีจอมขวัญ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรค พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคมีความเห็นตามแนวทางเสนอดังกล่าวว่า ค่าไฟต้องแฟร์ โดยมี 4 แนวทางคือ มีศักยภาพ การสร้างเครือข่ายการเข้าถึงพลังงานและในพื้นที่ห่างไกล ความมั่นคง (security) การเจรจาการรับซื้อไฟฟ้าต่างๆต้องพิจารณา และเห็นว่ากรณีพลังน้ำที่ราคาถูกและยอมรับว่ามีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและคิดว่าจะจัดการอย่างไรให้สมดุลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม