การปฏิญาณตนดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องพระราชทานยศทหารชั้นนายพล จำนวนทั้งหมด 530 คน ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565 และมีผลในวันที่ 1 ต.ค.2565
ประกาศดังกล่าวป็นการเลื่อนชั้นยศของทหาร 3 เหล่าทัพสังกัดกระทรวงกลาโหม จากพันเอกเป็นพลตรี-จากพลตรีเป็นพลโท-จากพลโทเป็นพลเอก ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี โดยปกติจะมีการแต่งตั้งกันในช่วงต้นปี กับช่วงปลายปีซึ่งเรียกว่า 'วาระตุลาคม'
ในวาระตุลาคม 2565 จำนวน 530 คนนี้ แบ่ง 'นายพล' แยกเป็นเหล่าทัพได้ดังนี้
หากจำแนกให้ละเอียดยิ่งขึ้น รวมถึง 'นายพลหญิง' ใน 3 เหล่าทัพด้วยนั้น มีรายละเอียดดังนี้
-----
-----
-----
ทั้งนี้ ไม่รวมการแต่งตั้งนายพลในส่วนราชการในพระองค์ที่มีทั้งฝ่ายทหารและตำรวจ
อย่างไรก็ดี นอกจากทหารแล้ว เรายังมีนายพลที่เป็นตำรวจด้วย โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกฯ เรื่อง พระราชทานยศตำรวจชั้นนายพล รวมแล้วจำนวน 106 ราย
สำหรับกองทัพบก พิธีดังกล่าวจัดขึ้นบริเวณลานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ) ซึ่งอยู่ในหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) ใส่เครื่องแบบเต็มยศชุดพระราชฐานและหมวกทรงโมฬี เป็นประธานในพิธิถวายสัตย์ปฏิญาณตน โดยกล่าวว่า
"ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าที่มารวมตัวกัน ณ ที่นี้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญและพระราชทานยศชั้นนายพลของกองทัพบกนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งของการรับราชการ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาปวงข้าพระพุทธเจ้าต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานกำเนิดโรงเรียนนายร้อยฯ แห่งนี้ขึ้น ทั้งยังทรงมีพระเมตตาให้ทรงรับและเปิดโอกาสให้ลูกหลานของประชาชนชาวไทยทั่วไปได้เข้าไปศึกษาเล่าเรียนโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพื่อให้ได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณช่วยกันปกปักรักษาเอกราช อธิปไตยของประเทศชาติและราชอาณาจักรไทย ให้อยู่จนมาทุกวันนี้
นอกจากนั้น ปวงข้าพระพุทธเจ้า ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานกระบี่ และพระราชทานยศ นายทหารสัญญาบัตรมาตลอดห้วงเวลารับราชการที่ผ่านมา พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่องค์พระมหากษัตริย์ องค์จอมทัพไทยแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีต่อปวงข้าพระพุทธเจ้านั้น
ปวงข้าพระพุทธเจ้าจักสำนึกจะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม พร้อมทั้งขอถวายสัตย์ปฏิญาณที่จะจงรักภักดี จะยอมอุทศตนพร้อมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของประเทศชาติ ราชอาณาจักรแห่งนี้ และจักเทิดทูนและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์เจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่"
จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารได้สั่งทำความเคารพ และขอให้ทุกคนนั่งคุกเข่าพนมมือ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้ให้นายพลกล่าวถวายคำสัตย์ปฏิญาณตาม เริ่มที่คาถาในดวงตรามหาจักรี
“ติระตะเน สะกะรัฏเฐ จะ…สัมพังเส จะ มะมายะนัง สะกะราโชชุจิตตัญฺจะ สะกรัฏฐาภิวัฑฒะนังฯ
ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า และจักธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรีของทหาร”
จากนั้นทั้งหมดได้เปล่งเสียงกล่าวปฏิญาณพร้อมกัน 3 ครั้ง ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะรักษามรดกของท่านไว้ด้วยชีวิต” ก่อนถวายบังคม 3 ครั้ง