ไม่พบผลการค้นหา
รองอธิการบดีธรรมศาสตร์ คว้ารางวัล ‘นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ’ สาขาการศึกษา ระบุ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้   คือทำเลทองสำหรับขอทุนวิจัย แนะมหาวิทยาลัยผนึกกำลัง ‘ต่างชาติ-เอกชน’ ร่วมแก้ปัญหาประเทศ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดพิธีประกาศเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้แก่นักวิจัย 5 สาขา รวมทั้งสิ้น 9 ราย โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในสาขาการศึกษาคือ ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

ศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. ศิริวรรณ เปิดเผยว่า ประโยชน์สูงสุดของงานวิจัย คือการนำไปใช้แก้ปัญหาประเทศ ทั้งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการคำตอบอย่างทันทีทันใด และปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งต้องใช้งานวิจัยหลายชิ้นมาประกอบกันจนเกิดเป็นภาพใหญ่

สำหรับงานวิจัยที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัย ในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้และบุคลากร 2. รัฐบาล ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณและ     ผู้กำหนดโจทย์การวิจัยจากปัญหาของประเทศ 3. ภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะผู้ที่จะนำงานวิจัยและนวัตกรรม    ไปต่อยอด 4. ภาคชุมชน ในฐานะผู้ที่สะท้อนรากฐานของปัญหาได้ชัดเจนที่สุด

ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงงานวิจัย สังคมมักจะตั้งความหวังไว้ที่มหาวิทยาลัยมากที่สุด และเพื่อที่จะได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งงบประมาณและกำลังคน แต่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวมาเป็นผู้หาทุนวิจัยเอง ซึ่งปัจจุบันมีความเปิดกว้างไม่ว่าจะเป็น Co-funding กับภาคเอกชน หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับแหล่งทุนต่างประเทศ

“ในมุมมองของนักวิจัยนานาชาติ เห็นตรงกันว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญในระดับโลก เต็มไปด้วยความท้าทาย มีความหลากหลาย มีโจทย์การวิจัยจำนวนมาก ที่ตั้งของประเทศไทยก็อยู่ในที่ที่เหมาะสม นี่จึงเป็นโอกาสดีของทุกมหาวิทยาลัย” ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. ศิริวรรณ กล่าว

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติรายนี้ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ทุน Bualuang ASEAN Chair Professorship ที่ให้ในลักษณะ Co-funding ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับธรรมศาสตร์ โดยจะมอบให้กับนักวิจัยระดับโลกจำนวน 30 ราย เข้ามาทำงานร่วมกับนักวิจัยของไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีงานวิจัยใหม่ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 30 ประเด็น เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาชาติ และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทยไปพร้อมกันด้วย

อนึ่ง ภายในงานเดียวกันยังมีการมอบรางวัลอื่นๆ โดย มธ. ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 15 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา 1 รางวัล รางวัลผลงานวิจัย 8 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ 1 รางวัล รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 4 รางวัล และรางวัลผลงานวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ร่วมวิจัย 1 รางวัล

S__5390379.jpg