ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาถก พ.ร.บ.ตำรวจต่อเนื่องในวาระที่2 'ฝ่ายค้าน' ติงอำนาจรวมศูนย์ ประชาชน-ตร.ผู้น้อย ขาดส่วนร่วม ที่ประชุมผ่าน 3 มาตรา สั่งปิดประชุมทันที ด้าน ส.ส.พปชร.หวั่น สภาฯ ครบวาระก่อนร่างกฎหมายผ่าน

วันที่ 10 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... วาระที่สอง หลังกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยพิจารณาเรียงตามรายมาตรา โดยวานนี้ (9 มิ.ย.) ได้มีสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติขออภิปรายแสดงความเห็นแย้งกับกรรมาธิการในหลายประเด็น แต่ผลการลงมติส่วนใหญ่เป็นไปตามการแก้ไขเพิ่มเติมของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ สำหรับวันนี้ได้พิจารณาไปแล้วทั้งสิ้น 13 มาตรา จากทั้งหมด 172 มาตรา

ในช่วงหนึ่งของการประชุม วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้แจ้งต่อประธานรัฐสภา โดยมองว่าหากการประชุมยังคงช้าเช่นนี้ คาดว่าจะพิจารณาเสร็จเพียงวันละ 10 มาตรา และต้องใช้เวลาถึง 15 สัปดาห์ กว่าจะแล้วเสร็จทั้งฉบับ จึงขอให้ประธานฯ ช่วยควบคุมการอภิปรายของสมาชิกฯ เพราะตนไม่อยากเห็นร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกาศใช้ไม่ทันวาระของรัฐสภาชุดนี้

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น กล่าวว่า กฏหมายฉบับนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้น ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จึงจะไม่ตัดสิทธิอภิปรายของผู้ใด แต่เห็นด้วยว่าสมาชิกฯ ควรต้องย่อความให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ และการย่อความถือเป็นทักษะที่ผู้บริหารปัจจุบันควรมี เพื่อบริหารเวลาให้ได้ จึงขอร้องให้สมาชิกฯ ทุกท่านอดทน 

สาทิตย์ -A836-4B20-B05B-D954928E72EB.jpegชวน -CA86-4A8E-9502-23771CC72763.jpeg

’สาทิตย์' ชี้ถ้อยคำหละหลวม ไม่มีสภาพบังคับ

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องการแบ่งส่วนราชการตำรวจ ประเด็นการกำหนดหน้าที่ของส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่ว่าจะเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล หรือ สถานีตำรวจอื่นๆ ซึ่งกรรมการได้พยายามแก้ไขให้ส่วนราชการ สตช. กับประชาชนในท้องถิ่น มีความใกล้ชิดกันแต่ปรากฏว่าเขียนแล้วไม่เจอเรื่องของสภาพบังคับ เมื่อไม่มีสภาพบังคับก็จะเกิดปัญหาในปัจจุบันที่พบว่างานของตำรวจและงานของประชาชนจะไม่ยึดโยงกัน โดยเนื้อหาบางอย่างที่มีคำว่า 'ก็ได้' ระบุอยู่ใน พ.ร.บ. จะทำให้กฎหมายมีลักษณะว่า ทำหรือไม่ทำ ก็ได้ อาจส่งผลให้เมื่อมีการร้องขอจากประชาชน ข้าราชการก็จะไปทำงานให้กับผู้มีอิทธิพลมากกว่า

ธีรัจชัย -37B5-4E14-86C3-F5696E2C3512.jpeg

'ธีรัจชัย' ประจานอำนาจรวมศูนย์ ต้นเหตุตั๋วช้าง สารพัดตั๋ว

ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายแสดงความเห็นต่อมาตรา 13/1 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตราที่จะปักหมุดการปฏิรูปวงการตำรวจของไทย เพราะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับองค์กรต่างๆ องค์กรตำรวจมีความเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งตามหลักสากลแล้ว มักจะให้แยกออกจากการบริหารราชการปกติ เนื่องจากต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เช่นนั้นแล้ว การที่ตำรวจจะไปจับกุมคนจากฝ่ายรัฐบาล นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีการให้คุณให้โทษ เลื่อนลดปลดย้ายตำรวจได้

แต่กฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างเอนเอียงไปทางรวมอำนาจให้อยู่กับฝ่ายของรัฐบาล โครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ก็เอนเอียงไปทางข้าราชการประจำเป็นหลัก โดยไม่ได้อิงต่อประชาชน จะส่งผลให้นโยบายตำรวจที่มาจากรัฐบาลไม่สะท้อนไปถึงประชาชน ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ลดหลั่นลงมาจากโครงสร้างใหญ่ ต้องวิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ ประชาชนไม่มีสิทธิ์ประเมิน หรือให้คุณให้โทษกับองค์กรตำรวจได้ 

"สารพัดตั๋วจะเกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะตั๋วช้าง ตั๋วม้า ตั๋วลิง ตั๋วกล้วย เพื่อให้ตัวเองเติบโตในหน้าที่การงาน แต่ตำรวจที่ทำงานกับประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างองค์กรตำรวจแบบนี้" ธีรัจชัย กล่าว

ตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมการ ล้วนอิงอยู่กับข้าราชการประจำ และยังมีการรวมอำนาจฝ่ายบริหารเข้าหานายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันก็มาจากการรัฐประหารสืบทอดอำนาจวางกติกาให้ตัวเองเข้ามามีอำนาจใหม่ กระบวนการออกกฎหมายฉบับนี้ก็ออกโดยสภา ซึ่งมีบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาร่วมโหวต ถือเป็นกระบวนการสืบทอดอำนาจอย่างแท้จริงใช่หรือไม่ ตนขอถามว่าผู้มีส่วนร่วมร่างกฏหมายนี้มีสำนึกผิดชอบชั่วดีบ้างหรือไม่ เห็นหัวประชาชนบ้างหรือไม่

สมคิด -05AA-4FD8-9668-9E651B2041FB.jpeg

'สมคิด' ทวงค่าเวรตำรวจ ขอพื้นที่ให้ ขรก. ยศน้อย

สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายโดยระบุว่า ตนเห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงส่วนน้อยหลายท่าน ที่เสนอให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยในสำนักงาน ก.ต.ช. ซึ่งแม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ก็ยังเห็นถึงการให้ความสำคัญต่อประชาชน หากเขียนกฎหมายเช่นนี้ก็จะกลายเป็นรัฐตำรวจรัฐราชการอย่างใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างจริงจัง

ในมาตรา 14 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้านนโยบาย ก.ต.ช. ขอให้กรรมาธิการเสียงส่วนมากคำนึงถึงส่วนนี้ว่ามากไปหรือไม่ คณะกรรมการทั้งหลายจะกลายหน่วยราชการใหญ่ สร้างเป็นอาณาจักรใหม่ จะถือว่าเป็นการปฏิรูปหรือไม่ แล้วนายตำรวจชั้นผู้น้อยอยู่ตรงไหนในกรรมการชุดนี้

สิ่งที่ไม่เคยพูดถึงเลยคือเรื่องค่าตอบแทนตำรวจ ที่อยู่เวรยามกันไม่รู้กี่วันโดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่พยาบาลยังมีค่าเวร นี่เป็นปัญหาตั้งต้นของการทุจริต แล้วจะหาความยุติธรรมแก่ตำรวจได้อย่างไร ขอยืนยันว่าค่าตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญต่อการปฏิรูป

"ค่าตอบแทนเหล่านี้แหละคือสิ่งที่สร้างให้ตำรวจมีศักดิ์ศรีมากขึ้น ไม่ต้องไปตั้งด่านเอาร้อยสองร้อยอย่างที่เขาพูดกัน ไม่ต้องไปทำผิด ผมเชื่อว่าตำรวจส่วนมาก เขาอยากเป็นตำรวจดีทั้งนั้น เขาไปปฏิบัติงาน ไม่อยากถูกกล่าวหาว่ารีดตังค์หรอก คณะกรรมการตำรวจทั้งหลายต้องคิดเรื่องนี้ด้วย" สมคิด กล่าว

สมชาย สมาชิกวุฒิสภา -4F99-4281-BE11-28F3A09A0FB0.jpeg

กมธ.ยันแก้มาเหมาะแล้ว มติรัฐสภาผ่านฉลุย

ขณะที่ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ตอบชี้แจงว่า กรรมาธิการได้พิจารณาแล้วว่า หลังจากที่ได้ปรับจาก 1ก. เป็น 2ก. คือ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นบอร์ดนโยบาย และได้แยกกรรมการข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นบอร์ดบริหาร ก็ได้นำเอาปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ตามมาตรา 44 มาไว้เป็นองค์ประกอบในกรรมการระดับนโยบาย

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของข้าราชการตำรวจ ก็จะอยู่ใน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจในส่วนของบอร์ดบริหารต่อไป เช่นเดียวกับผู้แทนภาคประชาชนซึ่งสมาชิกหลายท่านแสดงความกังวลนั้น ก็จะมีอยู่ในคณะกรรมการนี้จำนวน 1 คน เช่นกัน กรรมาธิการจึงเห็นว่าการแก้ไขนี้ถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว

จากนั้นที่ประชุมสภาได้มีมติเห็นชอบกับมาตรา 13/1 ที่คณะกรรมาธิการได้เพิ่มเข้ามา ด้วยคะแนนเสียง 343 ต่อ 69 เสียง

ชาติพัฒนา ประชุมรัฐสภา -72DE-4445-B969-BC290A4D6260.jpegศุภชัย ภูมิใจไทย ประชุมรัฐสภา -6A50-4E7D-AEA2-2555A4D077BB.jpeg

ถกจบ 3 มาตรา พปชร.ขอปิดประชุมทันที

เวลาประมาณ 16.00 น. หลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับมาตรา 13/8 แล้ว พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้หารือกับประธานสภา โดยระบุว่า วิปทั้ง 3 ฝ่ายได้หารือกันแล้ว เห็นว่าวันนี้ได้มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ กันมาพอสมควรแล้ว จึงขอเสนอให้ประธานสภาพิจารณาปิดการประชุม

พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาในขณะนั้นได้สั่งปิดประชุมในเวลา 16:02 น.

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า เป็นข้อตกลงกันระหว่างวิปทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งทาง ส.ส. ได้ขอให้เลิกประชุมเวลา 19.00 น. ในทุกวันพฤหัสบดี และให้เลิกประชุมเวลา 16.00 น. ในทุกวันศุกร์