ฉาก "เรณู" แห่งบ้านแบ้ โดนชาวบ้านไล่ตะเพิดออกจากชุมแสง เพราะโดนจับได้ว่า "ทำของ" ให้แม่ผัวรัก เป็นฉากที่คนทั้งอยากดูและไม่อยากดูไปพร้อมๆ กัน ที่อยากดูก็เพราะมันเป็นฉากไคลแม็กซ์ เป็นจุดพลิกผันของเรื่อง ส่วนที่ไม่อยากดูก็เพราะสงสารเรณู เพราะถึงจะทำของใส่จริงแต่นางก็เป็นคนดีสู้ชีวิต ผิดกับคนมาถอนของออกอย่าง "นังพิไล" ที่ทั้งเรื่องปูมาให้เป็นผีเฝ้าเก๊ะ ขี้จิ๊กเงินร้าน เห็นแก่ตัว ชอบดูถูกคนอื่น ฯลฯ ที่สุดที่ประมาณของนางอิจฉารวมอยู่ที่ตัวละครนี้แบบครบสูตร ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนดูจะเชียร์คนทำเสน่ห์แต่นิสัยดีอย่างซ้อเรณู
ในละครก็ว่ากันไป แต่ถ้าในโลกวรรณคดีอาจไม่มีใครสงสารหญิงแพศยาผู้กระทำเสน่ห์เล่ห์กล ตัวละครหญิงหลายตัวของไทยเมื่อถูกจับได้ว่าทำของ ปลายทางชีวิตมักจบลงด้วยความตาย หรือไม่ก็โดนเนรเทศไม่ต่างจากซ้อเรณู เช่น ในนิทานกลอนสุนทรภู่ "นางอำพันมาลา" ทำเสน่ห์ใส่ "โคบุตร" พระเอกของเรารู้เข้าก็กริ้วสั่งประหาร แต่มีผู้ขอชีวิตไว้เลยขับไล่ออกจากวัง หรือ "สร้อยฟ้า" ทำเสน่ห์ใส่ "พระไวย" ลูกชายเจ้าชู้เชื้อไม่ทิ้งแถวของขุนแผน รายนี้โดนจับได้ก็ถูกเนรเทศเหมือนกัน
เรื่องในวรรณกรรมสอดคล้องกับกฎหมายที่ตราขึ้นจริงๆ ในสมัยอยุธยา โดยคนเล่นของทำเสน่ห์ยาแฝด ถ้าต้องสงสัย อาจถูกส่งฟ้องต่อ "ศาลกระทรวงแพทยา" (ศาลที่ไว้ว่าความกรณีใส่ความกันว่าเป็นกระสือกระหัง หรือทำร้ายกันด้วยคาถาอาคม) เพราะการทำเสน่ห์ยาแฝดนั้นผิดกฎหมาย มีโทษสาหัสสากรรจ์ถึงขนาดประหารชีวิต
"มาตราหนึ่ง ผู้ใดจะให้ผู้อื่นพิศวงงงงวยในตน และปรกอบกฤตยาคุณเปนยาแฝดด้วยสิ่งใดๆ ให้ท่านกินก็ดี ใส่ให้ท่านด้วยประการใดๆ ก็ดี พิจารณาเปนสัจ ให้ทวน 60 ที เอาขึ้นขาหย่างประจารและทะเวนบก 3 (เรือ 3) วันแล้วฆ่ามันเสีย..." (1)
ทำไมถึงต้องมีโทษหนักขนาดนั้น? หากมองในบริบทของยุคปัจจุบัน การไล่ซ้อเรณูออกจากชุมแสง หรือแม้แต่กฎหมายเอาโทษถึงตายสมัยอยุธยา อาจดูโคตรไร้สาระ แต่หากมองในบริบทสังคมยุคอดีตที่เรื่องเหนือธรรมชาติยังมีอิทธิพลต่อความคิด การทำเสน่ห์ยาแฝดถือว่า "เป็นภัยต่อความสงบสุข" เพราะเชื่อกันว่าสสารที่ใช้ในการทำของล้วนอัปมงคล หรือที่เรียกกันว่า "ของต่ำ-ของสกปรก" เช่น สารคัดหลั่งจากศพ
ส่วนของยอดฮิตตลอดกาล คือ น้ำมันพราย, หรือขี้ไคล ที่ผู้กระทำจะเอาขี้ไคลเสาตะลุงช้าง ฯลฯ บวกขี้ไคลตัวเองยัดใส่ในลูกสวาด กลืนลงไป แล้วถ่ายออกมา เสร็จแล้วบดลูกสวาดเป็นผงให้เป้าหมายกิน เรียกว่า วิชาช้างประสมโขลง
หรือแม้แต่เหงื่อจากที่ลับ เรียกว่าหงส์ร่อน คงเคยเห็นในละครบ่อยๆ ที่นางตัวร้ายจะคร่อมหม้อข้าวร้อนๆ ให้เหงื่อจากจุดซ่อนเร้นตกลงบนข้าว จากนั้นคดข้าวผสมเหงื่อไปให้เป้าหมายกิน ก็มี
ทั้งหมดแค่นึกถึงก็ขมคอ และถือว่าเป็นการแสดงความ "ไม่ปราถนาดี" ต่อผู้ถูกกระทำ (เพราะถ้ารักกันจริงคงไม่ให้กินของอะไรแบบนี้) นอกจากนี้ ยังเชื่อถือกันว่าผู้โดนเสน่ห์มักมีพฤติกรรมผิดเพี้ยน ป่วยไข้ และอาจตายในที่สุด ซึ่งผลกระทบเหล่านี้เอาจริงๆ แล้วอาจไม่ได้มาจากคาถาอาคมอย่างเดียว แต่มาจากการออกฤทธิ์ของสารบางอย่างในเสน่ห์ยาแฝดด้วย...
มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บันทึกไว้ว่า สารออกฤทธิ์ที่ว่ามาจากพืชบางชนิด เช่น ฝิ่น หรือน้ำยางจากฝักต้นปาโวต์ (Pivot-Poppy) มีฤทธิ์ทำให้งงงวย ซึมกระทือซังกะตาย ถูกครอบงำได้ง่าย
"...เสน่ห์ยาแฝดนั้นเป็นยาที่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดอ่อนแอลง และทำให้ผู้ชายกลับไปเป็นเหมือนเด็กๆ ซึ่งเมื่อต้องยาชนิดนี้เข้าไปแล้วก็เป็นการง่ายที่จะครอบงำทำเล่นตามใจชอบ ...ยาเสน่ห์ชนิดหนึ่งก็ส่งผลไปอย่างหนึ่งไม่เหมือนกัน... ซึ่งหญิงที่เมืองกัวมักจะใช้แก่สามีของตน อันมีผลให้งงงวยไปเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แม้หล่อนจะทำชู้ให้เห็นต่อหน้าก็ไม่รู้สึกสมปฤดี..." (2)
แน่นอนว่าการรับสารแปลกปลอมเข้าไปมากๆ เข้า คนโดนของก็ต้องเสื่อมสุขภาพกายใจจนกระทบถึงชีวิต ดังนั้น โทษของการทำเสน่ห์จึงรุนแรง "ไม่ตายตกไปตามกัน ก็ต้องไล่ออกจากชุมชน"
เอาจริงๆ แล้วการทำเสน่ห์ในความเชื่อของสังคมไทย มีทั้งหญิงทำใส่ชาย ชายทำใส่หญิง คนทำใส่สัตว์ หรือแม้แต่สัตว์ทำใส่คน* (อ่านเพิ่มเชิงอรรถ 3) แต่จนแล้วจนรอด "ผู้หญิงทำของ" ดูเหมือนจะตกเป็นเหยื่อขี้ปาก โดนด่าว่าแพศยา หญิงเลว ฯลฯ อยู่ฝ่ายเดียว ขณะที่ผู้ชายลอยตัว แมนๆ เท่ห์ๆ เช่น ขุนแผน เป่ามนต์มหาละลวยเป่านางแก้วกิริยาจนเสียตัวแบบกึ่งฝันกึ่งจริง แบบนี้ดันมีคนยกย่องว่าเจ๋งมีวิชาเด็ด
เรื่องค่านิยมไม่เท่าเทียมแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในโลกวรรณกรรม เพราะพงศาวดารสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง ก็บันทึกถึงการทำเสน่ห์ที่สะท้อน "สังคมชายเป็นใหญ่" ไว้ 2 กรณี
กรณีแรก คือ สมเด็จพระเพทราชา ทำเสน่ห์ใส่กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ พระน้องนางเธอ และพระธิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะทั้งสองพระนางไม่ยอมบรรทมร่วมห้อง
