วันที่ 26 ม.ค. 2565 ที่รัฐสภา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงกรณีน้ำมันรั่วในทะเล ที่ จ.ระยองว่าได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการตรวจสอบทั้งหมดพบว่า มีน้ำมันรั่วในทะเลจริงๆประมาณ 20,000 ลิตร ซึ่งไม่สอดคล้องกับกระแสข่าวที่บอกว่าพบน้ำมันรั่วประมาณ 2-4 แสนลิตร อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีน้ำมันรั่วมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่เป็นผลดีแน่นอน พร้อมเปิดเผยว่า ในตอนนี้ อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางลงพื้นที่ไปดูปัญหานี้ด้วยตัวเอง เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่หากมีเหตุขัดข้อง ก็จะประเมินสถานการณ์กันอีกที
จากการลงพื้นที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่ากระแสน้ำทะเลไม่น่าพัดเอาน้ำมันซัดเข้าชายฝั่งจังหวัดระยอง และขณะนี้กำลังใช้เครื่องบินในการโปรยสารเคมีเพื่อทำให้น้ำมันสลายตัว ซึ่งน่าจะแก้ไขปัญหาได้ในยะสั้น แต่หลังจากนี้จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องของผลกระทบระยะยาว หลังน้ำมันจับตัวเป็นก้อนและตกลงสู่ใต้ทะเลว่าจะส่งผลกับระบบนิเวศน์ทางทะเลมากน้อยแค่ไหน รวมถึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง
นอกจากนี้ บริษัทที่เป็นเจ้าของท่อน้ำมันที่มีการรั่วไหล จะต้องเตรียมกองทุนเพื่อรับผิดชอบในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ จำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดว่าบริษัทดังกล่าวจะรับผิดชอบตามข้อกฎหมายอย่างไรได้ต่อไป
วราวุธ ฝากเตือนบริษัทขนส่งน้ำมันด้วยว่า ควรมีมาตราการป้องกันในเรื่องของการขนส่ง รวมถึงการตรวจสภาพการขนส่งน้ำมันให้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูเรื่องข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอะไรเพิ่มเติมกับบริษัทที่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอยู่
นายกฯ สั่งเร่งขจัดคราบน้ำมันโดยเร็ว หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม แจ้งประชาชนฟังข่าว
ขณะที่ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รับทราบเหตุน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกเดี่ยวกลางทะเล ท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง แม้จะสามารถควบคุมการรั่วไหลได้แล้ว แต่นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใย จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ฯลฯ บูรณาการร่วมกับจังหวัด และบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเหตุดังกล่าว
ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งขจัดคราบน้ำมันโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และป้องกันคราบน้ำมันไหลสู่ชายหาด โดยยังได้กำชับให้กระทรวงกลาโหม สนับสนุนกำลังพลและเรือในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มกำลัง พร้อมกันนี้ ยังให้ประเมินผลกระทบทางทะเล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนประชาชนในการประกอบอาชีพ เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบถึงแนวทางการปฏิบัติ ไม่เกิดความตื่นตระหนกจากสถานการณ์
“สำหรับประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงขอให้รับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยราชการอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้สามารถควบคุมการรั่วไหลของน้ำมันได้แล้ว และกำลังเร่งขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งมือทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว” ไตรศุลี กล่าว
ทร.นำสารเคมีโปรยขจัดคราบน้ำมัน
ด้าน พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบใต้ทะเล ของ บริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) มีน้ำมันดิบ รั่วไหล จากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบ กลางทะเล บริเวณละติจูด 12 องศา 29.3 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 101 องศา 11.76 ลิปดาตะวันออก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งทางบริษัท แจ้งว่าสามารถควบคุมและหยุด การรั่วไหลได้แล้วเวลา 00.18 น. ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมควบคุมมลพิษ รวมถึง กองทัพเรือ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในขณะนี้ กองทัพเรือ ได้สั่งการให้ ทัพเรือภาคที่ 1 ส่ง เครื่องบินลาดตะเวน ขึ้นบินสำรวจคราบน้ำมันทางอากาศ และจัด เรือ ต. 273 กับเรือ ต.228 ออกตรวจสอบ คราบน้ำมันบนผิวน้ำ นอกจากนั้นได้จัด เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ขึ้นบินตรวจสอบทิศทางการรั่วไหลของคราบน้ำมัน รวมถึงนำสารเคมี DASIC international SLICKGONE ขึ้นไปโปรยบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ หน้าท่าเรือมาบตาพุด นอกจากนั้นยังได้เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์พร้อมในการสนับสนุนหน่วยต่างๆ ในการขจัดคราบน้ำมัน รวมถึงในขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ควบคุมปฏิบัติในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 แล้ว (ศคปน.ทรภ.1) สำหรับในส่วนของการประเมินสถานการณ์ นั้น ขอให้ติดตามข่าวสารจาก กรมควบคุมมลพิษ ต่อไป
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งยืนยันว่า กองทัพเรือ มีความพร้อมทั้งยุทโธปกรณ์และกำลังพลในการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจัดให้มีการฝึกการขจัดคราบน้ำมันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ และในส่วนของยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ กองทัพเรือจัดเตรียม ก็สามารถนำมาปรับใช้กับ ภารกิจในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี