ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ชี้ปัญหาสำคัญของประชากรไทย คือ ไม่มีเงินออมตอนแก่ ขาดความรู้การเงิน-ความเหลื่อมล้ำ-สวัสดิการไม่เพียงพอ แก้ปัญหาไม่ยาก "แค่ลงมือทำให้ได้"

ตามข้อมูลจากธนาคารโลก ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วอย่างเต็มตัว โดยมีตัวเลขผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 11 ในปี 2560 เทียบกับอัตราร้อยละ 5 ในปี 2538 หรือคิดเป็นประชากรราว 7.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้หยุดในสัดส่วนเท่านั้น แต่เพิ่มขึ้นทุกปี

ล่าสุด ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าสัดส่วนประชากรสูงวัยขึ้นมาอยู่ที่หลักร้อยละ 17-18 เป็นที่เรียบร้อยแล้วและประชากรส่วนใหญ่ของประเทศก็มีอายุระหว่าง 40-50 ปี

แม้ข้อมูลต่างๆ จะถูกพูดถึงอย่างบ่อยครั้ง แต่ความเตรียมพร้อมรับมือกับภาวะสูงวัยและชีวิตของผู้สูงอายุเหล่านี้กลับยังไม่เพียงพอ งานศึกษาผ่าน 'ดัชนีความกระฉับกระเฉง' หรือพลังผู้สูงอายุ (Active Aging Index: AAI) ที่เกิดจากการพิจารณาดัชนีย่อย 4 หัวข้อ ได้แก่ สุขภาพ, การมีส่วนร่วมกับสังคม, ความมั่นคงในการดำรงชีวิต และสิ่งแวดล้อม พบว่า เมื่อเทียบดัชนี AAI ในปี 2557 กับปี 2560 ตัวเลขน้อยลงจากเดิมที่ 0.7406 ตกลงมาอยู่ 0.7284 ซึ่งสะท้อนว่าความกระฉับกระเฉงของคนสูงอายุมีน้อยลง

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญที่ติดเป็นเงาตามตัวประชากรไทยในทุกอายุอย่างความเหลื่อมล้ำทางการเงินซึ่งวัดจากค่าสัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient) ยิ่งตอกย้ำปัญหาดังกล่าว ผ่านตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 0.1070 เป็น 0.1103 โดยการแปรความหมายสัมประสิทธิ์จีนี สามารถอ่านได้ว่า ยิ่งตัวเลขเข้าใกล้ศูนย์ สังคมยิ่งมีความเท่าเทียม

สิ่งที่น่าสนใจจากการนำเสนอข้อมูลของ ศ.ดร.เอื้อมพร คือผลสำรวจที่พบว่าผู้สูงอายุในต่างจังหวัดโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือกลับมีความกระฉับกระเฉงมากกว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุในกรุงเทพฯ ที่มีพลังความสูงวัยน้อยที่สุด 

2.jpg

อีกทั้ง เมื่อนำตัวดัชนีความกระฉับกระเฉงนี้มาเทียบกับระดับรายได้ของผู้สูงอายุยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำด้านการเงินและการใช้ชีวิตของคนสูงวัย เนื่องจากผลลัพธ์สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ยิ่งผู้สูงวัยมีรายได้สูงก็ยิ่งมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น


แก่ก่อนรวยเพราะระบบทำให้ 'รวยไม่ได้'

สัดส่วนผู้สูงอายุในไทยกว่าร้อยละ 34 ยังต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ขณะที่อีกร้อยละ 36-37 ไม่มีรายได้ใดๆ นอกจากรอเงินยังชีพจากบุตรหลาน และอีกราวร้อยละ 20 รอรับเบี้ยยังชีพจากภาครัฐ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนปัญหาการไม่มีเงินออมเพียงพอในการยังชีพช่วงสูงวัยอย่างชัดเจน ซึ่งอาจตีความย่อยลงมาได้เหลือ 3 ประเด็น ตามการอธิบายของ ศ.ดร.เอื้อมพร ได้แก่

  • 1. การไม่มีความรู้ด้านการเงินที่เพียงพอตั้งแต่วัยทำงาน
  • 2. ความเหลื่อมล้ำที่กัดกินอยู่ในทุกระดับอายุของประชากร
  • 3. สวัสดิการทางสังคมที่ครอบคลุมแต่ยังไม่เพียงพอ

นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ชี้ว่า ปัญหาสำคัญที่สุดของผู้สูงวัยในไทยไม่ใช่อายุหรือไม่ใช่ความแก่ แต่เป็นความรวย ซึ่งที่ทำให้ไทยต่างจากเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่เป็นสังคมสูงวัยเหมือนกัน คือผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเอง ซึ่งย้อนกลับไปอาจเกิดจากการขาดความรู้ในการออมตั้งแต่สมัยวัยทำงาน

สังคมไทย-คนไทย-คนวัยทำงาน
"ปัญหาไม่ใช่ความแก่ ปัญหาคือความรวย" เอื้อมพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กัดกร่อนการเจริญเติบโตของฐานะการเงินของประชาชนคือความเหลื่อมล้ำสูงในประเทศ ที่ส่งผลร้ายมาตั้งแต่วัยที่อยู่ในครรภ์มารดาจากความขาดแคลนด้านสารอาหาร ต่อมาจนถึงวัยเรียนหนังสือ หรือแม้กระทั่งในวัยทำงานที่ไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ดีมีค่าตอบแทนเหมาะสมกับการใช้ชีวิต เท่านั้นยังไม่พอ หนุ่มสาววัยทำงานจำนวนมากยังต้องแบกภาระการเลี้ยงดูบิดามารดาหรือบุตรของตนเองจนไม่เหลือเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณ ซ้ำร้ายหลายรายยังต้องกู้หนี้ยืมสินในการดำรงชีวิตด้วย

ขณะที่มุมมองความช่วยเหลือจากฝั่งรัฐบาล นักเศรษฐศาสตร์รายนี้ชี้ว่าแม้จะมีความครอบคลุมค่อนข้างดีแต่ยังขาดความเพียงพอกับประชากรอยู่มากตั้งแต่ก่อนจะมีวิกฤตโรคระบาดด้วยซ้ำ ความเปราะบางเหล่านี้จึงถูกซ้ำเติมอย่างหนักเมื่อประเทศต้องเผชิญกับโรคระบาด ขณะที่หลายฝ่ายกลับมองไม่เห็นความเดือดร้อนของผู้สูงอายุที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นคนตกงานเช่นเดียวกับประชากรในวัยหนุ่มสาว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ลูกหลานของตนเองต้องตกงานหรือรายได้ลดลง 


แก้ปัญหาอย่างไร ?

สำหรับการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในวังวนของการไม่มีเงินยังชีพอย่างเพียงพอในช่วงท้ายของชีวิตนี้ ศ.ดร.เอื้อมพร ชี้ว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะชี้ว่าคำตอบคืออะไรเพราะก็คือการแก้ปัญหาจากสาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น หากไม่มีความรู้ก็เร่งให้ความรู้ หากไม่มีเงินออมก็สร้างหรือปรับปรุงระบบที่เอื้อให้คนสามารถมีเงินออมได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ประชากรตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ให้มีคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีไม่ต้องขัดสนจนเป็นหนี้เป็นสิน

สุดท้ายหากรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มสวัสดิการความช่วยเหลือซึ่งถ้านั่นหมายถึงต้องเก็บภาษีประชาชนเพิ่มฝั่งประชาชนก็ควรเข้ามาทำความเข้าใจว่า เหตุใดรัฐต้องเก็บเพิ่ม

ขณะเดียวกันเมื่อเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไว้วางใจซึ่งกันและกัน หากรัฐบาลไม่สามารถแสดงความซื่อสัตย์ให้ประชาชนเห็นได้ การบริหารงบฯ ไม่มีความโปร่งใส ประเทศก็จะเดินไปข้างหน้าไม่ได้

ศ.ดร.เอื้อมพร ปิดท้ายว่า คำตอบในการแก้ไขปัญหาไม่ใช่เรื่องยาก เรื่องที่ยากจริงๆ คือการลงมือทำ การลดความเหลื่อมล้ำและการที่รัฐบาลต้องสร้างความโปร่งใสในการบริหารจนประชาชนเกิดความเชื่อมั่น