"...ทรงพระกรุณาให้หาหมอเสน่ห์ ครั้นได้หมอมาแล้วก็ให้กระทำตามวิธีเสน่ห์ แลกรมหลสงโยธาเทพก็ให้คลั่งไคล้ใหลหลง ทรงพระกรรแสงถึงพระเจ้าอยู่หัวเป็นกำลัง ครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปครั้งหนึ่งจึงยอมและเสด็จไปเข้าที่พระบรรทม ณ พระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพด้วย" (4)
กรณีที่สอง คือ สมเด็จพระเจ้าเสือ โดนพระสนมเอก "พระองค์รัตนา" ทำของใส่ ความรั่วทรงทราบถึงพระเนตรพระกรรณ เรื่องนี้จึงจบลงด้วยการประหารชีวิตหมู่
"...จึงทรงพระกรุณาให้เอาตัวพระองค์รัตนามาพิจารณาไต่สวนไล่เลียงสืบสาวเอาตัวหมอผู้นั้นด้วย ครั้นเป็นสัตย์แท้แล้ว ก็ให้ลงอาญาแก่พระองค์รัตนาแลหมอผู้ทำเสน่ห์ กับทั้งเจ้าพระบำเรอภูธร ผู้เป็นบิดานั้นถึงสิ้นชีวิต..." (5)
สองเคสนี้ "ทำเสน่ห์" เหมือนกัน แต่มีจุดจบต่างกัน เพราะเคสที่ฝ่ายชายเป็นผู้กระทำ ดูเหมือนทุกอย่างจะจบลงด้วยความสำเร็จ เผด็จศึกได้สมความตั้งใจ แต่เมื่อเป็นฝ่ายหญิงกระทำ จุดจบของเรื่องคือความตาย... เหมือนบอกนัยๆ ว่าผู้ชายทำเป็นเรื่องธรรมดา ผู้หญิงทำต้องถูกลงโทษ
การทำเสน่ห์จึงไม่ใช่แค่ความเชื่อ แต่เป็นร่องรอยแนวคิดของสังคมบ้านเราด้วย
****************************************************
เชิงอรรถ
(1) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉะบับหลวง ตรา 3 ดวง เล่ม 2, กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, 2529, หน้าที่ 267.
(2) ลา ลูแบร์, ซิมอน เดอ, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร (พิมพ์ครั้งที่ 2), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2548, หน้าที่ 206.
(3) ในงานวรรณกรรม เราสามารถเห็นมนุษย์ทำเสน่ห์ให้สัตว์รักภักดี เช่น ขุนแผนเสกหญ้าให้ม้าสีหมอกกิน ขณะเดียวกันสัตว์ก็สามารถทำเสน่ห์มนุษย์ได้เหมือนกัน เช่น "นางชะนี" ในวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานเรื่องขุนทึง นางชะนีตัวนี้ "เสกสีผึ้ง" ผสมผลไม้ให้ขุนทึงกินจนมีอาการ "ท้าวก็คึดฮอดน้อง แก้วแก่นนางนีมีใจชม" สมรสสมรักจนมีลูกชายชื่อ "ท้าวอำคา" ต่อมาขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทนพ่อ (ศรีสุดา เอื้อนนครินทร์, ขุนทึง วรรณกรรมที่น่าสนใจ, ใน "มูนมังอีสาน" รวมบทความเนื่องในโอกาสงานแสดงนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมไทย, สกลนคร : วิทยาลัยครูสกลนคร, 2526, หน้าที่ 106.)
(4) พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : โฆษิต, 2549, หน้าที่ 334.
(5) เรื่องเดียวกัน, หน้าที่ 379-380.