นายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พรรคประชาธิปัตย์ อ้างเป็นอำนาจต่อรอง กับพรรคพลังประชารัฐ หากเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ในความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งจากสภาพความเป็นจริงของการเมืองในขณะนี้ประกอบกับข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ กรธ.ของรัฐบาล คสช.ได้จัดทำไว้ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมทราบดีอยู่แล้ว ดังนั้น การดึงเวลา หรือดึงเกมในการต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐน่าจะเป็นเพียงเพื่อ ผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคเท่านั้น
ทั้งนี้ โดยยอมแลกกับการละทิ้งสัจจะวาจา ที่อดีตหัวหน้าพรรค เคยให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชน ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการตัดสินใจและการกระทำครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ประชาชนรู้จักพรรคประชาธิปัตย์เด่นชัดขึ้น ประกอบกับ ความเชี่ยวชาญในเกมสภาที่เหนือชั้นกว่า ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งประธานสภาไป และบางกระทรวง ยังยื้อแย่งกันอยู่โดยตกลงกันไม่ได้ กรณีนี้จึงมองเห็นว่าหลังจากมีรัฐบาล อาจมีความยุ่งเหยิงในการบริหารราชการแผ่นดินในพรรคร่วมได้ และ มีการตั้งคำถามกันว่า พรรคที่ได้เคยให้คำมั่นสัญญากับประชาชนไว้จะโกหกประชาชนอีกกี่ครั้ง นายชุมสาย กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลล่ม จนพรรคพลังประชารัฐขู่ยุบสภา ว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เป็นอีกครั้งที่ชี้ให้ประชาชนเห็นชัดๆ ว่า เป็นบ้านเมืองที่มีปัญหา หรือ ความพยายามสืบทอดอำนาจสร้างปัญหา ก่อนหน้านี้ตกลงผลประโยชน์กันไม่ลงตัว ก็พยายามจะเลื่อนเลือกตั้งประธานสภา เจรจาแบ่งโควต้ารัฐมนตรีกันไม่ลงตัว ก็พาลจะไปยุบสภา ทั้งที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาแค่ 2 เดือน ใช้งบประมาณการเลือกตั้งไปเกือบ 6 พันล้านบาท ประชาชนตัดสินใจได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ใครคือตัวปัญหา ผ่านการประชุมสภามาไม่กี่ครั้ง ประชาชนเห็นชัดถึงคุณภาพของนักการเมือง พรรคการเมือง
หากปล่อยให้ส.ส.ได้ทำงาน ยิ่งจะได้เห็นคุณภาพของคนที่พี่น้องประชาชนเลือกมาว่าเป็นอย่างไร ประชาชนอยากเห็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นยืนในสภาแล้วขานชื่อโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ประกาศชัดว่าไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้ง อยากเห็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดถึงประชาธิปไตยวิปริต 250 ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี จะกลับลำมาหนุนพลเอกประยุทธ์อย่างไร เทคโนโลยีทำให้นักการเมืองกลืนน้ำลายตัวเองยากขึ้น เพราะใคร พูดอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ประชาชนสามารถสืบค้นมายืนยันหักล้างได้ทั้งหมด
โดยส่วนตัวมองว่าการเจรจาตั้งรัฐบาลรอบนี้ไม่ง่าย ตราบที่ยังเป็นการเมืองระบบโควต้าอัตราส่วน ที่ยึดผลประโยชน์ของตัวเองมาต่อรอง แล้วละทิ้งผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นสถานการณ์ที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจต้องเรียนรู้กันเอง พลเอกประยุทธ์ จะได้ทราบว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีเสียงปริ่มน้ำกับเครือข่ายพรรคการเมืองที่แสวงหาผลประโยชน์ไม่หยุดหย่อนเป็นปัญหาอย่างไร ฝ่ายการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ จะได้เรียนรู้ว่าการสนับสนุนทหารสืบทอดอำนาจ ในยุคที่ประชาชนตื่นรู้ ไม่ง่ายเช่นกัน และเมื่อเดินเข้าไปร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์สภาพอาจไม่ต่างจากพลทหาร ที่คอยรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามในข้อสั่งการอย่างเคร่งครัด
“ลดาวัลลิ์”ชี้ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่สรุปจะเสนอชื่อใครเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์โฆษกพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ขณะนี้แกนนำของพรรคอยู่ระหว่างหารือกับ 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย โดยจะนำสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกวันมาประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน เมื่อได้หารือทั้ง 7 พรรคแล้วได้ข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อใครจะได้แถลงให้ทราบต่อไป